8 ก.ย. 2022 เวลา 06:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Rocky VS Rambo หนังยุค 80 ของซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ที่เข้ากับสถานการณ์รัสเชีย – ยูเครนได้ลงตัว
ดูข่าวสงครามรัสเชีย - ยูเครน แล้วให้นึกถึงซิลเวสเตอร์ สตอลโลน กับร็อกกี้และแรมโบ้ ลูกรักของอเมริกาในยุคสงครามเย็น ซึ่งในช่วงโควิดระบาดอย่างหนักในอเมริกา ทำให้กองถ่ายหนังฮอลลีวูดต้องหยุดชะงัก พักตั้งหลัก แต่กลับเป็นโอกาสที่ดีของซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ในการนำหนังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเขามาปัดฝุ่น ตัดต่อใหม่ เล่าเรื่องใหม่
นั่นคือหนัง Rocky IV ที่ออกฉายในปี 1985 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดความตึงเครียดสูงสุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็น ไม่แพ้ช่วงวิกฤตการณ์คิวบาในต้นยุค 1960 จนเกือบเกิดสงครามนิวเคลียร์ สตอลโลนตัดใหม่จนได้หนัง Rocky IV: Rocky vs. Drago แล้วออกฉายในโรงหนังพร้อมทั้งสตรีมมิ่ง ที่สำคัญมันเยี่ยมยิ่งกว่าของเดิมมาก
Rocky วีรบุรุษอเมริกันในยุคตื่นสงครามนิวเคลียร์
ส่วนในยุค 80 โลกก็ตึงเครียดจากการกลัวภัยสงครรามนิวเคลียร์ไม่แพ้กัน หนังของเครือข่ายสถานี ABC อย่างเรื่อง The Day After ในปี 1983 เป็นที่เรื่องสมมติขึ้นระหว่างกองกำลังนาโต้ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาวอร์ซอที่นำโดยสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์เต็มรูป ยิ่งหว่านั้นยังมีหนังอย่างWarGames ที่ออกฉายปีเดียวกันที่ว่าถึงสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นง่ายเพียงแค่การกดปุ่มเหมือนเด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์
Rocky IV ตามมาในสองปีให้หลังพร้อมกับการเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกันเต็มรูปแบบ และไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปีแล้ว สิ่งที่ยังอยู่ในหนัง Rocky IV คือความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป และเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ง่ายกว่ายุค 1980 เสียอีก
สำหรับซิลเวสเตอร์ สตอลโลนแล้ว เขาถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของฮีโร่อเมริกันในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะกับบทบาทติดตัวเขา 2 บท คือ ร็อกกี้ บัลเบา และ จอห์น แรมโบ้
หนังที่ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของความเป็นอเมริกันและสงครามเย็นชัดเจนที่สุดของซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ทั้งซีรีส์ Rocky และ Rambo ซึ่งสตอลโลนได้ทำให้เห็นว่าสงครามเย็นเป็นสงครามเชิงอุดมการณ์ที่อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อของสองประเทศมหาอำนาจคือสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา
