12 ก.ย. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมหลายประเทศ ถึงยังใช้ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่
การกำหนดเป้าหมายด้านค่าเงิน เป็นหนึ่งในการกำหนดเป้าหมายขั้นกลาง ที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศทำ ซึ่งประเภทของเป้าหมายที่เป็นที่รู้จัก หลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 3 แบบคือ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่, อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ
1
ในอดีตเอง ประเทศไทยก็เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จนนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 1997 ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้หลายคนมองว่า ในปัจจุบันนี้ ไม่น่าจะมีใครใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเช่นนี้แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม รายงานของ IMF ในปี 2020 กลับพบว่า มีประเทศสมาชิกกว่า 114 จาก 192 ประเทศทั่วโลก กำลังใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่อยู่
1
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าทำไมหลายประเทศ ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
1
จากรายชื่อของประเทศที่ใช้เป้าหมาย อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ซึ่งรวบรวมโดย IMF นั้น จะพบว่า เราสามารถแบ่งกลุ่มประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เช่น กลุ่มประเทศหมู่เกาะในแคริบเบียน, บาฮามาส และมัลดีฟส์
1
2) ประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกสูง ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง และประเทศผู้เป็นศูนย์กลางทางการเงินอย่าง ฮ่องกง และสิงคโปร์
3) ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ต่ำ ส่วนใหญ่จะอยู่ในอเมริกากลาง, เอเชีย และแอฟริกา ซึ่งมีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศ
โดยประโยชน์ที่ประเทศเหล่านี้จะได้รับ จากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ก็คือ “ค่าเงินที่ไม่ผันผวน” ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุน เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากราคาสินค้าส่งออก จะสามารถแข่งขันในด้านราคาได้ หากค่าเงินที่ตรึงไว้ อยู่ในระดับที่อ่อนค่ากว่าประเทศอื่น ๆ
ในขณะที่ผู้นำเข้าสินค้า รวมไปถึงผู้ผลิตที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ ก็ไม่ต้องกังวลกับการควบคุมต้นทุน เพราะค่าเงินไม่ผันผวน ทำให้วางแผนการดำเนินธุรกิจได้ง่าย
นอกจากนี้ค่าเงินที่ไม่ผันผวน ยังช่วยส่งเสริมการลงทุน ทั้งในตลาดเงินและการลงทุนโดยตรง เนื่องจากนักลงทุนสามารถแลกเงิน เพื่อเข้ามาลงทุนได้โดยง่าย อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงว่า มูลค่าสินทรัพย์ของตัวเอง จะผันผวนไปตามอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่สำคัญ ก็คือ ประเทศเหล่านี้จะไม่มีอิสระ ในการที่จะดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากธนาคารกลางต้องควบคุมอัตราดอกเบี้ย ให้ใกล้เคียงกันกับประเทศที่ทำการตรึงค่าเงินด้วย เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ตามเป้าหมาย
1
ซึ่งก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง กับเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจในประเทศ อย่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการจัดการเงินเฟ้อ
ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าปีหนึ่งประเทศฮอนดูรัส ที่ทำการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับดอลลาร์สหรัฐ เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่ธนาคารกลางของฮอนดูรัสควรจะทำ คือ การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
1
ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง จนเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ก็จะทำให้ประเทศฮอนดูรัสเอง ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ แม้จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังแย่อยู่ก็ตาม
นอกจากนั้น ประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยน จะต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพออีกด้วย เพราะธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ มีหน้าที่จะต้องแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ ผ่านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อทำให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การโจมตีค่าเงิน
2
อีกทั้ง ประเทศที่ไม่มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ หรือไม่มีวินัยทางการเงิน ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดวิกฤติทางการเงินได้ อย่างเช่น ประเทศในเอเชียก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือประเทศเวเนซุเอลา ที่ต่างก็ตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับเกิดปัญหาขึ้นมา
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การใช้เป้าหมาย อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จะดูเสี่ยงต่อการถูกโจมตีค่าเงิน และการเกิดวิกฤติทางการเงิน อีกทั้งยังไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หลายประเทศก็มองว่า การใช้เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นั้น มีผลดีมากกว่าผลเสีย
อย่างเช่น ประเทศผู้ค้าน้ำมัน และประเทศผู้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ก็เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อความสะดวกในการค้าขาย และไม่ต้องกังวลกับการถูกโจมตีค่าเงิน เนื่องจากมีทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย และฮ่องกง ที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อ GDP มากถึง 47.6% และ 122.6% ตามลำดับ
1
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ก็เลือกตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกับยูโร และดอลลาร์สหรัฐ แม้จะไม่มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินก็ตาม เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น พึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มากกว่าการเติบโตจากภายใน
ซึ่งจากที่กล่าวไปข้างต้น ก็แสดงให้เห็นว่า แม้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จะเคยเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในอดีต แต่สำหรับประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แตกต่างจากไทยแล้ว การใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ก็กลับกลายเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศเหล่านั้นได้ เช่นเดียวกัน..
โฆษณา