7 ก.ย. 2022 เวลา 02:19 • ครอบครัว & เด็ก
คุณเคยรู้สึกอิจฉาผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ วิ่งเข้าหาเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือบ้างหรือไม่ ทำไมเด็กถึงเลือกที่จะวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่คนหนึ่งแทนที่จะวิ่งเข้าหาอีกคน นี่เป็นคำถามที่ YeYoon Kim อดีตครูปฐมวัยชาวเกาหลีฉุกคิดขึ้นมาได้เมื่อมีเด็กคนหนึ่งเรียกให้เธอไปช่วยดูเพื่อนที่หกล้มอยู่ข้างนอก
ในฐานะผู้ใหญ่เราอาจจะเคยชินกับการที่เด็กวิ่งมาขอความช่วยเหลือ จนคิดว่ามันคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ถ้าเรามองเหตุการณ์นี้ในอีกมุมมองหนึ่ง นี่อาจเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจของผู้ใหญ่พองโตเมื่อได้รู้ว่า เด็ก ๆ กำลังมอบของขวัญให้กับเรา ซึ่งของขวัญที่ว่านี่ก็คือ “โอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเขา” แต่ทำไมเมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น พวกเขากลับยิ่งไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ สิ่งนี้ทำให้เขาเสียโอกาส หรือก่อให้เกิดปัญหาอะไรที่ใหญ่โตเกินกว่าที่เด็ก ๆ คาดคิดไว้บ้าง
ผู้ใหญ่ส่วนมากโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่คงจะเคยสังเกตเห็นว่า เด็ก ๆ มักจะร้องไห้เมื่อพวกเขาหกล้ม และทันทีที่เราได้ยินเสียงร้องไห้ เราก็พร้อมที่จะทิ้งทุกสิ่งแล้ววิ่งเข้าไปปลอบประโลมพวกเขา แต่ YeYoon Kim เป็นครูที่ช่างสังเกต เธอพบว่า เด็กที่หกล้มไม่ได้ร้องไห้ในทันที แต่เด็กจะยืนขึ้น งุนงง ราวกับกำลังประมวลว่า “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น” “มันใหญ่โตขึ้นถึงขั้นต้องร้องไห้เลยหรือไม่” “มันเจ็บหรือเปล่า”
ส่วนมากแล้วเด็กมักจะโอเคจนกระทั่งไปสบตากับผู้ใหญ่เข้า หากผู้ใหญ่คนนั้นเป็นคนที่เด็กเชื่อใจ และรู้ว่าสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เมื่อนั้นเองที่เด็กจะเริ่มร้องไห้ ไม่เฉพาะสำหรับเด็กเท่านั้น สำหรับคนทุกเพศทุกวัยเอง การขอความช่วยเหลืออาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เราจัดการกับปัญหายาก ๆ ได้ แม้ว่าเด็กจะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เกินกว่าที่เขาจะจัดการแก้ไขได้เอง แต่หากเด็กรู้จักขอความช่วยเหลือ เขาก็สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้
งานวิจัยพบว่าเด็กเล็กที่อายุเพียง 5 ขวบ ก็เริ่มแคร์ผู้คนรอบข้างแล้ว เด็กสนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเอง บางครั้งก็ถึงขั้นโกงเกมง่าย ๆ เพื่อให้ตัวเองดูฉลาด เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เด็กจะเริ่มจะมองว่าการขอความช่วยเหลือทำให้ดูไร้ความสามารถในสายตาคนอื่น สิ่งที่น่าเป็นห่วงจึงเป็นเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ๆ หากพวกเขาไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาบางอย่าง แต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครู เพียงเพราะกลัวจะดูโง่ เด็ก ๆ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพของตัวเอง
ในฐานะผู้ใหญ่ที่เด็กมักจะมาขอความช่วยเหลือ เราควรทำให้เด็กรู้ว่า ผู้ใหญ่พร้อมช่วยเหลือพวกเขาเสมอ การขอความช่วยเหลือไม่ใช่การแสดงออกถึงความอ่อนแอเสมอไป แต่เป็นสัญญาณของวุฒิภาวะ และความแข็งแกร่ง ต้องทำให้เด็กเห็นว่า คำถามที่เด็กใช้เพื่อขอความช่วยเหลือจะสร้างบทสนทนาอันมีค่าได้อย่างไร
ฉะนั้น เมื่อไรที่เขาขอความช่วยเหลือ เราควรยกย่องให้เด็กเห็นว่า เราเห็นคุณค่าที่เขามอบความวางไว้ใจ และขอความช่วยเหลือจากเรา ในฐานะครู สำคัญมากที่เด็กต้องรู้ว่า พวกเขาจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดอย่างไร และการขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ คือ วิธีการที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ของพวกเขาเอง
.
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่: https://www.attanai.com/discovery/ask-for-help/
โฆษณา