7 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธนาคารกลางยุโรป จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย สูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือไม่ ?
2
จากสถานการณ์ที่ประเทศยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ทั้งสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
และสถานการณ์อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยเป็นมา
เอื้อให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
โดยตลาดต่างคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้
แต่คำถามสำคัญ คือ ธนาคารกลางยุโรปจะใช้ยาแรงแค่ไหน
เพื่อคุมเงินเฟ้อที่กำลังจะฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค
📌 สถานการณ์เงินเฟ้อในภูมิภาคยุโรป
อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคยุโรปประจำเดือนสิงหาคม คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 9.1%
เพิ่มจาก 8.9% ในเดือนกรกฎาคม
หากพิจารณาองค์ประกอบหลักของอัตราเงินเฟ้อ ก็จะพบว่า
ราคาพลังงานปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากเดิม 39.6% ในเดือนกรกฎาคม
เป็น 38.3% ในเดือนสิงหาคม
ในขณะที่ อาหาร แอลกอฮอล์ และยาสูบ เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับ 9.8% ในเดือนกรกฎาคม
โดยเป็นผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่ไปทำลายผลผลิตทางการเกษตร ทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น
1
สินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงาน เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน และรถยนต์ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ในส่วนของภาคบริการเพิ่มขึ้น 3.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.7% ในเดือนกรกฎาคม
ในส่วนของเงินเฟ้อรายประเทศ จะพบว่า
อัตราเงินเฟ้อในสเปนและฝรั่งเศสชะลอตัวลง
โดยอัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสลดลงเหลือ 6.5% ในเดือนสิงหาคม
ลดลงจาก 6.8% ในเดือนกรกฎาคม
อัตราเงินเฟ้อของสเปนลดลงเหลือ 10.3% ในเดือนสิงหาคม
จากเดิม10.7% ในเดือนกรกฎาคม
ในขณะที่เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของภูมิภาคยุโรป พบว่า
มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9% ซึ่งทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1990
📌 อัตราการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์
จำนวนผู้ว่างงานในยูโรโซนลดลงต่ำกว่า 11 ล้านคนเป็นครั้งแรก
หรือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.6% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
สำนักงานสถิติประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานอย่างเป็นทางการในกลุ่มยูโรโซน 19 ประเทศ
ลดลง 77,000 คนในเดือนกรกฎาคม และอัตราการว่างงานของกลุ่มนี้อยู่ที่ 6.7% ในเดือนมิถุนายน
ในขณะที่ทั้งสหภาพยุโรป จำนวนผู้ว่างงานลดลง 113,000 คนในเดือนกรกฎาคม
ลดลงต่ำกว่า 13 ล้านคนเป็นครั้งแรก และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 6%
ในส่วนของอัตราการว่างงานของเยาวชน พบว่า
การว่างงานของเยาวชนในสหภาพยุโรป ลดลง 55,000 คน เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม
และอัตราการว่างงานของเยาวชนอยู่ที่ 14.0%
ลดลงจาก 14.2% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน
ส่วนในเขตยูโรโซน การว่างงานของเยาวชนลดลง 35,000 คน เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม
และอัตราการว่างงานของเยาวชนอยู่ที่ 14.2%
ลดลงจาก 14.4% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน
📌 ทางเลือกที่ลำบากใจของธนาคารกลางยุโรป
อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานในยุโรป
และ ความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรง จากที่ถูกเรียกร้องโดยสหภาพแรงงาน
ทำให้หลายคนมองว่า สิ่งเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางยุโรป
ใช้ยาแรงขึ้นดอกเบี้ย 75 basis points เพื่อสยบเงินเฟ้อ ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้
โดยธนาคารกลางยุโรปเคยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 basis points แล้วในเดือนกรกฎาคม
ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ
สมาชิกสภา ECB บางคนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 75 basis points
เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนฝักรางลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจ
นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 basis points เช่นกัน ผลักดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดของผู้บริโภคที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น
จากราคาก๊าซและภัยแล้ง กำลังเป็นปัจจัยกดดันการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป
ในตอนนี้ยุโรปกำลังเจอกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อสูง
หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ Stagflation ทำให้ธนาคารกลางเหลือทางเลือกเดียว คือ
การเพิ่มความเจ็บปวดให้กับชาวยุโรปกว่า 340 ล้านคน
เพราะการใช้ยาแรงด้วยการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด
อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปลดลง
รวมไปถึงส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับรัฐบาล บริษัท และครัวเรือนสูงขึ้น
ตอกย้ำบาดแผลให้กับชาวยุโรปเจ็บขึ้นไปอีก
1
ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยก็ดูเหมือนจะยากขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
เน้นย้ำถึงความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูง จะไปกดดันให้ครัวเรือนเหลือเงินไปใช้จ่ายในสินค้าอื่น ๆ ลดลง โดยเฉพาะบริการ
ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน
โดยภาคส่วนที่ใช้พลังงานมากมีแนวโน้มว่าจะลดการผลิตลง
ส่งผลไปยังปัญหาอุปทานของสินค้าและอาจทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อแย่ลงได้
สิ่งสำคัญในตอนนี้ คือ การตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรปที่จะต้องตัดสินใจอย่างถูกต้อง
และควบคุมไม่ให้อัตราเงินเฟ้อฝังรากลึกในยุโรปก่อนที่จะสายเกินแก้…
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
#APEC2022THAILAND #เอเปค2565 #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ #OfficialCommunicationPartner
โฆษณา