Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
258 M.21 ผู้รับใช้นาย
•
ติดตาม
6 ก.ย. 2022 เวลา 12:14 • ประวัติศาสตร์
หมู่บ้านคนตาย
ในปีที่ ๒๖ แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีชนเผ่าหนึ่งอยู่ทางตอนเหนือของหลวงพระบาง ภายในราชอาณาจักรลาว โดยเรียกตนเองว่า“ญ้อ” มี“ท้าวหม้อ” เป็นหัวหน้า ภรรยาชื่อ“สุนันทา” ปกครองเมืองหงสาวดีซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง
ต่อมาเกิดมีการแย่งความเป็นใหญ่กันขึ้น ท้าวหม้อสู้ไม่ได้จึงได้อพยพภรรยาบุตร และบ่าวไพร่ ประมาณ ๑๐๐ คน ล่องแพมาตามแม่น้ำโขง พอมาถึงนครเวียงจันทน์ท้าวหม้อขอสวามิภักดิ์พึ่งพระบรมโพธิสมภารต่อเจ้าอนุวงศ์
เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์จึงอนุญาตให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่ปากน้ำสงคราม ซึ่งเป็นชัยภูมิดีเหมาะแก่การเพาะปลูกทุกอย่าง อีกทั้งข้าวปลาอาหารก็อุดมสมบูรณ์
หลังจากสร้างเมืองขึ้นเรียบร้อยแล้ว เจ้าอนุวงศ์ก็ตั้งท้าวหม้อเป็น“พระยาหงสาวดี” มีเมืองที่สร้างขึ้นใหม่อยู่ริมปากน้ำสงครามข้างเหนือ หรือฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีนามเมืองแห่งนี้ว่า“เมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี”(ปัจจุบันมีฐานะเป็นแค่ตำบลไชยบุรี อยู่เหนืออำเภอท่าอุเทน ขึ้นไป ๑๖ กิโลเมตร)
ฝ่ายพรรคพวกและชาวประชาทราบข่าว“ท้าวหม้อ” ได้เป็นเจ้าเมืองปกครองบ้านเมืองให้มีความสุขสบายจึงได้พากันอพยพครอบครัวมาสมทบกันมากขึ้น ทำให้พลเมืองในไชยสุทธิอุตตมบุรีมีมากถึง ๕๐๐ คน
ในปี พ.ศ.๒๓๕๗ หรือหลังจากสร้างเมืองได้ ๖ ปี ตรงกับแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระยาหงสาวดี(หม้อ) และอุปฮาด(เล็ก) ได้ร่วมใจกันสร้าง“วัดไตรภูมิ”ขึ้น ซึ่งมีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า“วัดศรีสุนันทราอาราม” ซึ่งตั้งอยู่ปากน้ำสงครามด้านเหนือ
ครั้งปีกุน อัฏฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ พ.ศ.๒๓๖๙ อันเป็นปีที่ ๔ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ แต่ก็พ่ายแพ้แก่พระบรมเดชานุภาพ เจ้าอนุวงศ์หนีไปขอพึ่งญวน
ฝ่ายพระยาหงสาวดีแห่งเมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี เดิมที่เคยพึ่งบารมีเจ้าอนุวงศ์เกิดมีความหวาดกลัวภัยจากกองทัพกรุงเทพฯ ประกอบกับชาวบ้านเกิดโรคระบาดด้วย จำเป็นต้องตัดสินใจละทิ้งเมืองพาครอบครัวและชาวเมืองอพยพข้ามแม่น้ำโขง เพราะอยู่ที่เดิมเกรงจะไม่ปลอดภัย
ขณะที่ข้ามแม่น้ำโขง พระยาหงสาวดีได้ขี่ม้าตัวเมียชื่อ“อีก้อม” ฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว อีก้อมได้พาพระยาหงสาวดีผ่านมาได้จนสำเร็จ แต่พอถึงชายหาดฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงก็ถึงแก่ความตายศพม้าจึงถูกฝังไว้ที่ชายหาดนั้น ผู้คนที่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกับชายหาดนั้นเลยพากันตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า“บ้านหาดอีก้อม” ทุกวันนี้ยังมีชื่อปรากฏอยู่
พอพระยาหงสาวดีพาผู้คนอพยพไปเรียบร้อยแล้ว ได้พักอยู่ที่ท่าจำปาก่อน จากนั้นได้เดินทางต่อไปถึงเมืองญวน และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยให้นามเมืองที่สร้างครั้งนี้ว่า“เมืองหลวงปุงลิง” บางคนก็เรียกว่า“โปงเลง”
หลังจากสร้างเมืองหลวงปุงลิง ผ่านไปประมาณ ๑ ปี พระยาหงสาวดี(ท้าวหม้อ) และอุปฮาด(เล็ก)ก็ถึงแก่กรรมที่เมืองนั้น
