9 ก.ย. 2022 เวลา 15:26 • ประวัติศาสตร์
“สึคิมิ” ทำไมญี่ปุ่นชมพระจันทร์เดือนเก้า
เครดิตภาพ : https://www.yamada-heiando.jp/media/tsukimi/
กันยายนคือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าอากาศในบางวันจะยังไม่ได้เย็นสบายผิว แต่สีของท้องฟ้าในเดือนกันยายนกลับแตกต่างจากช่วงเวลาปกติในฤดูร้อน
1
พระจันทร์เดือนเก้าเป็นพระจันทร์ที่สวยที่สุด
อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าเมื่อพระจันทร์โคจรรอบโลกใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทำให้เรามองเห็นลักษณะของพระจันทร์แตกต่างออกไปตั้งแต่พระจันทร์เสี้ยวจนกลายเป็นพระจันทร์เต็มดวง
ในหนึ่งเดือนจะมีวันที่พระจันทร์กลมเต็มดวงส่องประกายอยู่เพียงหนึ่งคืนเท่านั้น ทว่าแม้จะเป็นพระจันทร์ดวงเดิมแต่ความสวยงานกลับแตกต่างกันออกไป
1
หากถามคนญี่ปุ่นว่าจันทร์เต็มดวงช่วงไหนสวยงามที่สุด แทบทุกคนจะนึกถึงพระจันทร์เดือนเก้า ซึ่งตรงกับช่วงเวลาของเทศกาลชมจันทร์ ที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า สึคิมิ (月見) เหตุที่พระจันทร์เต็มดวงในช่วงนี้เป็นพระจันทร์ที่สวยที่สุด นั่นก็เพราะ
1
พระจันทร์เต็มดวงในเดือนกันยายน เครดิตภาพ : https://womanlife.co.jp/topics/1151952
-ปริมาณน้ำในอากาศ
ฤดูร้อนของญี่ปุ่นจะมีอากาศร้อนจัดและมีความชื้นในอากาศสูง ทำให้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะตัว เมื่อความชื้นในอากาศสูงจึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพในระยะไกลมาก ๆ ได้อย่างชัดเจน อาจมองเห็นเป็นไอสีขาว
1
กลับกันในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่อากาศแห้ง มีความชื้นน้อย จึงทำให้การกระจายตัวของแสงเกิดขึ้นน้อย สายตาของเราจึงมองเห็นภาพระยะไกลได้อย่างชัดเจน
-ดวงดาวในฤดูใบไม้ร่วงมีน้อยที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณดวงดาวบนท้องฟ้าระหว่างฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาว ฤดูหนาวจะมีดวงดาวส่องประกายบนท้องฟ้ามากกว่าท้องฟ้าในฤดูใบไม้ร่วง ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงนิยมดูดาวในช่วงฤดูหนาว และชมจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง
-ตำแหน่งของพระจันทร์
แม้ว่าทั้งในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวจะมีอากาศที่ค่อนข้างแห้งซึ่งเป็นข้อดีของการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ทว่าตำแหน่งของพระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงที่อยู่ต่ำกว่าฤดูหนาว ทำให้เรามีความรู้สึกว่าพระจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่าช่วงเวลาปกติ
ด้วยปัจจัยทั้ง 3 ประการจึงทำให้พระจันทร์เต็มดวงในเดือนกันยายนมีประกายส่องสว่างและสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สวยงามที่สุด ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีธรรมเนียมการชมพระจันทร์เกิดขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนนั่นเอง
เครดิตภาพ : https://kids.rurubu.jp/article/74135/
ประเพณีชมพระจันทร์ เป็นหนึ่งอีเวนต์เก่าแก่ที่มีมามากกว่าพันปี ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง เก็นจิโมโนกาตาริ ซึ่งประพันธ์โดย มุราซากิ ชิคิบุ ถือเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกของญี่ปุ่นในยุคเฮอัน แม้ว่าการชมพระจันทร์จะเป็นกิจกรรมสำหรับชนชั้นสูง
ธรรมเนียมดังกล่าวได้แผ่ขยายไปยังประชาชนทั่วไปในยุคเอโดะ และเนื่องจากช่วงเวลาของเทศกาลชมพระจันทร์ตรงกับช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร จึงมีการนำเอาความเชื่อเรื่องการบูชาหรือการไหว้พระจันทร์เพื่อขอบคุณที่ทำให้พืชพันธุ์ธัญญหารอุดมสมบูรณ์เข้ารวมด้วยกัน
เครดิตภาพ : https://eatas.jp/article/moon-viewing
โดยนำเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในฤดูกาลมาทำเป็นขนมโมจิขนาดพอดีคำ เลียนแบบรูปทรงของพระจันทร์เต็มดวงตั้งเรียงเป็นทรงพีระมิด 15 ก้อน ตามคำศัพท์ที่เรียกคืนพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า จูโกยะ (十五夜)
1
ปีนี้วันไหว้พระจันทร์หรือวันชมพระจันทร์ของญี่ปุ่นตรงกับคืนวันเสาร์ที่ 10 กันยายน ปัจจุบันนอกจากขนมสึคิมิโมจิที่ยังนิยมรับประทานกันอยู่ในคืนไหว้พระจันทร์ ยังมีขนมและอาหารอีกมากมายหลายอย่างที่ล้อไปกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ อย่างเช่นแฮมเบอร์เกอร์ไหว้พระจันทร์ (สึคิมิเบอร์เกอร์) ของแมคโดนัลที่วางขายเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น
เครดิตภาพ : https://www.mcdonalds.co.jp/campaign/tsukimi/
นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับพระจันทร์ของชาวญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนิทานปรัมปราเรื่องเจ้าหญิงคะงุยะที่เกิดจากกระบอกไม้ไผ่แล้วเดินทางกลับจันทรประเทศไปในวันพระจันทร์เต็มดวง หรือความเชื่อที่ว่าบนพระจันทร์มีกระต่ายตำข้าวอาศัยอยู่ ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับชื่อเรียกของพระจันทร์เต็มดวงในเดือนต่าง ๆ ตามแบบชาวตะวันตกอีกด้วย
เรามารู้จักพระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือนกัน
มกราคม – Wolf Moon
กุมภาพันธ์ – Snow Moon
มีนาคม – Worm Moon
เมษายน – Pink Moon
พฤษภาคม – Flower Moon
มิถุนายน – Strawberry Moon
ภาพพระจันทร์เต็มดวงตลอดปี 2019 เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/tagataga77/entry-12559863289.html
กรกฎาคม – Buck Moon
สิงหาคม – Sturgeon Moon
กันยายน – Harvest Moon
ตุลาคม – Hunter’s Moon
พฤศจิกายน – Beaver Moon
ธันวาคม – Cold Moon
ความงดงามบนท้องฟ้าและผืนดิน
จันทร์เต็มดวงเดือนเก้าสุกใส เปล่งประกาย และงดงาม เคียงคู่กับดอกหญ้า 7 ชนิดที่จะพบเห็นได้ในช่วงเวลานี้เท่านั้น ทั้งสองสิ่งนี้เปรียบได้กับเป็นตัวแทนของประตูก้าวสู่ฤดูใบไม้ร่วงเลยก็ว่าได้ ดอกหญ้าทั้ง 7 ชนิดเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงมาอย่างเนิ่นนานกว่าพันปี
1
เครดิตภาพ : https://lovegreen.net/botanicallife/p51524/
ตั้งแต่ยุคเฮอัน บรรดาชนชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายมักนำดอกหญ้าทั้ง 7 ชนิด ได้แก่ หญ้ามิสแคนทัสซูซูกิ, ดอกคุดซู(อยู่ในตระกูลกวาวเครือขาว), ดอกผีเสื้อ(ไดแอนธัส), ดอกแพทริเนีย, ดอกสันพร้าหอม, ดอกบัลลูนฟลาวเวอร์ และดอกฮางิ(พืชตะกูลถั่ว) มาแต่งบทกลอนประชันกันในวันไหว้พระจันทร์
1
นี่คงเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญและอยู่กับธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละช่วงเวลา แต่ละฤดูกาล
โฆษณา