6 ก.ย. 2022 เวลา 12:29 • สิ่งแวดล้อม
🔎 ชวนสำรวจเมืองกับ #บางกอกวิทยา
มาร่วมกันไขความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนเมือง
_
🌳 ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะวาระระดับโลกอย่างภาวะโลกรวน (Climate Change) อันนำมาซึ่งความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยธรรมชาติที่ยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือชุมชนเมืองก็ตาม
ปัจจุบัน หลายภาคส่วนได้หันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ชุมชนเมืองก็เช่นกัน แต่การจะรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมืองและการพัฒนาเมืองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากทีเดียว
👉 วันนี้ KiNd ชวนมารู้จักกับ “ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)” และ “ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนเมือง” พร้อมกับสอดส่องเมืองไปด้วยกันใน #บางกอกวิทยา ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลย!
_
🧐 #ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร?
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity หรือ Biological Diversity) คือ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ซึ่งมีการแบ่งแยกย่อยไปอีก 3 ประเภท ได้แก่ ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ (Species Diversity) คือความหลากหลายของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ดั้งเดิม ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) คือความหลากหลายทางยีน (Gene) ที่ส่งผลให้สัตว์แต่ละชนิดมีพันธุกรรมแตกต่างกันไป
อันส่งผลให้มีลักษณะทางกายภาพโดดเด่น อาทิ มีสีแตกต่างกัน และความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecological Diversity) คือ ความหลากหลายของพื้นที่ทางระบบนิเวศ เช่น ระบบนิเวศบนบก อย่างป่า ภูเขา แม่น้ำ ระบบนิเวศทางน้ำ อาทิ ทะเลสาบ มหาสมุทร และระบบนิเวศในเมือง อาทิ อาคาร ตึกรามบ้านช่อง สวนสาธารณะ ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพทั้ง 3 ประเภทนี้ ช่วยรักษาสมดุลให้สิ่งแวดล้อมยังคงดำรงต่อไปได้
โดยประเด็นที่เรายกมาพูดถึงในครั้งนี้เป็นความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนเมือง แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับประเด็นดังกล่าว เราจะมาแนะนำให้ทุกคนมารู้จักกับ “กระบวนการการเป็นเมือง” (Urbanization) กันเสียก่อน
_
🏙 “เมือง” กำลังครองโลก
“เมือง” บนโลกใบนี้ ไม่ได้ถูกสร้างได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับสำนวนที่ว่า “Rome wasn’t built in one day” หรือ “กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จภายในคืนเดียว” กว่าที่เมือง ๆ หนึ่งจะเป็นเมืองได้ ต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า กระบวนการเป็นเมือง ซึ่งมีองค์ประกอบหลากหลายส่วน อาทิ ปัจจัยทางด้านประชากร พื้นที่ และเศรษฐกิจ
เริ่มต้นที่ปัจจัยด้านประชากร เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า จำเป็นต้องมีการกระจายทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานให้ทั่วถึงกันทุกคน เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการเบื้องต้น ซึ่งทำให้มีการขยายพื้นที่เมืองออกไปมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีการคาดการณ์จากงานวิจัยของหลากหลายสำนักถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรบนโลกว่า จะมีจำนวนถึง 9.9 พันล้านคนภายในปี 2050 หลังจากนั้นจำนวนประชากรเกิดใหม่จะลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะคงที่
_
🏗 ในส่วนของปัจจัยเรื่องพื้นที่ ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการเป็นเมืองคือการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสะดวกสบายและเป็นศูนย์กลางที่เต็มไปด้วยความเพียบพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร ที่พัก รวมไปถึงย่านธุรกิจและโรงงานด้วยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
เนื่องจากการขยายเมือง หมายถึงการมีพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทางธรรมชาติลดลง Robert I. McDonald (2019) ได้กล่าวถึงพื้นที่เมืองในอนาคตไว้ว่า ในช่วงระหว่างปี 2000 ถึง 2030 จะมีพื้นที่เมืองบนโลกเพิ่มขึ้นกว่า 290,000 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว
เมื่อมีประชากรเมืองและพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนผู้บริโภคและพื้นที่ในการค้าขายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และจากปัจจัยทั้ง 3 ด้านของกระบวนการเป็นเมือง ทั้งปัจจัยทางด้านประชากร พื้นที่ และเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาเมืองร่วมกันทั้งสิ้น
_
✨ #ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนเมือง
สืบเนื่องจาก 3 ปัจจัยข้างต้นที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเป็นเมือง ทำให้พื้นที่ทางธรรมชาติลดลง รวมถึงส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ประจำถิ่น อาทิ นากใหญ่ขนเรียบ สัตว์ประจำถิ่นของกรุงเทพฯ ซึ่งนับว่ามีจำนวนเหลือน้อยมาก
เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยถูกบุกรุก หรือปลากระโห้ที่เป็นปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก ก็เคยมีถิ่นฐานประจำที่กรุงเทพฯ เช่นกัน แต่ปัจจุบันไม่มีหลงเหลืออยู่ในเมืองนี้อีกต่อไปแล้วการสูญพันธุ์และการลดจำนวนลงของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศโดยตรงแล้ว ยังเป็นสัญญาณเตือนให้คนเมืองตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยอีกด้วย
เนื่องจากปัจจัยทางด้านมลพิษที่เกิดจากเมือง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง แสง อากาศ รวมไปถึงมลพิษทางน้ำ ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นตัวชี้วัดความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมต่อการอยู่อาศัยของเรา หากสัตว์อยู่ในเมืองนี้ไม่ได้ และถ้าปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นต่อไปจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง สักวันหนึ่ง จะเป็นพวกเราเองที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้
_
😎 ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ไม่แพ้สัตว์ชนิดอื่น KiNd จึงขอชวนคุณมาร่วมสำรวจกรุงเทพฯ และเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ผ่านกิจกรรมออนไลน์ของวิชานิเวศวิทยาภายในเทศกาล #บางกอกวิทยา ชวนมาสอดส่องและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณที่คุณอาศัยอยู่ และอัปโหลดรูปภาพของสิ่งมีชีวิตที่คุณพบเจอบนแอปพลิเคชัน iNaturalist ทั้งนี้ ระบบ AI ในแอปฯ สามารถช่วยบอกชื่อและสายพันธุ์ของภาพสิ่งมีชีวิตที่เราส่งไปได้อีกด้วย!
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เราสามารถสำรวจสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบริเวณรอบ ๆ ได้ด้วยฟีเจอร์ Explore ที่อยู่บนแอปฯ นอกจากเราจะได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของบริเวณที่อาศัยอยู่แล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อีกด้วย เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ระบบนิเวศก็คงจะย่ำแย่ไปมากกว่านี้
_
อ้างอิง
• “คนหากิน-สัตว์หากิน” สร้างเมืองใหญ่ที่ทุกชีวิตอยู่ได้โดยไม่เบียดเบียนกัน. www.the101.world
• Research gaps in knowledge of the impact of urban growth on biodiversity. www.nature.com
• What We Know (And Don’t Know) About Cities & Biodiversity. blog.nature.org
• กระบวนการกลายเป็นเมืองในประเทศไทย Urbanisation in Thailand
• ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง (City and Biodiversity)
• เทรนด์อนุรักษ์ ‘Rewilding’ มาแรง เมื่อเมืองหลวงจำเป็นต้องตีสนิทกับธรรมชาติ. thematter.co
_
📱 ติดตามอ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ www.kindconnext.com
 
#KiNd
#kindconnext
#KINDWORLD
#kindplanet
โฆษณา