7 ก.ย. 2022 เวลา 03:43 • ความคิดเห็น
คนระดับปานกลางจะโดดเด่นได้อย่างไร
ผมเคยโดนถามสองครั้งจากสองการสัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับการทำงานในตอนที่ยังเป็นพนักงานระดับล่างๆว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีโอกาสเติบโตขึ้นมาได้บ้าง อาจจะเป็นเพราะผมมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าได้เร็วในสายตาคนอื่นด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ
2
ซึ่งพอมองย้อนกลับไปก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะผมก็เริ่มจากการจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยระดับกลางๆ ภาษาอังกฤษก็กลางๆ ทักษะอะไรก็ไม่มีอะไรเด่น เป็นเด็กต่างจังหวัด พ่อแม่ก็ไม่ได้มีเส้นสายอะไร
4
สามสี่ปีแรกก็ทำงานหนักในสายงานวาณิชธนกิจแต่ก็ไม่ได้ก้าวหน้าเร็วกว่าใคร ก็อยู่ในระดับปานกลางอีก เงินเดือนเริ่มต้นหมื่นแปด สามสี่ปีผ่านไปก็ยังสองหมื่นกว่าอยู่เลย ผมมาก้าวกระโดดเร็วๆก็เป็นช่วงย้ายงานครั้งแรกหลังจากทำงานสี่ปี
2
ในตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าย้ายงานเพราะอยากได้เงินเดือนเพิ่ม โชคก็มีส่วนเยอะเพราะพอดีพี่ที่เขารับคนมาทำงานกำลังท้องแปดเดือน ไม่มีทางเลือกมากนักทำให้ผมได้งานใหม่ที่เงินเดือนดีกว่าเดิมมาก
1
แต่มารู้ทีหลังว่านอกจากพี่เขาท้องแปดเดือนแล้ว ก็หาคนภายในทำยากเพราะเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ ก็เลยต้องรีบจ้างคนนอก ซึ่งเป็นผมพอดี และก็เป็นบทเรียนแรกๆที่พอมองย้อนกลับไปแล้วต้องตอบคำถามนี้ แล้วพอนึกต่อก็จะพอประมวลเพิ่มเติมได้ว่าทำไมผมถึงเติบโตเร็วมากๆในช่วงนั้น
  • ทำงานที่ไม่มีใครทำ
ในตอนที่ผมย้ายงานมาทำตำแหน่ง investor relation ที่ดีแทคด้วยเพราะเงินเดือนที่ดีขึ้นนั้น ไม่รู้เลยว่าเป็นงานที่หฤโหดสุดหินที่ต้องเจอ investor ฉลาดๆจากทั่วโลกมาถามคำถามยากๆ วันนึงเจอวันละห้าหกประชุมทุกวัน ในตอนนั้นเป็นงานที่ใหม่ในประเทศมาก ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องบริหารจัดการกับ investor หรือนักวิเคราะห์อย่างไร
4
แถมดีแทคตอนนั้นจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ที่มีแต่นักลงทุนต่างชาติด้วย ผู้บริหารที่บริษัทก็ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าประชุมเพราะไม่อยากถูกซักด้วยคำถามยากๆ
2
ผมก็เลยหลงเข้ามารับงานที่ไม่มีใครอยากทำนี้ด้วยความบังเอิญ ตอนแรกๆก็ทรมาน คิดว่าตัวเองซวยแต่ก็ไม่กล้าออกเพราะหางานที่เงินดีกว่านี้ไม่ได้ ก็ต้องพยายามหาข้อมูล พยายามพลิกแพลงดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดไห้ได้
1
