10 ก.ย. 2022 เวลา 04:12 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
วันก่อนเราเปิดดู Memories of Murder(2003) บนเน็ทฟลิกซ์ แล้วสัมผัสได้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ พอสังเกตดีๆถึงเห็นว่า Colour Grading หรือการแต่งสีของเรื่องนี้ มันดูหม่นแปลกๆ สีซีดจางและแสงมืดจนต้องหรี่ตาดู สภาพเดียวกับตอนดู Game of Throne Season 8 ปวดตาจนไปต่อไม่ไหว
เปรียบเทียบเน็ทฟลิกซ์กับบลูเรย์
แต่เราก็จำได้ว่า เวอร์ชั่นอื่นไม่ได้เป็นแบบนี้ จึงคุ้ยหาแผ่น Blu-ray มาเปิดเทียบ จริงด้วย! สีสวยกว่ามาก สรุปว่ามันคือความผิดพลาดของเน็ทฟลิกซ์ หรือแย่กว่านั้น พวกเค้าทำไปด้วยความตั้งใจ ซึ่งมันส่งผลให้ความน่าดูของหนังลดลงเกือบครึ่ง
นี่คือตัวอย่างของ“ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้” เราถ่ายดี ตัดดีแล้ว แต่คนอื่นอาจเอาไปปรุงเพิ่มจนเสียรสชาติ
ตัวอย่าง2
อีกอย่างนึงที่ทีมผู้สร้างควบคุมไม่ได้ คือซับไตเติลหรือคำบรรยายในภาษาอื่น โดยเฉพาะในหนังคลาสสิคยุค 30s-70s ที่บทภาพยนตร์มักถูกประพันธ์โดยนักเขียนมือฉมัง อย่างเช่น Billy Wilder มันก็จะเป็น2ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยการเล่นคำ ทั้งพ้องรูป พ้องเสียง พ้องความหมาย ไหนจะสำบัดสำนวนต่างๆ ลุงแกเอาช่องโหว่ของภาษาอังกฤษมาใช้ประโยชน์ จนเกิดเป็นไดอะล็อกสุดสร้างสรรค์ เฉกเช่นปรมจารย์ท่านอื่นในยุคเดียวกัน พวกเค้าใช้โวหารได้ในระดับที่เราคาดไม่ถึง ปัญหาคือ…เมื่อเราพยายามเอาไปแปลเป็นภาษาอื่น…แม่งโคตรยาก
ตัวอย่างเช่น The Apartment(1960) ของบิลลี่ ไวล์เดอร์ เราดูมาหลายเวอร์ชั่น มีทั้งแปลดีแปลห่วย ส่วนที่เป็นปัญหามีดังนี้
1.คำพูดติดปากของพระเอก ด้วยความที่เค้าทำงานในบริษัทประกันภัย แบกซ์เตอร์จึงชอบจบประโยคด้วยคำว่า wise เช่น percentage-wise, manpower-wise, police-wise, cookie-wise, solution-wise
มันแปลได้หลายแบบ เช่น ในแง่ของ…, ในด้าน…, เกี่ยวกับ… ซึ่งถ้าให้ผมเลือก จะขอหยิบเอาอันแรกมาใช้ครับ มาดูตัวอย่างกัน
“I kept your name out of it so there'll be no trouble, police-wise or newspaper-wise”
“ผมไม่ได้เอ่ยชื่อคุณ ดังนั้นไม่มีปัญหาแน่นอนครับ ทั้งในแง่ของตำรวจและหนังสือพิมพ์”
ฟังดูแปลกๆนะ แต่นั่นคือกิมมิคของนายซีซี แบกซ์เตอร์ไง
Baxter and Kubelik in The Apartment(1960)
และสิ่งที่ขัดใจเรามากคือ ทุกครั้งที่พระเอกพูดคำนี้ ซับไทยแปลไม่เหมือนกันแม้แต่ครั้งเดียว แล้วผู้ชมจะรู้ได้ยังไงว่ามันเป็นคำพูดติดปากของเค้า มิหนำซ้ำไวล์เดอร์ยังนำกิมมิคดังกล่าว มาเล่นเป็นมุกตลกอีกหลายต่อหลายครั้ง มีฉากนึงที่เพื่อนร่วมงานของแบกซ์เตอร์แซวเค้าว่า…
“Well, I don't blame you. So you hit the jackpot, eh kid -- I mean, Kubelik-wise?”
“ฉันไม่ตำหนินายหรอก งั้นนายก็ทำแจ็กพอตแตกแล้วสินะไอ้หนู หมายถึง…ในแง่ของคุณคิวเบลิคน่ะ”
ถ้าไม่ปูมาก่อน ยังไงมุกนี้ก็ไม่เวิร์ค ซึ่งคนแปลDVDแก้ปัญหา ด้วยการทำให้มันเป็นไดอะล็อกธรรมดาไปเลย “ฉันหมายถึงคิวเบลิคน่ะ” เหมือนไม่ได้มีมุกอะไรซ่อนไว้ ทั้งๆที่มันคือหนึ่งในบุคลิกสำคัญของพระเอก ความผิดพลาดแบบนี้โผล่มาตลอดทั้งเรื่อง สำนวนหลายอันก็ถูกแปลออกมาทื่อๆ บทภาพยนตร์ที่ควรได้10/10 อาจจะลดเหลือแค่8 เพราะสื่อความออกมาได้ไม่ครบถ้วนนั่นเอง
ขณะเดียวกัน หนังไวล์เดอร์อีกเรื่องอย่าง Double Indemnity(1944) กลับถูกแปลออกมาอย่างสวยงาม สำนวนต่างๆถูกปรับให้เข้ากับภาษาไทย สละสลวย ลื่นไหลคล้องจอง จนเรานึกกว่าไวล์เดอร์เป็นคนไทย-*- ผมไม่ทราบว่าใครคือคนแปลเรื่องนี้ แต่จากใจนักแปลด้วยกัน กระผมขอกราบงามๆหนึ่งทีครับ ยอดเยี่ยมในทุกบรรทัด นี่คือการทำให้บทหนังระดับ10/10 ขยับขึ้นเป็น15/10
Double Indemnity(1944)
หากมองในมุมของผู้กำกับและคนทำหนังทั้งหลาย ก็คงคาดหวังว่าผลงานของตนเอง จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด จอใหญ่ ภาพชัด สีตรง แปลสวย แต่ก็นั่นแหละครับ มันมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่มากมาย บางครั้งสิ่งเดียวที่เราทำได้คือการสวดภาวนา ขอให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นตามที่หวัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ต่างจากการโยนหัวก้อยเท่าไหร่นัก โอกาส50/50เท่าเดิม ปัจจัยภายนอกอาจจะทำให้หนังเราแย่กว่าเวอร์ชั่นออริจินัล หรือ…ทำให้มันดีขึ้นอีกหลายเท่าตัวก็เป็นได้
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
ปล.มีฉากสำคัญอีกอัน ที่เอาคำว่า wise ไปเล่นแล้วเราชอบมาก คือตอนที่คิวเบลิคคุยกับเชลเดรกก่อนไคลแมกซ์ท้ายเรื่อง เชลเดรกบอกว่า แบกซ์เตอร์เนรคุณเหลือเกิน เพราะเค้าไม่ให้ใครใช้ห้องอีกแล้ว แถมพูดเสียงแข็งใส่ผม“ห้ามพาใครมาทั้งนั้น โดยเฉพาะคุณคิวเบลิค” ดูมันพูดสิ จะว่าไปแล้ว…เค้าทะเลาะอะไรกับคุณรึเปล่า เชลเดรกถาม
คิวเบลิคตอบว่า “I don't know. I guess that's the way it crumbles -- cookie-wise.” แปลแบบเน้นใจความได้ว่า “ไม่รู้สิ มันก็เป็นแบบนี้แหละ ในแง่ของชีวิตอะนะ” ความหมายแฝงของฉากนี้คือ คิวเบลิคเริ่มมีใจให้แบกซ์เตอร์ ถึงขนาดลอกเลียนแบบวิธีพูดของเขามาเลย มันหวานชื่นอย่างบอกไม่ถูก และเป็นสิ่งที่รู้กันแค่นางเอกกับผู้ชมเท่านั้น นี่คือ Inside Joke ที่ผมชอบที่สุดตั้งแต่ดูหนังมาเลย 🙂
กลับมาโพสต์บน Blockdit แล้วนะครับ ถ้าอยากอ่านบทความก่อนหน้านี้ เข้าไปในเพจ Jeterdel บน Facebook ได้เลย
โฆษณา