ในหนังชุด Rocky ที่เขาคิดเรื่องและเขียนบท แสดงนำ และเป็นผู้กำกับเองในบางภาคด้วยนั้น มันได้สะท้อนภาพวิธีคิดของอเมริกันชน โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องของ American Dream ได้อย่างชัดเจน หนัง Rocky มีทั้งหมดด้วยกัน 6 ภาค สะท้อนชีวิตของนักมวยโนเนมอย่างร็อกกี้ บัลเบาที่ต่อสู้จนกลายเป็นแชมป์โลก หลังจากนั้นชีวิตก็มีวิกฤตตกอับบ้าง เป็นนักสู้ข้างถนนบ้าง แต่ก็ลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง จริงๆ แล้วตัวหนัง Rocky แฝงแนวความคิดในเรื่องการเมืองและวิถีทางของอเมริกันชนไว้อย่างเต็มเปี่ยม
หนังภาคที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในซีรีย์นี้คือ Rocky IV ที่ออกฉายในปี 1985 แสดงภาพสงครามเย็นออกมาได้อย่างชัดเจน ตัวเนื้อหานั้นพูดถึงรัสเซียสร้างนักชกที่แข็งแกร่งจากเทคโนโลยีชั้นสูง นั่นก็คืออีวาน ดราโก้ เขามาถึงอเมริกาและขึ้นชกกับอพอลโล ครีดเพื่อนและเทรนเนอร์คู่ใจของร็อกกี้ ดราโก้ต่อยอพอลโลจนบาดเจ็บหนักและเสียชีวิตคาเวที
เพื่อจะล้างแค้นให้กับเพื่อนพร้อมกับแบกประเทศชาติไว้กลางหลัง ร็อกกี้จะแพ้นักชกรัสเซียนี้ไม่ได้ เขายอมสละแชมป์โลกและเดินทางสู่รัสเซียเพื่อฝึกฝนอย่างหนัก อาศัยธรรมชาติที่หนาวเหน็บมาช่วยในการฝึกฝนโดยขึ้นต่อสู้ครั้งสุดท้ายกับอีวาน ดราโก้บนผืนแผ่นดินรัสเซีย ท่ามกลางความเกลียดชังของผู้ชมแต่ร็อกกี้ก็สามารถเอาชนะใจชาวรัสเซียได้ มันมาจากวิญญาณนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ จนเรียกเสียงเชียร์ให้ทั้งสนามเรียกตะโกนชื่อเขา
"ร็อกกี้ ร็อกกี้ ร็อกกี้ .... "
เสียงเชียร์ดังกระหึ่มเสมือนเทพนิยายสงครามเย็น และสุดท้ายเขาก็เอาชนะอีวาน ดราโก้มาได้ ส่งจอมเพชฆาตที่ชกอพอลโล ครีดตายคาเวทีไปใช้แรงงานที่ไซบีเรีย
หนัง Rocky IV ถูกเทียบเคียงกับการต่อสู้ในสงครามเย็นของอเมริกาซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ให้ดีๆ แล้วจะเห็นว่าในการเปิดเรื่องของหนังที่อีวาน ดราโก้ขึ้นชกกับอพอลโล ครีดนั้น มันเปรียบเสมือนการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของอเมริกาแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง
ในส่วนของการฝึกซ้อมของร็อกกี้ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บของรัสเซียนั้น มันเปรียบเสมือนการต่อสู้ในช่วงสงครามเย็น การฝึกซ้อมเต็มไปด้วยความตึงเครียดยากลำบาก ในขณะที่อีวาน ดราโก้ก็ซ้อมเช่นกัน แต่เขาอยู่ในห้องทดลอง ห้องฟิตเนส ที่มีอุปกรณ์ทันสมัย และฉากต่อสู้สุดท้ายของนักชกทั้งคู่คือสองขั้วมหาอำนาจปะทะกัน
แม้ว่าในสงครามเย็นจริงๆ ทั้งอเมริกาและรัสเซียจะไม่ได้ออกอาวุธใส่กันเป็นสงครามเต็มรูปแบบแต่มันก็เป็นการอุปมาถึงความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ และเมื่อตอนท้ายที่ผู้ชมชาวรัสเซียต่างตะโกนเรียกชื่อร็อกกี้นั้น มันก็เป็นเหมือนการบ่งบอกชัยชนะของอเมริกาที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากหนัง Rocky IV ออกฉายไม่นาน สหภาพโซเวียตก็ถึงคราวล่มสลายและถึงจุดจบของสงครามเย็นครั้งที่ 1
"ผมมาที่นี่คืนนี้และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ผมเห็นคนจำนวนมากเกลียดผม ผมไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น ผมคิดว่าพวกเขาคงไม่ชอบใครมากเช่นกัน ระหว่างการต่อสู้ครั้งนี้ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย ความรู้สึกของคุณที่มีต่อผม หรือความรู้สึกที่มีต่อคุณของผม ในที่นี้มีแค่ผู้ชาย 2 คนที่กำลังจะฆ่ากัน ซึ่งมันก็ดีกว่าให้คน 20 ล้านคนมาฆ่ากันเป็นไหนๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมกำลังทำ พยายามจะพูดก็คือ ถ้าผมเปลี่ยนได้ พวกคุณเปลี่ยนได้ ทุกคนก็เปลี่ยนได้"
คำพูดในตอนท้ายของร็อกกี้เป็นคำบอกใบ้ เขาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัสเซีย ในประโยคคำพูดที่ว่าถ้าผมเปลี่ยนได้ คุณเปลี่ยนได้ ทุกคนก็เปลี่ยนได้ เป็นการสะท้อนภาพความคิดของอเมริกันชนในการยุติสงครามเย็นในช่วงนั้นจริงๆและสะท้อนภาพว่าการเปลี่ยนแปลงมันอาจจะนำมาซึ่งอเมริกาเป็นมหาอำนาจชาติเดียว หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในหลายปีต่อมา
Rocky IV ฉายปฐมทัศน์ในเดือนพฤศจิกายน 1985 และเช่นเดิมประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนได้ดูหนังเรื่องนี้ ถึงกับบอกว่า Rocky IVเป็นหนังที่ตอนจบมีความสุขมากเมื่อร็อกกี้เอาชนะรัสเซีย ซึ่ง Rocky IVเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรแกนทุ่มสุดตัวกับการทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตในช่วงกลางทศวรรษ 1980
ในช่วงยุคสงครามเย็นนั้นสื่อถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่พลเมือง อเมริกาใช้หนังฮอลลีวูดเป็นกองหน้าสำคัญในการต่อต้านภัยคุกคามรวมไปถึงการโฆษณาชวนเชื่อหาพันธมิตร ชัยชนะของร็อกกี้ที่มีต่อดราโก้มันก็เป็นเสมือนตัวแทนความคิดของคนอเมริกันในยุคนั้น
และถ้าหากจำกันได้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอย่างโรนัลด์ เรแกนก็เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาชื่นชมหนัง Rocky IV ค่อนข้างมาก รวมไปถึงแกยังเป็นแฟนตัวยงของแรมโบ้ถึงขนาดให้ซิลเวอสเตอร์ สตอลลโลนเข้าพบที่ทำเนียบขาว พร้อมทั้งระบุว่าให้พกโปสเตอร์หนัง Rambo พร้อมลายเซ็นของสตอลโลนมาให้ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไม่ยินยอมให้สตอลโลนเอาโปสเตอร์เข้าไป แต่สุดท้ายเขาก็ส่งโปสเตอร์ไปให้เรแกนได้ ปัจจุบันโปสเตอร์พร้อมลายเซ็นที่ส่งมอบให้ก็ยังอยู่ในห้องสมุดประธานาธิบดีเรแกน
ก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เป็นนักแสดงแล้วก็เห็นถึงพลังอำนาจของหนังฮอลลีวูด เคยกล่าวชื่นชมงานของฮอลลีวูดหลายต่อหลายครั้ง เคยเป็นประธานของสมาคมนักแสดง เรแกนนั้นชื่นชอบแรมโบ้มาก จนถึงขนาดในยุคนั้นมีการทำโปสเตอร์ล้อเลียนเป็นโปสเตอร์ที่ชื่อว่า Ronbo ซึ่งเป็นการล้อเลียนที่เอาคำว่าโรนัลด์และแรมโบ้มารวมกัน โดยโปสเตอร์ที่ต้นฉบับเป็นซิลเวสเตอร์ สตอลโลนในบทแรมโบ้ถือปืนกลและยิงกระหน่ำออกไป แต่สลับหน้าเรแกนมาแทนที่หน้าสตอลโลน
………………..
RAMBO ลูกรักของประธานาธิบดีเรแกน
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนรักในหนัง Rambo มาก โดยในเดือนตุลาคม 2528 ซิลเวสเตอร์ สตอลโลนได้รับเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาวประธานาธิบดีเรแกนขอให้เขานำโปสเตอร์พร้อมลายเซ็นของ Rambo มาให้ด้วยตามที่เล่าถึงไปแล้ว
ในหนังภาค 2 ของจอห์น แรมโบ้ คือ Rambo เขาจะต้องไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือทหารผ่านศึกที่ถูกจับเป็นเชลยหลังสงครามเวียดนาม แรมโบ้ต้องลุยไปถึงเวียดนาม ซึ่งจริงๆ แล้วเหตุการณ์ในสังคมอเมริกันช่วงนั้นมันก็มีกระแสสอบถามเรื่องทหารอเมริกันที่ยังมีชีวิตและถูกจับในเวียดนามว่ามีอยู่จริงหรือไม่
มีการนำเอาตัวเลขทหารที่ไปรบในเวียดนามแล้วกลับคืนประเทศได้อย่างปลอดภัยกับตัวเลขผู้เสียชีวิต เมื่อจับตัวเลขชนกันแล้วปรากฏว่ามีตัวเลขไม่ตรงกัน ซึ่งก่อนหน้า Rambo ออกฉาย 1 ปี ก็มีหนังของชัค นอร์ริส เรื่อง Missing in Action ที่เล่าเรื่องการช่วยทหารอเมริกันที่ถูกจับในเวียดนามออกฉายก่อนหน้า
ความสำเร็จของ Rambo เป็นการเปลี่ยนภาพแรมโบ้ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของสงครามเย็นฝั่งอเมริกาไปในทันที หลังจากนั้นวันที่ 1 มกราคม 2531 แรมโบ้ 3 ออกฉาย คราวนี้แรมโบ้สู้กับทหารโซเวียตในอัฟกานิสถานโดยตรง ยิ่งชอบอกชอบใจเรแกมไปใหญ่ถึงกับบอกว่า ใน First Blood แรมโบ้ภาคแรกเขาแค่ยึดเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่ง แต่ในภาค 2 เขาเอาชนะกองทัพคอมมิวนิสต์หลายกองด้วยตัวคนเดียว และในตอนนี้แรมโบ้ภาคที่ 3 เขาแข็งแกร่งมาก
ซึ่งก็น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันที่แรมโบ้ 2 และ 3 มันก็เป็นสมรภูมิสงครามที่อยากจะลืมไปของ 2 ประเทศอภิมหาอำนาจคู่กับสงครามเย็น เพราะอเมริกาแพ้จากสงครามเวียดนามถอยกลับประเทศ ส่วนรัสเซียกับสมรภูมิอัฟกานิสถานมันก็คือสงครามเวียดนามสำหรับรัสเซียที่มีผลเหมือนกับอเมริกา
ทั้งแรมโบ้และร็อคกี้ในยุค 80 ที่มีรัสเซียเป็นศัตรูตัวหลักนั้น ทำให้สหภาพโซเวียตเคยออกมาบ่นว่าทำไมหนังฮอลลีวูดต้องใช้วายร้ายให้เป็นพวกคอมมิวนิสต์ในโครงเรื่องด้วย โดยระบุว่าแรมโบ้และร็อคกี้ได้ส่งเสริมความรู้สึกต่อต้านโซเวียต
แต่แจ็ค วาเลนติประธานสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกาหรือ MPAA ในขณะนั้น ออกมาทำให้สัมภาษณ์ว่างานของผู้สร้างหนังก็คือการให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือความหมายง่ายๆ ว่าการขายตั๋วเป็นธุรกิจของคนทำหนังอยู่แล้ว ส่วนการล่วงละเมิดรัฐบาลไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลไป
หนังโดยทั่วไปแล้วจะสะท้อนอารมณ์ของสังคมอยู่เสมอ ตัวหนังนั้นช่วยหล่อหลอมความคิดเห็นในเชิงสาธารณะชนโดยเฉพาะตัวละครอย่างร็อกกี้และแรมโบ้ถือว่าเป็นตัวละครที่ทรงอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมมาตลอดช่วงระยะเวลากว่า 40 ปี
ถ้าจะว่าไปแล้วหากสังขารปัจจุบันของซิลเวสเตอร์ สตอลโลนนยังพอไหวอยู่ ดีไม่ดีเราอาจจะเห็นแรมโบ้ไปลุยศึกยูเครนก็เป็นได้
…………………………..
โฆษณา