8 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • หนังสือ
เริ่มต้นลงทุนง่าย ๆ ด้วยกองทุนรวม
ตอนที่ 3 ทำความรู้จักกับตราสารหนี้
"ตราสารหนี้" ก็คือตราสารทางการเงินชนิดหนึ่ง โดยนักลงทุนมีสถานะเป็น "เจ้าหนี้" ส่วนผู้ออกตราสารมีสถานะเป็น "ลูกหนี้" โดยที่ "เจ้าหนี้" จะได้รับดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอและจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุตราสาร
ซึ่งโอกาสที่เราจะได้รับเงินคืนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า "ใครคือลูกหนี้ของเรา?" ยิ่งลูกหนี้มีความมั่นคงและมีเครดิตที่ดี ก็สามารถการันตีได้ว่า โอกาสที่เราจะได้รับเงินคืนนั้นยิ่งมีสูงครับ
ถ้าแบ่งตามระยะเวลาการถือครอง ตราสารหนี้จะถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.ตราสารหนี้ระยะสั้น (ระยะเวลาต่ำกว่า หรือเท่ากับ 1 ปี)
2.ตราสารหนี้ระยะกลาง (ระยะเวลา 2-10 ปี)
3.ตราสารหนี้ระยะยาว (ระยะเวลา 10-30 ปี)
การเรียกชื่อตราสารหนี้ประเภทต่างๆ
1.พันธบัตรรัฐบาล
อายุ : 1 ปีขึ้นไป
ผู้ออกตราสาร : กระทรวงการคลัง
2.ตั๋วเงินคลัง
อายุ : น้อยกว่า 1 ปี
ผู้ออกตราสาร : กระทรวงการคลัง
3.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
อายุ : 1 ปีขึ้นไป
ผู้ออกตราสาร : รัฐวิสาหกิจ
4.หุ้นกู้
อายุ : 1 ปีขึ้นไป
ผู้ออกตราสาร : บริษัทเอกชน
5.ตั๋ว (B/E) หุ้นกู้ระยะสั้น
อายุ : น้อยกว่า 1 ปี
ผู้ออกตราสาร : บริษัทเอกชน
จะเห็นได้ว่า ลูกหนี้ที่จะมาออกตราสารให้กับเราจะถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น การที่เรามีลูกหนี้เป็นรัฐบาลย่อมมีความมั่นคงและเสถียรภาพมากกว่าเอกชน โอกาสการถูกเบี้ยวหนี้ (Default) ก็ต่ำกว่า แต่ก็ให้ผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำกว่าภาคเอกชนเป็นข้อแลกเปลี่ยน
องค์ประกอบของตราสารหนี้ (ขออธิบายคร่าวๆ พอให้รู้จักนะครับ เพราะถ้าลงรายละเอียดลึกเกินไปเดี๋ยวจะงงกัน แหะๆ)
1.มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value / Face Value)
คือมูลค่าหน้าตั๋วที่ผู้ถือจะได้รับชำระเมื่อครบอายุตราสารหนี้ ส่วนใหญ่กำหนดมูลค่าไว้เท่ากับ 1,000 บาท/หน่วย
2.อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate)
คืออัตราผลตอบแทนที่ผู้ออกตราสารจะจ่ายให้ผู้ถือตราสารตามงวดระยะเวลาที่กำหนด จนกว่าจะครบอายุตราสาร โดยอัตราดอกเบี้ยนั้น มีทั้งอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่และอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว
3.Yeild to Maturity (YTM)
คือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลตอบแทนของตราสารหนี้ คำนวณจากกระแสดอกเบี้ยที่จะได้รับตลอดจนครบอายุตราสารหนี้ และเงินต้นที่จะได้รับคืนตามราคาหน้าตั๋ว นำมาคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยมีสมมติฐานว่า ดอกเบี้ยที่ได้รับจะสามารถนำมาลงทุนต่อได้ที่อัตราผลตอบแทนเดียวกันนี้ และเป็นการถือจนครบอายุ (ขอไม่ลงรายละเอียดลึกมากนะครับ เดี๋ยวยาว แหะๆ) เอาแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ อัตราผลตอบแทนของตราสาร ถ้าเราถือตราสารนั้นจนครบอายุนั่นแล่ะครับ
4.วันหมดอายุ (Maturity Date)
วันที่ตราสารหนี้ครบอายุ และผู้ออกตราสารต้องคืนเงินต้นให้แก่ผู้ถือตราสาร ซึ่งยิ่งนานมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะพบกับความผันผวนของดอกเบี้ยและวิกฤติต่างๆ ก็มากขึ้นเท่านั้น เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (Default) เป็นต้น
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : กองทุนรวม 101
ผู้เขียน : ธนัฐ ศิริวรางกูร
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา