16 ก.ย. 2022 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยเรามีความผูกพันกับความเชื่อมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจเริ่มต้นจากความศรัทธาตั้งมั่นศาสนาที่ตัวเองนับถือก่อน แล้วต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อนั้น ๆ หลอมรวมกันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราโดยไม่รู้ตัว ความเชื่อหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากในประเทศไทยคือความเชื่อในวัตถุมงคล เช่น พระเครื่อง เทวรูป เครื่องรางของขลัง เพราะมีความเชื่อว่าวัตถุดังกล่าวจะเป็นผู้ช่วยให้สิ่งที่เราทำอยู่ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ช่วยให้เราแคล้วคลาดปลอดภัย
รวบรวมไอเดียผสมผสานความเชื่อเข้าไปในธุรกิจแบบญี่ปุ่น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาและวัตถุมงคลมากมายในประเทศไทย เช่น จตุคามรามเทพ, ตุ๊กตาลูกเทพ, พระตรีมูรติ, ไลลา, ไอ้ไข่แห่งวัดเจดีย์ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเชื่อความศรัทธาอย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัตถุมงคลเป็นจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราไม่อาจประเมินค่าได้
เรื่องราวความเชื่อและความศรัทธาดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังสามารถหาได้ในที่อื่นๆ ทั่วโลก ในประเทศญี่ปุ่นเองจากประสบการณ์ที่ผมได้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมา 7 ปี รวมทั้งการอ่านแบบสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของ ISSP (The International Social Survey Programme ของ NHK) เกี่ยวกับความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่มีต่อศาสนา พบว่าคนญี่ปุ่นในปัจจุบันแม้ไม่ได้มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาเข้มข้นมากเท่าไหร่นัก
แต่ยังมีความผูกพันกับความเชื่อความศรัทธาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลอง 7 5 3 ที่พ่อแม่ญี่ปุ่นจะนิยมพาลูกไปศาลเจ้าที่ตนเองนับถือเมื่อลูกมีอายุ 3 ขวบ, 5 ขวบ และ 7 ขวบ พร้อมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก, การแต่งงานในพิธีแต่งงานแบบชินโตที่จะจัดขึ้นที่ศาลเจ้าชินโต, การนิยมซื้อเครื่องรางที่จะเห็นได้ทั่วไปในวัดและศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
ในบทความนี้ผมจึงอยากมาเล่าเรื่องราวธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นที่มีความเข้าใจเรื่องความศรัทธาและความเชื่อของผู้คน และพยายามผสมผสานความเชื่อเข้าไปในธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
OMAMO ธุรกิจเครื่องรางญี่ปุ่น Order Made ออนไลน์ ที่จะออกแบบเครื่องรางตามคำขอ พร้อมการปลุกเสกจากพระญี่ปุ่น
ตัวอย่างเครื่องรางญี่ปุ่น order made สามารถเลือกสิ่งที่จะขอพร และเลือกลายได้ ราคา 3,000 เยน (รวมภาษีและค่าจัดส่งในประเทศญี่ปุ่น) photo credit: https://www.youtube.com
โดยปกติแล้วเมื่อคนญี่ปุ่นไปขอพรที่ศาลเจ้าหรือวัด มักจะซื้อเครื่องรางเพื่อให้สมหวังตามความปรารถนาในด้านต่างๆ เช่น ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ, ให้ความรักยืนยาว, ให้ประสบความสำเร็จด้านการเรียน, ขับขี่ปลอดภัย เป็นต้น
ซึ่งเครื่องรางในรูปแบบดั้งเดิมนั้นมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ คือไม่สามารถตอบโจทย์ทุกความปรารถนาได้ และมีลวดลายค่อนข้างจำกัด ทาง OMAMO เห็นช่องว่างทางการตลาดตรงนี้จึงออกแบบ “เครื่องรางแบบ Order Made” ที่จะถูกปลุกเสกโดยพระ Chiko Sakai รองเจ้าอาวาสวัด Ikegami Jisso ในกรุงโตเกียว
ผู้ที่สนใจซื้อเครื่องรางสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ Omamo.me แล้วเข้าไปสั่งเครื่องรางญี่ปุ่นในแบบเฉพาะของตัวเอง โดยระบุ “ชื่อ” “ความกังวล หรือความปรารถนา” พร้อมเลือกลวดลายที่ชอบ (หรือสามารถเลือกลวดลายแบบ “โอมาคาเสะ” คือให้พระเลือกลวดลายให้เราก็ได้) เพียงเท่านี้ก็จะได้เครื่องรางที่พระปลุกเสกให้ตามความต้องการของเราเอง
โดยทางวัดจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนหลังจากสั่ง ตัวอย่างการระบุ “ความกังวล” หรือ “ความปรารถนา” ก็มีหลากหลายเลย ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ไม่อยากฉี่รดที่นอน, ผู้หญิงที่อยากให้สามีรักสามีหลง, คนที่ไม่อยากนอนกรน, คนที่ไม่อยากหัวล้าน, คนที่อยากเป็นที่รู้จักมากขึ้น และโด่งดังในวงการบันเทิง เป็นต้น
นอกจากความตั้งใจปลุกเสกให้ตามความปรารถนาของแต่ละคนแล้ว ทางดีไซเนอร์ของ OMAMO ยังออกแบบลวดลายเครื่องรางญี่ปุ่นอย่างพิถีพิถัน โดยใช้ลวดลายโบราณของประเทศญี่ปุ่น เช่น SEIGAIHA (คลื่น), YAGASURI (ลูกศร), YOSHIWARA TSUNAGI (โซ่) เอามาออกแบบให้มีความหมาย พร้อมกับความนำสมัยเข้ากับทุกเพศทุกวัย
เครื่องรางป้องกันไม่ให้ฉี่รดที่นอน ออกแบบด้วยลายน้ำไหล (Ryusui) ด้านบน แต่ Block น้ำไหลด้วยลายกำแพง (Higaki) ด้านล่าง photo credit: https://www.youtube.com
ด้วยความพิเศษดังกล่าวจึงทำให้เครื่องรางแบบ Order Made ของ Omamo มียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างถล่มทลาย จากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ตอนแรกว่าอยากมียอดขายแค่เดือนละ 50 ชิ้นก็พอแล้ว กลายเป็นยอดขายมากกว่า 6,000 ชิ้น ภายในระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น โดยช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้ามีเพียงแค่เว็บไซต์พร้อมคลิปวิดีโอเพียงที่เดียวเท่านั้น
OMAMORI MEISHI นามบัตรนำโชคที่เขียนโดยลายพู่กันของพระ EIJYU HAYASHI รองเจ้าอาวาสวัด JYOKOJI วัดในพระพุทธศาสนานิกายชินกอน
ตัวอย่างนามบัตรนำโชคที่มีการใช้ลายพู่กันของพระ EIJYU HAYASHI ในนามบัตร ราคา 15,950 เยน (ราคารวมภาษี) / 1 กล่อง (100 ใบ) photo credit: https://www.omamorimoji.jp
แม้ในปัจจุบันอาจจะมีการใช้นามบัตรลดลงไปบ้าง แต่นามบัตรยังถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจของคนญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นมักแลกนามบัตรระหว่างกันเมื่อพบกันครั้งแรกเสมอ โดยนามบัตรที่เราคุ้นเคยกันมักจะมีข้อมูลจำเป็น เช่น ชื่อ-นามสกุล, ตำแหน่ง, บริษัท, ที่อยู่บริษัท, เบอร์โทรศัพท์และอีเมลติดต่อ เป็นต้น
โดยใช้ตัวอักษรที่เรียบง่าย อ่านง่ายอย่างที่เราคุ้นเคยกันแต่ OMAMORI MEISHI หรือนามบัตรนำโชคเป็นไอเดียของพระ EIJYU HAYASHI รองเจ้าอาวาสวัด JYOKOJI ที่อยากเปลี่ยนนามบัตรธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นนามบัตรนำโชค โดยใช้ความสามารถการเขียนพู่กันของตัวเองออกแบบลายพู่กันลงในนามบัตรให้ลูกค้า
ซึ่งสร้างมูลค่าและเพิ่มความแตกต่างเมื่อเทียบกับนามบัตรทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของนามบัตรเองยังสามารถใช้เป็นเรื่องราวที่ใช้พูดคุยกับคนที่จะมอบนามบัตรให้ได้ด้วย
ภาพบรรยากาศห้องเรียนสอนเขียนพู่กันของพระ EIJYU HAYASHI ที่ได้รับความนิยมมาก และมีผู้เข้าเรียนในปัจจุบัน ประมาณ 100 คน photo credit: https://www.omamorimoji.jp
ลูกค้าคนหนึ่งที่ใช้บริการ OMAMORI MESHI เล่าว่า เขาชอบตรงที่สามารถใส่ประโยคที่ชอบไว้ที่ด้านหลังนามบัตรได้ และให้พระ EIJYU HAYASHI เขียนประโยคนั้นๆ เป็นลายพู่กัน เขาบอกว่า ใช้นามบัตรนี้ได้ไม่นานก็รู้สึกว่า ได้รับโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเขาก็เชื่อว่า อาจจะมาจากนามบัตรนำโชคที่เขาสั่งทำกับพระ EIJYU HAYASHI ก็ได้
ทั้งสองตัวอย่างนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของไอเดียธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นที่ผสมผสานความเชื่อความศรัทธาเข้าไปในธุรกิจด้วย จะสังเกตได้เลยว่า ทั้งเครื่องรางญี่ปุ่นของ OMAMO และนามบัตรนำโชคของ OMAMORI MEISHI นั้น สามารถขายในราคาที่สูงกว่าราคาปกติมาก แล้วมียอดการสั่งซื้อเข้ามาแบบไม่ขาดสายด้วย
หวังว่าจะเป็นไอเดียเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคุณผู้อ่านที่กำลังมองหาไอเดียทางธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ความเชื่อความศรัทธาฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด ถ้าเรามองเห็นช่องว่าง หรือความต้องการทางการตลาดก็ไม่เสียหลายที่จะลองทำดูครับ
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โฆษณา