เนื่องจากเมืองหลวงปุงลิงเป็นเมืองขึ้นของญวน เจ้ากรุงเว้อานามจึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่มีดังต่อไปนี้
1
ท้าวประทุม เป็นเจ้าเมือง
ท้าวจรรยา เป็นอุปฮาด หมายถึงผู้ได้รับอำนาจสมบัติกึ่งหนึ่ง
ท้าวจันทร์ศรีสุราช(โสม) บุตรพระยาหงสาวดี(ท้าวหม้อ) เป็นราชวงศ์ โดยตำแหน่งต้องเป็นเชื้อสายเครือญาติเจ้าเมือง มีหน้าที่เกี่ยวกับตัดสินคดีชำระถ้อยความ
ท้าวปุตร เป็นราชบุตร แปลว่า ลูกเจ้าเมือง
แต่กรรมการเมืองไม่พอใจขึ้นกับญวน เพราะไม่ใช่ชนชาติเดียวกัน ทั้งการคมนาคมไปมาก็ไม่สะดวกและห่างไกลกันมาก แต่ก็ต้องจำใจเป็นเมืองขึ้นไปก่อน เพราะเกรงอำนาจบารมี เนื่องจากที่พึ่งเดิมทางเวียงจันทน์ยังระส่ำระส่ายอยู่ เลยพยายามคิดหาหนทางและคอยโอกาสหนี เพื่อไปขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้ากรุงสยาม
ครั้น พ.ศ.๒๓๗๓ เจ้าอนุวงศ์กลับจากเมืองญวนมานครเวียงจันทน์อีกและคิดกบฏต่อกรุงเทพฯ อีกเป็นครั้งที่ ๒ พระยาราชสุภาวดี(สิงห์ สิงหเสนีย์)ได้เป็นแม่ทัพคุมกองขึ้นมารบกับเจ้าราชวงศ์ แม่ทัพนครเวียงจันทน์ที่ค่ายบุกหวาน เจ้าราชวงศ์ต้องอาวุธในที่รบ จึงหนีทัพกลับไปนครเวียงจันทน์พร้อมกับเจ้าอนุวงศ์ซึ่งต่างคนต่างก็พ่ายแพ้กองทัพไทย หนีไปเมืองญวนอีก แม่ทัพไทยตามจับเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวได้ จึงนำตัวลงไปกรุงเทพฯ
ส่วนเจ้าราชวงศ์ยังจับไม่ได้ พระยาราชสุภาวดีแม่ทัพใหญ่จัดให้พระวิชิตสงครามเป็นแม่ทัพคุมทัพอีกกองหนึ่งไปตั้งอยู่ที่นครพนม ให้ตรวจตราด่านช่องทางคอยสืบจับตัวเจ้าราชวงศ์
ราชวงศ์เสนเมืองเขมราฐเป็นแม่ทัพอีกกองคุมไพร่พลเมืองอุบล เมืองยโสธร จำนวน ๑๘๐ คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี ซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่นั้น ให้รักษาปากน้ำสงครามอันเป็นด่านช่องทางของกองทัพนครเวียงจันทน์เข้าออกให้กวดขัน และให้สืบจับเจ้าราชวงศ์นครเวียงจันทน์ต่อไป
ครั้นการศึกสงครามขบถเวียงจันทน์สงบลงแล้ว ราชวงศ์เสนและกรมการเมืองได้พร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างเมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี ซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่ให้มีสภาพดีขึ้น และเกลี้ยกล่อมครอบครัวชาวเมืองคำม่วน-คำเกิด ให้ข้ามแม่น้ำโขง มาตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นจำนวนมาก รวมชายฉกรรจ์ได้ ๖๐๐ คน เมืองไชยสุทธิอุตตมบุรี ต่อมาถูกเรียกหดสั้นเข้าไปเป็น“เมืองไชยบุรี”
ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๖ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนีย์) เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพขึ้นไปสู้กับญวน เพื่อป้องกันมิให้เขมรถูกกลืนชาติ คณะกรมการเมืองหลวงปุงลิงเห็นเป็นโอกาสเหมาะหากันปรึกษาหารือและลงความเห็นว่า บัดนี้ควรฉวยโอกาสที่ญวนมัวสนใจกับการทำศึกสงครามกับไทยอยู่ คงมิได้ระวังสงสัยพวกของตน จึงน่าจะหลบหนีจากเมืองปุงลิง
เมื่ออพยพมาถึงริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยพาผู้คนมาตั้งหลักอยู่ที่ดอนทราย กลางแม่น้ำโขง(นาเหนือ) ตรงข้ามท่าอุเทนในปัจจุบัน และส่งคนไปสืบดูลาดเลาทางเมืองไชยสุทธิอุตตมบุรีเดิม หากยังคงเป็นเมืองร้างอยู่ ก็จะกลับเข้าไปอยู่ดังเดิม
พอไปถึงปรากฏว่าภายในเมืองไชยบุรีมีแม่ทัพนายกอง ตั้งมั่นรักษาเมืองอย่างแข็งขันอีกทั้งยังมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างเนืองแน่น จึงพากันเข้าไปขอสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรกรุงสยาม
ในระยะนี้ราชวงศ์เสนไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ จากเจ้ากรุงสยาม ราชวงศ์เสนและคณะกรมการเมืองพร้อมด้วยแม่ทัพนายกอง มีหนังสือบอกข้าราชการและพาตัวเจ้าเมือง และคณะกรรมการเมืองปุงลิงข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งไทยและให้ชื่อว่า“บ้านท่าอุเทน”
ครั้น พ.ศ.๒๓๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ ๑๕ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีท้องตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เมืองท่าอุเทนขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มิต้องขึ้นกับเมืองยโสธร นคร
พนมเหมือนแต่ก่อน เขตแดนของเมืองท่าอุเทนนั้น มิได้แบ่งเพราะอยู่ในเขตแดนเมืองนครพนม ให้เมืองท่าอุเทนช่วยกันพิทักษ์รักษาตามเขตแดนเมืองนครพนมไปก่อน โดยมีพระศรีวรราช(พระปทุม) เป็นเจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก
ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๕๖ มหาอำมาตย์โท พระยาอำมาตยาธิบดี เมื่อสมัยยังดำรงตำแหน่งเป็นรองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มาตรวจราชการที่เมืองนครพนมเห็นว่า ที่ตั้งอำเภอไชยบุรีอยู่ปากน้ำสงครามไม่เหมาะสม
ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้ยุบอำเภอกุสุมาลย์ไปรวมกับอำเภอเมืองนครพนม ยุบอำเภออากาศอำนวยแบ่งท้องที่ให้อำเภอท่าอุเทนบ้าง ย้ายอำเภอไชยบุรีไปอยู่ที่บ้านบึงกาฬ ท้องที่อำเภอโพนพิสัย โอนอำเภอต่างๆในท้องที่อำเภอไชยบุรีให้แก่อำเภอท่าอุเทน ตำบลต่างๆ ทางตอนเหนือของอำเภอบ้านแพงขึ้นไป รวมเข้ากับอำเภอไชยบุรีทั้งเก่าและใหม่มี ๙ ตำบล
พลเมืองรวมทั้งสิ้น ๑๓,๒๕๗ คน เขตอำเภอโพนพิสัย เขตอำเภอไชยบุรี และเขตอำเภอท่าอุเทนถือใหม่ตามแนวนี้
เขตแดนอำเภอไชยบุรีใหม่ เริ่มจากปากลำห้วยขิง ซึ่งไหล่ตกลงแม่น้ำโขงพุ่งตามลำห้วยขิงขึ้นไปถึงห้วยตาแต้มถึงห้วยญาผางอย ตัดข้ามเขาลังกาไปทางทิศตะวันตกตรงไปยังชายวาน ตามบึงชายวานไปถึงห้วยเมา ตามลำห้วยเมาขึ้นไปถึงยอดห้วยโต ไปตกลำน้ำสงครามต่อเขตตำบลนาทม ตำบลบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน ตามแนวเขตนี้ลงไปทางใต้เป็นเขตอำเภอท่าอุเทน ส่วนขึ้นไปทางเหนือเป็นเขตอำเภอไชยบุรี
ปัจจุบันผู้สืบสายเลือดของชาวไทยญ้อ ได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามท้องที่ของอำเภอต่างๆ อุปนิสัยใจคอส่วนมากร้อยละ ๙๕% มีความซื่อสัตย์สุจริต รักความสงบ มีความสามัคคีกันดี เวลามีงานปลูกบ้าน ทำบุญ แต่งงาน ลงนา ฯลฯ จะให้ความร่วมมือร่วมแรงกันอย่างแข็งขัน
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทยญ้อที่ไม่เหมือนใคร คือ ที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวไทยญ้อจะปลูกเป็นเรือนเล็กๆ เรียงรายกันไปตามชายป่าหรือในเขตวัด เวลามองมาแต่ไกลไม่ต่างกับหมู่บ้านขนาดหย่อม ทั้งนี้เพราะฐานะทางเศรษฐกิจชาวไทยญ้อค่อนข้างยากจน จึงเก็บอัฐิตามที่ฐานะจะอำนวยให้
เวลามีงานศพทุกคนจะสละเวลาและหน้าที่การงานของตนมาช่วยเหลือกันจริงๆ โดยจะช่วยกันเสียเงินคนละ ๓-๔ บาทต่อศพ ตามคุ้มวัดหรือหมู่บ้านที่ตนสังกัด คือบางคุ้มก็เสียศพละ ๓ บาท บางคุ้มก็เสีย ๕ บาท แต่ตามชนบท หมู่บ้านที่มีพลเมืองน้อยเสียคนละ ๑๐ บาทประเพณีการเก็บอัฐิที่เห็นได้เด่นชัด ซึ่งชาวไทยญ้อได้อนุรักษ์ไว้เป็นเอกลักษณ์ที่วัดร้อยป่าอรัญญา ตำบลบ้านขวางคลี อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
2 บันทึก
4
2
2
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย