17 พ.ย. 2022 เวลา 02:12 • สุขภาพ
เส้นทางการรักษาจิตเวชตามสิทธิ์ประกันสังคม หลัก ๆ คือหยกต้องการพิสูจน์ว่าประกันสังคมครอบคลุมเมื่อเราต้องการจะพบจิตแพทย์ได้แบบที่เขาร่ำลือหรือไม่? ถ้าสามารถทำได้จริงจะถือว่าเหนือเมฆกว่าประกันเอกชนหลายตัวมาก
เพราะประกันหลายแพ็กเกจไม่สามารถ Cover โรคทางจิตเวชได้ ซึ่งเป็นความต้องการที่มีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกของการทำงาน ส่วนยี่ห้อที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้บางทีก็ติดเงื่อนไขว่าต้องเว้นระยะไม่พบจิตแพทย์มาแล้วสองปี ซึ่งตอนที่คนมีเหตุให้ต้องไปหา... จะมีสักกี่คนที่ทำประกันล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือกับสิ่งนี้?!
ต้องบอกก่อนว่าหยกไม่ใช่แฟนคลับกับสิทธิ์การรักษาของประกันสังคมมากนัก เพราะไปมา 2-3 โรงพยาบาลและเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง "จ่ายเงินเอง" กับ "เดินเข้าไปเพื่อขอใช้สิทธิ์ประกันสังคมกับโรงพยาบาลที่เลือก" คุณภาพบริการคนละเรื่องค่ะ บางที่ถึงกับแยกชั้นแยกตึกเลยทีเดียว
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้สิทธิ์จากประกันสังคมช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอยู่หลายครั้ง เช่น ทันตกรรมขูดเห็นปูน 900 บาทต่อปี เจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าอายุเกิน 50 ปีสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ หรือช่วย Support ค่าใช้จ่ายของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์บางส่วนด้วย ส่วนอันที่ไม่ได้คิดว่าจะใช้แต่ก็มีโอกาสได้ใช้ เช่น เงินช่วยเหลือตอนว่างงาน
กลับมาที่เรื่องจิตแพทย์ค่ะ แน่นอนว่าเมื่อก่อนไม่รู้เรื่องนี้ หยกก็ไปหาหมอเอกชนใกล้บ้านมาก่อน ประกันสุขภาพที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมโรคพวกนี้ ต้องจ่ายเองตลอด ซึ่งพอรู้แล้วแน่นอนว่าสายเลขาฯอย่างหยกต้องอยากลองของว่า "เฮ้ย ได้จริงเปล่า?" (ซึ่งตอนมาเขียนคำตอบก็คือได้นะคะ จะเล่าขั้นตอนให้ฟัง)
หยกโทรสอบถามประกันสังคมว่าโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคมที่เลือก แผนกอายุรกรรมเขาไม่มีหมอจิตเวชหยกต้องทำยังไง? ทางเจ้าหน้าที่ประกันสังคมแนะนำว่าให้หยกติดต่อกับโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคมเพื่อ "ทำเรื่องส่งตัว"
หยกเดินทางไปโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคม สอบถามกับเจ้าหน้าที่เวชระเบียนว่าหยกเป็นเคสนี้ ต้องการใช้สิทธิ์ประกันสังคมรักษาจิตเวช ต้องการข้อมูลอะไรบ้าง?
เจ้าหน้าที่เวชระเบียนสอบถามว่า ปัจจุบันรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลไหน? ให้ไปขอประวัติการรักษามาและเอามาแจ้งเวชระเบียนและเขาจะทำเรื่องส่งตัวให้ แต่จะไม่ได้โรงพยาบาลเก่านะ เพราะเขาจะส่งไปที่โรงพยาบาลในเครือข่ายของเขา มีหลายที่ เช่น "สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา" ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข
หยกโทรไปติดต่อโรงพยาบาลเดิมเพื่อขอประวัติการรักษา เจ้าหน้าที่โอนสายไปให้ "แผนกเอกสารการแพทย์" ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งให้ส่งอีเมลพร้อมแนบไฟล์บัตรประชาชน
เนื้อหาประมาณว่า "เรียนแพทย์ผู้รักษา (ชื่อแพทย์) ข้าพเจ้า (ชื่อ นามสกุล เลข HN) ขอประวัติการรักษากับคุณหมอ (ชื่อแพทย์) เพื่อรักษาต่อกับโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคม ขอแสดงความนับถือ ชื่อนามสกุลเรา เบอร์โทร" แต่ละโรงพยาบาลขั้นตอนอาจจะไม่เหมือนกันนะคะ
หลังส่งอีเมลเสร็จหยกก็โทรไปเช็คกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าเขาได้รับอีเมลแล้วหรือไม่? และเจ้าหน้าที่ก็แจ้งยืนยันกลับมาว่าได้รับแล้ว ถ้าเอกสารออกแล้วจะโทรเรียกให้ไปรับ (รอประมาณ 1 วันเขาก็โทรกลับมาให้ไปรับเอกสารค่ะ แต่ต้องบอกว่าโชคดีด้วยที่บังเอิญเป็นวันที่คุณหมอเข้าตรวจพอดี ปกติคุณหมอจะเข้าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถ้าไปขอวันอื่นอาจจะต้องรอนานกว่านี้)
ถัดจากนั้น พอได้รับเอกสารหยกก็สแกนเก็บไว้และเอาตัวจริงไปยื่นที่เวชระเบียนของโรงพยาบาลในสิทธิ์ประกันสังคมค่ะ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาไปประมาณครึ่งวันได้
📝 ประวัติการรักษา
📝 บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
ที่นานกว่าที่คิด คือ ไม่ใช่ว่ายื่นเอกสารแล้วกลับได้เลย แต่ต้องเข้าตรวจกับแผนกอายุรกรรมใหม่ก่อนส่งตัว ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก วัดความดัน รอพบแพทย์ พอเจอกันก็เล่าสรุปสั้น ๆ ให้คุณหมออายุรกรรมฟังว่าเริ่มรักษามาตั้งแต่เมื่อไร ตอนนี้อาการเป็นยังไง และคุณหมอก็ถามกลับมาว่ายาที่มีกินได้ถึงวันไหน? ซึ่งคุณหมอก็ทำการสั่งยาเพิ่มไว้เผื่อให้เพราะขั้นตอนส่งตัวถัดไปน่าจะต้องใช้เวลา อย่างเคสหยกแจ้ง 12 ก.ย. ได้คิวส่งตัว 27 ต.ค. ก็ใช้เวลาเป็นเดือนอยู่เหมือนกันค่ะ
คุณหมอสั่งยาเสริมให้ไว้เผื่อ 30 วัน ซึ่งตรงนี้ประกันสังคมได้เริ่มทำหน้าที่ของมันแล้วเพราะเป็นครั้งแรกที่หยกไม่ต้องจ่ายเงินค่าพบแพทย์และค่ายาเนื่องจากโรคทางจิตเวช วันแรกที่สามารถรับยาและเดินทางกลับบ้านได้เลย
จากที่เจ้าหน้าที่พยาบาลแจ้งให้ทราบคือคุณหมอต้องส่งเรื่องไปให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอนุมัติ และทางโรงพยาบาลจะประสานงานศูนย์ให้และโทรเรียกให้เราไปรับเอกสารอีกครั้งหนึ่ง (รอประมาณ 3 วันเขาก็โทรกลับมานัดให้ไปรับเอกสารในเดือนถัดไปที่ "แผนกการตลาด" ก่อนวันคิวส่งตัวค่ะ)
ถึงวันนัดก็ไปทำประวัติวันแรกประมาณ 8:00 น. ซึ่งเช้ากว่าปกติ แพทย์จะมาถึงประมาณ 10:00 น. แต่เนื่องจากเราไม่เคยมีประวัติที่นี่เราก็ต้องใช้เวลาทำประวัติก่อน เวลาที่ใช้ทั้งหมดในสถานพยาบาลโดยรวมนานกว่า (เป็นปกติถ้าเทียบโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน) แต่ลาเผื่อเวลาไว้ทั้งวันแล้วก็โอเคค่ะ
ผลที่ได้ถือว่าช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้ดี คือ เปลี่ยนจากที่เคยจ่ายครั้งละหลักหลายพันบาท เหลือยี่สิบบาทค่าพยาบาลที่ไม่สามารถเบิกได้ต้องจ่ายเอง แต่ตัวยาตามสิทธิ์ประกันสังคมจะเบิกได้แค่เฉพาะยาไทย (ซึ่งอาจจะประกอบการพิจารณาของหลาย ๆ คน)
คุณภาพ คุณหมอดูแลดีไม่ได้ต่างกันเลย ข้อเสียเดียวที่เจอคือทุกครั้งที่ได้รับใบนัดมาเราต้องกลับไปรพ.ที่เรามีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่เพื่อขอใบส่งตัวใหม่ทุกครั้ง(ใบส่งตัว 1 ครั้งใช้ได้สำหรับ 1 วันที่ระบุ) แต่ขั้นตอนนี้ก็ไม่ได้กินเวลานานมาก
ถามว่าคุ้มไหม ส่วนตัวมองว่าก็คุ้มต่อการวางแผนการเงินส่วนตัวนะคะ ถึงความสะดวกบางอย่างอาจจะไม่เหมือนตอนไปหาโรงพยาบาลเอกชน แต่เทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาวที่สามารถเบิกได้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่แย่เลย
โฆษณา