แต่ปรากฏว่า พอไม่มีใครอยากทำงานที่ยาก ทำให้ผมกลายเป็นคนเดียวในบริษัทที่ได้เจอ ได้พูดคุยกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ เป็นคนเดียวที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้ทุกส่วนเพราะทุกคนเต็มใจที่จะให้ข้อมูลผมไปตอบนักลงทุนเพราะตัวเองจะได้ไม่ต้องไปตอบ ได้เจอผู้บริหารระดับสูงโดยง่าย
3
ทำให้พนักงานระดับกลางอย่างผมเริ่มอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ และผูกขาดองค์ความรู้ของบริษัทด้านนี้ไป พอบริษัทมีเรื่องราวที่ต้องการการให้ข้อมูลสำคัญๆเช่นปรับโครงสร้างหนื้หรือต้องไปเจรจากับพันธมิตรเข้ามาถือหุ้น ผมก็เป็นคนเดียวที่ซีอีโอต้องพกติดตัวไปด้วยเพราะสามารถตอบคำถามเชิงลึกได้ ทำให้โอกาสหลั่งไหลเข้ามาให้ผมได้โชว์ฝีมือได้เร็วกว่าคนในรุ่นเดียวกัน
9
คนที่มีฝีมือปานกลาง ถ้าไปทำงานที่ใครๆก็อยากทำ โอกาสที่จะแสดงฝีมือเป็นที่ประจักษ์ก็ไม่ง่าย คู่แข่งก็จะเยอะ แต่ถ้าเราหลีกไปพื้นที่ที่ทุรกันดารหน่อยแล้วมีโอกาสทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็เป็นเคล็ดลับหนึ่งของคนระดับปานกลางอย่างพวกเราเช่นกัน
7
  • ทำเกิน
ที่ทำงานแรกของผมคือบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง เป็นที่ที่บ้าพลังเป็นอย่างมากเพราะเต็มไปด้วยคนเก่งๆในยุคที่งานล้นมือ ผมเป็นพนักงานระดับล่างสุดก็คอยรับใช้พี่ๆ พี่ๆส่วนใหญ่ก็จะงานยุ่งมาก ทำไปสอนไป ให้เรียนจากประสบการณ์จริงอย่างเข้มข้น ตอนหนุ่มๆสมัยนั้นทำงานกันตีหนึ่งตีสองเป็นเรื่องปกติ
2
มาตรฐานการทำงานก็สูงมากเพราะต้องแข่งกับเวลา เงินจำนวนมากและความถูกต้องของข้อมูล ทำให้เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในชีวิตของผมที่นอกจากจะได้วิชาความรู้แล้ว ยังได้มาตรฐานการทำงานที่สูงติดตัวมา ซึ่งฝีมือผมเมื่อเทียบกับพี่ๆก็ปานกลางค่อนข้างอ่อนด้อย เลยต้องย้ายงานเพราะเติบโตสู้คนเก่งๆในวงการนี้ไม่ไหว
พอมาที่บริษัทใหม่ มาตรฐานที่ถูกฝึกมาในระดับสูง ทำให้กลายเป็นการทำงานที่ “เกิน” ความคาดหวังของเจ้านายไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเสร็จก่อนเวลาที่เจ้านายอยากได้ การทำงานละเอียดพร้อมข้อมูลที่ครบถ้วน ฯลฯ ที่ถูกฝึกมา ความบ้าพลังจากที่ทำงานเก่าก็ติดตัวมาด้วย พอมาย้อนกลับไปและผมก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้หลายครั้งว่า เคล็ดวิชา “ทำเกิน”
1
นั้นเป็นเคล็ดวิชาที่คนระดับปานกลางหรือด้อยโอกาสหลายคนประสบความสำเร็จมานักต่อนัก พี่สาธิตแห่ง propaganda ก็เคยใช้วิชานี้แจ้งเกิดจากการเป็น graphic design โนเนม พอได้งานแรกก็เล่นใหญ่ ขาดทุนไม่ว่าแต่ทำเกินจนได้รางวัลเอามาต่อยอดจนได้งานต่อๆไปได้ หรือพี่สุรชัยแห่ง Illusion CGI ที่ชนะฝรั่งมังค่าไปเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็มาจากการทำงานละเอียดเกินความคาดหมายของผู้ว่าจ้างทุกครั้งจนลูกค้าติดใจและบอกต่อ
เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หรือลูกค้านั้นจะมี “ภาพจำ” ก็ต่อเมื่อเขาได้รับสิ่งที่เกินความคาดหวัง หรือต่ำกว่าความคาดหวัง ถ้าได้เท่าที่คาดเขาก็จะไม่จำ ดังนั้นการที่คนระดับกลางๆจะทำให้เจ้านายจำได้ก็ต้องทำเกินเข้าว่า ของานวันอังคาร จันทร์ก็เสร็จแล้ว ให้ไปถามลูกค้า 10 คนก็ถามซักร้อย ก็เป็นวิธีที่จะอยู่ในใจเจ้านายและสร้างความประทับใจได้อีกทางหนึ่ง
7
  • ทำให้นายเป็นง่อย
1
ตอนที่ผมทำงานเป็น investor relation นั้น ทุกๆสามเดือนก็จะต้องมี Roadshow ไปพูดคุยให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ แถบเอเชียเราๆบ้าง บางทีก็ไปไกลถึงยุโรปหรืออเมริกา ไปทีก็หลายวัน งานที่ไปพบนักลงทุนก็โหดตั้งแต่เช้าจนเย็นเพราะไปทั้งทีก็ต้องไปให้คุ้ม เรื่องเที่ยว ช้อปปิ้งนั้นแทบไม่มี แต่ตอนที่ผมไปกับเจ้านาย เจ้านายก็อยากจะมีเวลาไปชอปปิ้งบ้าง
ผมก็รับอาสาดูแลนักลงทุนให้เพราะเป็นงานหลักของผมอยู่แล้ว หนักๆเข้าผมก็บอกนายเลยด้วยซ้ำว่ามาเข้าซักครั้งสองครั้งก็พอ ที่เหลือผมรับหน้าเสื่อให้หมด นายผมในตอนนั้นก็ชอบที่จะไปกับผมมากเพราะมีเวลาไปเที่ยวเตร่ได้อย่างสบายใจ ไม่มีผมนี่ถึงกับต้องยกเลิกทริปเอาเลยด้วยซ้ำ
1
ไม่เฉพาะแค่เรื่องนี้ งานยากๆเหนื่อยๆทั้งหลายที่นายไม่ชอบทำ เจรจาปรับโครงสร้างกับเจ้าหนี้โหดๆ คุยให้ข้อมูลกับฝรั่ง ฯลฯ ความเคยชินกับความสบายทำให้เวลาจะประเมินปลายปีหรือปรับตำแหน่งอะไรก็ตาม น้ำหนักข้อนี้จะมีส่วนอย่างมากเช่นกัน
1
ลองนึกถึงแม่บ้านรู้ใจที่บ้านที่ทำทุกอย่างก็ได้นะครับ เวลาลาทีแทบจะกราบขอให้กลับมาไวๆ โบนัสก็ต้องให้ไว้ก่อนเพราะลาออกทีความยากลำบากทั้งหลายจะตามมาทันที ฉันใดก็ฉันนั้นในมุมการบริหารเจ้านายนะครับ
4
  • ทำสำเร็จไม่ใช่ทำเสร็จ
1
ผมพูดเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งและเป็นปรัชญาการทำงานที่คอยพยายามสอนน้องๆที่รู้จักกันเสมอ ในฐานะที่เป็นเจ้านาย มีลูกน้องมาพอสมควร ลูกน้องที่เราไว้ใจและนึกถึงตลอด พร้อมที่จะสนับสนุนเชิดชูให้โอกาสก็คือลูกน้องที่ทำงานสำเร็จ ไม่ใช่แค่เสร็จ เพราะในบริษัทโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะทำงานแค่เสร็จคือทำแค่ในส่วนของตัวเองให้จบ งานจะสำเร็จหรือไม่ ลูกค้าจะพึงพอใจหรือไม่ไม่ใช่เรื่อง เพราะหน้าที่เรามีแค่นี้ ติ๊กถูกก็จบ ซึ่งคนเหล่านี้ต่อให้เก่งแค่ไหนก็แทบจะไม่มีประโยชน์ในการทำงานในปัจจุบัน
3
ผมอยากยกตัวอย่างวิธีคิดแบบทำสำเร็จไม่ใช่ทำเสร็จที่พอเห็นภาพก็คืองานเลขา ถ้านายให้นัดคุณธนาให้หน่อย ทำแค่เสร็จก็คือส่งเมล์ไปนัดให้แล้ว เขาตอบหรือไม่ตอบ ว่างหรือไม่ว่างก็ไม่รู้ถือว่าทำตามสั่งแล้ว แต่งานที่จะสำเร็จจริงๆก็คือ การที่ให้นัดคุณธนาเพราะนายอยากจะเจอคุณธนา ส่งเมล์ไปแล้วก็ต้องมั่นใจว่าอีกฝั่งได้อ่าน ถ้าไม่ได้อ่านก็ต้องหาทางติดต่อให้ได้คำตอบ ถ้าว่างไม่ตรงกันก็ต้องพยายามหาทางขยับวันของทั้งคู่จนตรง คอนเฟิมเสร็จก็เตือนเมื่อใกล้เวลา งานจะสำเร็จก็ต่อเมื่อทั้งคู่ได้เจอกันเป็นต้น
5
ทัศนคติของคนที่ทำงานสำเร็จไม่ใช่เสร็จ เป็นทัศนคติที่คนระดับกลางๆได้งานที่ดีและชนะคนเก่งๆมากนักต่อนักแล้วนะครับ
  • ทำอะไรไม่รู้แต่ยกมือไว้ก่อน
4
คุณตัน ภาสกรนที เริ่มงานจากระดับต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร ก็คือเป็นจับกังแบกของ แต่ไม่นานคุณตันก็กลายเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือนขึ้นมาหลายเท่า คุณตันเล่าถึงเคล็ดลับของคนที่การศึกษาน้อย พูดก็ไม่ชัด หน้าตาก็ไม่ดีไว้ว่า มีอะไรใครไม่ทำ งานตรงไหนต้องการคนช่วย วันหยุดขาดแรงงาน แกยกมืออาสาไว้ก่อน หนักเอาเบาสู้ ไม่เกี่ยงงาน ทำให้นายก็จำนายตันได้แม่นกว่าจับกังคนอื่น
5
แล้วทำไมถึงได้เป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ในระยะเวลาอันสั้น … ผมถามคุณตัน คุณตันเปิดแผลเป็นที่หลังให้ดู พร้อมเล่าว่า พอทำเป็นจับกังได้ซักพัก บริษัทมาถามหาคนในว่ามีใครขี่มอเตอร์ไซด์เป็นมั้ย คุณตันรีบยกมือก่อนใคร เลยได้งานเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์ที่ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ไปขายของเยี่ยมลูกค้า แล้วทำไมถึงได้แผล..ผมถามต่อ คุณตันเลยเฉลยว่า ตอนที่แกยกมือนั้น แกขี่มอเตอร์ไซด์ไม่เป็น แต่เห็นโอกาสมาเลยคว้าไว้ก่อน แล้วต้องไปหัดขี่ในเวลาสั้นๆ ก็ล้มอยู่หลายครั้งจนได้แผลเป็นมา
6
ผมเองก็มีนิสัยที่ไม่ค่อยแน่ใจก็จะยกมือไปก่อน ทำให้โอกาสที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆและหลากหลายมากขึ้นตาม ผลพลอยได้ก็คือได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆที่ทั้งสำเร็จและล้มเหลว และที่สำคัญคือทำให้ผู้ใหญ่จำเราแม่นว่าเป็นคนไม่เกี่ยงงาน มีงานอะไรหลังๆก็จะมาให้โอกาสคนระดับกลางๆอย่างเราก่อนเสมอเพราะไม่อิดออด ไม่ชักสีหน้า แต่กระตือรือร้นที่จะลองด้วยความเต็มใจ
2
พอมาย้อนคิดเพื่อตอบคำถามที่น้องๆถามถึงเคล็ดลับว่าคนปานกลางอย่างพี่เติบโตเร็วได้อย่างไร ผมก็นึกจากประสบการณ์ส่วนตัวได้ประมาณนี้ แน่นอนว่ามันมีองค์ประกอบอื่นอีกมากมายเช่นโชค เพื่อนร่วมงานที่ดี จังหวะที่เหมาะสม ฯลฯ
2
แต่ผมก็คิดว่า คนระดับกลางๆ ไม่ได้มีต้นทุนอะไร จะโดดเด่นได้ก็จะต้องลองอะไรที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ทำ ต้องเลือกทางยากกว่าคนอื่นจึงจะมีโอกาสในการเติบโตได้บ้างในโลกที่แข่งขันสูง ความไม่เท่าเทียมทั้งทักษะและต้นทุนชีวิต และยุคแห่ง average is over แบบนี้นะครับ
4
โฆษณา