Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รักดี ดอท คอม - งานราชการ สมัครงานราชการ
•
ติดตาม
9 ก.ย. 2022 เวลา 13:32 • ไลฟ์สไตล์
วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อพราหมณ์มีสืบเนื่องกันมาช้านนานหลายพันปีเช่นนี้ จึงเป็นที่นับถือของคนทั้งปวง ในหนังสือต่าง ๆ ซึ่งชนที่นับถือพระพุทฐศาสนาแต่ง ที่สุดจนธัมมจักกับปปวัตนสูตรเป็นต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธภาษิตแท้ก็ยังเรียกสมณะกับพราหมณ์เป็นคู่กัน พราหมณ์เป็นที่นับถือไม่มีผู้ใดอาจหมิน่ประมาท ถ้าพราหมณ์เหมือนอย่างเช่นบ้านเราอย่างนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ยกขึ้นเป็นคู่กับสมณะ พราหมณ์เป็นที่นับถืออย่างเอกอย่างนับถือพระสงฆ์เช่นนี้
ประเพณีสารทไทยในภาคต่าง ๆ
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทยถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง) และมีชื่ออื่น ๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า "ก๋วย" แปลว่า "ตะกร้า"หรือ "ชะลอม" ส่วน "สลากภัต" หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก
นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวายมีทั้งของของมีราคามาก และมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ภาคใต้
ประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็นสองวาระคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น 4 อย่างคือ
1. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
2. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความ สัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลางดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารทหรือเดือนสิบ ซึ่งที่รู้จักกันดีคือ ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
4. ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับนรกตามเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเพณีการทำบุญในเดือน 10 เหมือนกัน คือ ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 แต่แบ่งระยะเวลาของประเพณีการทำบุญออกไปเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสาก ซึ่งคนไทยภาคกลาง เรียกว่า กระยาสารท
เมื่อเตรียมของทำบุญไว้เรียบร้อย ก็จะเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วย เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ผลัดกันไปผลัดกันมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสารหรือกระยาสารทนั้นจะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก
ระยะที่สอง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัดอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัดรักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพล ก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง
มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก และ อาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้ว ก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใด ก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
ส่วนห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้นเมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดทีเดียว ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข่าวใหญ่นี้ ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสาก หรือถวายกระยาสารทเท่านั้น
ความเชื่อ
วันสารท เป็นวันที่ถือเป็นคติและเชื่อสืบกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติในวันนี้และเชื่อว่า หากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้วญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรม และได้ไปเกิดหรือมีความสุข
อีกประการหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลักในช่วงเดือน 10 นี้ ได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว กำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทน และขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือแม่พระโพสพ หรือผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก
ประเพณีปฏิบัติ
ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท และขนมอื่น ๆ แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น
ในวันงาน ชาวบ้ายจัดแจงนำข้าวปลา อาหาร และข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน
ทายก ทายิกา ไปถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล
นำข้าวกระยาสารท หรือขนมอื่นไปฝากซึ่งกันและกันยังบ้านใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกลหรือถามข่าวคราวเยี่ยมเยือนกัน
บางท้องถิ่นทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ผลที่ได้จากประเพณี
- เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ
- ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นกาผูกมิตรไมตรีกันไว้
- เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่
- เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้
- เป็นการบำรุงหรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป
อ่านเพิ่มเติม
ruk-dee.com
วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 -
วันสารทไทย หรือ วันสารทเดือนสิบ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามหลักฐานในหนังสือของนางนพมา
การศึกษา
พัฒนาตัวเอง
ไลฟ์สไตล์
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย