23 ก.ย. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุนรวม ของประเทศไทย วันวาน วันรุ่ง และพรุ่งนี้
ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบัน กองทุนรวม ในประเทศไทยมีมากกว่า 2,000 กองทุน แบ่งกองทุนเป็นหลายประเภท หลายสินทรัพย์ และหลายตลาดการลงทุน ซึ่งมีความซับซ้อนและความเสี่ยงไม่เหมือนกันให้นักลงทุนเลือกสรรลงทุนอย่างมากมาย และยังอำนวยความสะดวกโดยสามารถลงทุนง่ายๆ เพียงปลายนิ้วผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย ซึ่งบทความนี้จะพาไปรู้จักว่า ความเป็นมาของกองทุนไทยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และแนวโน้มในอนาคตจะเดินต่อไปในรูปแบบใด
ย้อนกลับไปในปี 2518 ประเทศไทยเริ่มมีการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างรัฐบาลไทย และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารโลก โดยมีชื่อว่า ‘บริษัทกองทุนรวม จำกัด’
ต่อมาได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม จำกัด’ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2518 โดยกองทุนรวมโครงการแรกของไทยนั้นเกิดขึ้นอีก 2 ปีต่อมา ภายใต้ชื่อ ‘โครงการกองทุนสินภิญโญ’ เน้นการลงทุนในหุ้นสามัญ มีขนาดกองทุน 100 ล้านบาท และมีอายุโครงการ 10 ปี
ในยุคแรกนั้นกองทุนรวมในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่และไม่ค่อยแพร่หลายในกลุ่มผู้ลงทุนชาวไทย ยังคงใช้เป็นช่องทางการลงทุนสำหรับชาวต่างชาติต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2535 รัฐบาลได้เปิดเสรีการดำเนินธุรกิจจัดการลงทุนและส่งเสริมให้มีการระดมเงินทุนภายในประเทศมากขึ้นกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้ใบอนุญาตการจัดการกองทุนรวมแก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพิ่มอีก 7 บริษัท ทำให้นักลงทุนทั้งรายเล็กและใหญ่ในไทยมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการจัดการกองทุนรวมขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่งในปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันการเงินจำนวนมากเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ธุรกิจจัดการลงทุนได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับปรุงเกณฑ์และผ่อนปรนเงื่อนไขการลงทุน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในกองทุนรวม แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนถึงปี 2545 การซื้อ-ขายหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการลงทุนเริ่มฟื้นตัว มีการจัดตั้งโครงการลงทุนใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น
กองทุนรวม ของประเทศไทย วันวาน วันรุ่ง และพรุ่งนี้
ปัจจุบันธุรกิจการจัดการกองทุนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมมากถึง 26 แห่ง และมีกองทุนรวมในประเทศไทยมากกว่า 2,000 กองทุน ซึ่งมีนโยบายการลงทุนหลากหลายมากขึ้นและมีขนาดโครงการใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต นอกจากนี้ยังได้ขยายกลุ่มการลงทุน
นอกจากกลุ่มกองทุนรวม ยังมีกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกลุ่มกองทุนส่วนบุคคลอีกด้วย จึงทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทย เนื่องจากกองทุนรวมเปรียบเสมือนเครื่องมือในการรวบรวมเงินออมจากนักลงทุน นำไปกระจายเข้าสู่ระบบแก่ผู้ที่ต้องการทุนหรือหน่วยธุรกิจ
และเมื่อนำไปลงทุนซึ่งการลงทุนนี้เป็นส่วนสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ โดยเป็นตัวแปรหนึ่งใน GDP ซึ่งการลงทุนที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้มีการจ้างงานเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีการกระจายรายได้ หน่วยธุรกิจที่ลงทุนจะช่วยในการกระจายทรัพยากรที่มีจำกัดไปสู่ระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
ฉะนั้นกองทุนรวมจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง เพราะเงินที่นำเข้าสู่ระบบผ่านกองทุนรวมนี้จะทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งความสำคัญของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในปี 2544 โดยรัฐบาลในสมัยนั้นมีมติให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยให้ความสำคัญกับการออมระยะยาว โดยสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนรู้สึกอยากลงทุนใน RMF ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน
และในปี 2547 กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long-Term Equity Fund (LTF) ก็ถูกจัดตั้งตามมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้น พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่คนที่ซื้อกองทุน LTF ซึ่งกองทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งกองทุน RMF และ LTF นับเป็นจุดเปลี่ยนและเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนกองทุนสมัยก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องที่สะดวกสบายมากนัก นักลงทุนที่ต้องการทำรายการจะต้องรีบไปทำที่บริษัทจัดการ ธนาคาร หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการนั้นๆ ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง หรือจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ ต้องรีบไปทำรายการให้ทันเวลา 15.30 น.
แต่ปัจจุบันการลงทุนมีความสะดวกสบายมากขึ้น อยู่ที่ไหนก็ทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว เพราะหลายบริษัทจัดการได้เปิดให้นักลงทุนสามารถทำรายการออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแอปพลิเคชันได้อย่างสบาย ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว เหมาะกับยุคดิจิทัลไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน
อย่างแอปพลิเคชัน SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สร้างความสะดวกให้กับนักลงทุนอย่างมาก ซึ่งนอกจากการทำธุรกรรมทางธนาคารแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องของการลงทุนที่ครบวงจร เช่น กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ ประกัน สินเชื่อ บัตรเครดิต หรือผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ เรียกได้ว่า ‘ง่าย จบ ครบในแอปเดียว’ อย่างแท้จริง
เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดการลงทุน หรือนักลงทุนสายดิจิทัล ที่ชื่นชอบการเลือกลงทุนด้วยตัวเอง และชอบลงทุนในกองทุนประเภท Index Fund เพราะติดตามตลาดด้วยตนเองได้ง่าย ไม่ผันผวนมาก ธนาคารไทยพาณิชย์จึงส่ง 3 กองทุนรวมพิเศษ ที่เป็นมิติใหม่แห่งอนาคตของการลงทุนในกองทุน Index Fund โดยออกจำหน่ายเฉพาะช่องทางแอปพลิเคชัน SCB Easy เท่านั้น ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
ที่มาข้อมูล : The Standard Wealth
โฆษณา