9 ก.ย. 2022 เวลา 02:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
GULF ทุ่มงบเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 49% โรงไฟฟ้า Jackson ที่สหรัฐ กำลังผลิต 1,200 MW คาดดีลจบธ.ค.นี้
GULF ส่งบริษัทย่อย Gulf Energy USA ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น กับกลุ่ม J-POWER เพื่อซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 49% หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นจำนวนกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) คาดเข้าถือหุ้นอย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม 2565
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF กล่าวว่า “การลงทุนในโครงการ Jackson ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ GULF ในการเข้าสู่ตลาดพลังงานของสหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้ถือหุ้นทั้งหมดโดย Jackson Partners ภายใต้กลุ่ม J-POWER ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นพันธมิตร
ที่แข็งแกร่งของบริษัทมามากกว่า 20 ปี และเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Gulf JP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP โรงแรก ๆ ของบริษัท GULF เชื่อมั่นว่าด้วยประสบการณ์ของเราในการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมายาวนาน จะสามารถนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญมาช่วยกันบริหารจัดการโครงการ Jackson ร่วมกับ J-Power ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ GULF จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึง J-Power ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย”
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวยังเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัทที่จะยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ และต้นทุนต่ำในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
เนื่องจากโครงการ Jackson เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Gas Turbine) ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโครงการ Jackson ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทสามารถรับรู้ผลประกอบการได้ทันที
โดยโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ตั้งอยู่ในเขตวิลล์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายระหว่างเพนซิลเวเนีย-นิวเจอร์ซีย์-แมริแลนด์ (Pennsylvania-New Jersey-Maryland Interconnection: PJM)
โดย PJM เป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี (Merchant Market) ที่มีความมั่นคงและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ อิลลินอยส์ อินดิแอนา เคนทักกี แมริแลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย เวสต์เวอร์จิเนีย และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (District of Columbia)
โครงการ Jackson มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากผู้ให้บริการก๊าซธรรมชาติรายใหญ่และเชื่อมต่อกับท่อก๊าซหลักถึง 3 เส้น ทำให้สามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโครงการได้อย่างพอเพียงในระยะยาว
โฆษณา