6 ก.ย. 2022 เวลา 09:00 • ความคิดเห็น
การรองรับสถานการณ์แอปล่ม ตอนที่ 2: ต้นกำเนิดปัญหาส่วนที่หนึ่ง
หลาย ๆ คนโดยเฉพาะลูกค้า มักจะคิดว่าปัญหาเพิ่งเกิด น่าจะแก้แป๊บเดียวก็เสร็จ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลย ปัญหาแบบนี้แก้ยากอย่างที่เล่าไปในตอนที่แล้ว
และต้นเหตุของปัญหาไม่ใช่เพิ่งมาเกิด มันได้เกิดมาตั้งแต่วันแรกที่มีโครงการจะทำแอปใหม่แล้ว
การทำแอปใหม่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ยิ่งเป็นแอปของธนาคารที่มีคนนับล้านคอยใช้แอปอยู่ตลอดเวลาอย่างในทุกวันนี้ ในวันที่คนเลิกถือเงินสด และทำธุรกรรมทุกอย่างจากมือถือ
ธนาคารที่ลงทุนทำแอปหนัก ๆ มาก่อนหน้านี้ จึงเป็นผู้ได้เปรียบที่มีเวลาลองผิดลองถูกในวันที่แอปยังไม่ได้เป็นเหมือนแขนขาของคนไทยอย่างในทุกวันนี้ ชีวิตในวันนั้นง่ายกว่ามาก ถ้าล่ม คนก็บ่นกันนิดหน่อย แป๊บ ๆ ก็ลืม แถมยังไม่ขุดเอาไปถล่มบนโลกโซเชี่ยลอย่างในทุกวันนี้ และจำนวนธุรกรรมต่อวินาทียังต่ำอยู่มาก ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องของความสามารถในการรองรับธุรกรรมอย่างในทุกวันนี้
แต่แอปที่มีคนใช้ 4-5 ล้านคนแบบนี้ และใช้กันตลอดเวลา ตั้งแต่ซื้อชานมไข่มุก ยันจ่ายค่าผ่อนบ้าน แอปจึงล่มไม่ได้ ล่มปุ๊บ ชีวิตของลูกค้ามีปัญหาทันที
แอปจึงแปลงสภาพจากตัวสำรองกลายเป็นหน้าตาของธนาคารไป แอปของธนาคารไหนล่มบ่อย ลูกค้าก็จะเลิกใช้บริการของธนาคารนั้น ๆ ไปเลย
ผู้บริหารจึงมีหน้าที่ที่ต้องสื่อสารถึงความสำคัญของความพร้อมใช้งาน (availability) และประสบการณ์ของผู้ใช้ (user experience) เหนือสิ่งอื่นใด
ส่วนทีมงานก็ต้องประเมินสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้ จำนวนธุรกรรมต่อคนต่อวัน รวมไปถึงการเผื่อวันที่ธุรกรรมสูงกว่าปกติอย่างทุก ๆ วันที่ 1 และ 16 ของเดือน ที่ระบบต้องรองรับปริมาณธุรกรรมให้ได้ และยังต้องประเมินตัวเลขอัตราการเติบโตของธุรกรรมในอนาคตให้ได้อีกด้วย
หากประเมินตัวเลขนี้ผิดก็เรียกว่าแทบจะตายตั้งแต่อยู่ในมุ้งกันเลยทีเดียว
ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ทางทีมงานจะต้องทำให้ได้ และยังจะต้องบวกค่าเผื่อ (safety factor) เข้าไปอีก และนำตัวเลขนี้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ (enterprise architecture) ที่เหมาะสม
หากจำนวนธุรกรรมมีอัตราการเติบโตที่สูง ระบบที่ออกแบบต้องคำนึงถึงความสามารถในการขยายขีดความสามารถของระบบ (scalability) และต้องทำได้ง่ายอีกด้วย
หากให้เปรียบเทียบให้เห็นชัด ก็คงเป็นเหมือนการออกแบบตึก หากจะให้รับคนพันคน เราคงออกแบบแบบหนึ่ง ถ้าให้รับคนได้หมื่นคน เราก็คงต้องออกแบบให้แข็งแรงมากขึ้น เสริมคาน เสริมเหล็ก เสริมโครงสร้างเข้าไป ถ้าจะให้ขยายได้ ต่อเติมได้ ก็ต้องเผื่อฐานราก เสาเข็ม เพิ่มจุดต่อเข้าไป
หากไม่วางแผนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไว้ตั้งแต่แรก การมาทำภายหลังก็ไม่ต่างกับการที่ต้องรื้อและทำใหม่ (rearchitect) นั่นเอง
เดี๋ยวตอนหน้าจะมาเล่าถึงเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรให้รองรับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้ได้กันครับ
Cr : www.efinancethai.com
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก : www.efinancethai.com
สามารถติดตามตอนอื่นๆ ได้จากซีรีย์ "การรองรับสถานการณ์แอปล่ม" ด้านล่างนี้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา