9 ก.ย. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
ทำไม กูลิโกะ ใช้โลโก เป็นรูปนักวิ่ง
ใครที่เคยกินขนมแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง กูลิโกะ คงจะเคยสังเกตเห็นโลโกที่เป็น นักวิ่งมาราธอน ยกแขน 2 ข้าง เหมือนกำลังดีใจตอนวิ่งเข้าเส้นชัย
แล้วนักวิ่งมาราธอน เกี่ยวข้องอะไรกับแบรนด์ขนมหวาน
BrandCase จะสรุปให้ฟังแบบง่าย ๆ
- ต้นกำเนิดที่มาจากการห่วงใยสุขภาพ
ผู้ก่อตั้งอย่าง คุณริอิจิ เอซากิ ได้ค้นพบว่า มีสารไกลโคเจนปริมาณมากอยู่ในน้ำต้มหอยนางรม
ซึ่งสารไกลโคเจนตัวนี้ ถือเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับร่างกาย
แต่ในเวลาต่อมา ลูกชายของเขาเกิดป่วยเป็นไข้รากสาดใหญ่ และหมอก็หมดหนทางที่จะรักษา
คุณริอิจิจึงตัดสินใจนำสารสกัดไกลโคเจน ที่เขากำลังศึกษาอยู่มาให้ลูกชายกิน (ภายใต้การอนุมัติของหมอ)
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะลูกชายของเขาค่อย ๆ มีอาการดีขึ้น จนกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
เรื่องนี้จึงทำให้เขามีความคิด อยากนำไกลโคเจน ที่ช่วยลูกชายของเขา ไปใช้กับสังคมในวงกว้างมากขึ้น
และนี่จึงเป็นที่มาของ แบรนด์กูลิโกะ
ที่คุณริอิจิ มีความตั้งใจอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีไกลโคเจน เป็นส่วนประกอบนั่นเอง
- จุดเริ่มต้นของนักวิ่ง
หลังจากการศึกษาค้นคว้า คุณริอิจิ พบว่าช่วงวัยที่ต้องการไกลโคเจนมากที่สุด คือ วัยเด็ก เขาจึงตัดสินใจว่าจะนำมันไปผสมกับคาราเมล ซึ่งเป็นของหวานที่เด็ก ๆ ชอบ ในเวลานั้น
1
ซึ่งผลิตภัณฑ์แรก ของกูลิโกะ ก็คือ ลูกอมคาราเมลรูปหัวใจ ที่เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 1921 พร้อมแพ็กเกจจิง ที่มีโลโกรูปนักวิ่ง
โดยโลโกรูปนักวิ่งนี้ก็มาจาก การที่คุณริอิจิ ได้เห็นเด็กวิ่งแข่งกันใกล้ ๆ บ้านของเขา
ทำให้เขามองว่า นักวิ่งที่กำลังชูแขนสองข้างขณะวิ่งเข้าเส้นชัยนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ดีต่อสุขภาพ
และโลโกนี้ก็กลายเป็นที่มาของสโลแกนดัง ของลูกอมคาราเมลในตอนนั้น
นั่นก็คือ “300 Meters in a Single Piece”
หรือก็คือ ลูกอมคาราเมล 1 เม็ด มีจำนวนแคลอรีเพียงพอที่จะวิ่งได้ 300 เมตรนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ในปีต่อมาลูกอมคาราเมล ก็ได้ถูกวางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในโอซากาอย่าง ห้างมิทสึโคชิ
1
และด้วยความผูกพันที่มีให้กับเมืองนี้ ทางกูลิโกะก็ได้สร้างป้ายนีออน รูปนักวิ่งขนาดใหญ่ ที่ย่านโดทงโบริ ในช่วงปี 1935
ซึ่งป้ายนักวิ่งนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาหลายเวอร์ชัน ตามเทศกาล หรืองานสำคัญต่าง ๆ และกลายมาเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ที่คนไปเที่ยวโอซากาต้องแวะไปถ่ายภาพกับ รูปนักวิ่งรูปนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่กูลิโกะ เขียนด้วยภาษาอังกฤษว่า Glico ซึ่งก็แผลงมาจากคำว่า Glycogen หรือไกลโคเจน นั่นเอง..
1
โฆษณา