10 ก.ย. 2022 เวลา 06:51 • ประวัติศาสตร์
ราชินี (Queen Consort) และราชินีนาถ (Queen Regnant)
ซ้าย : สมเด็จพระราชินีคามิลลา (Queen Consort)
กลาง : สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ ๓ (King)
ขวา : สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ (Queen Regnant)
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร สวรรคตแล้ว “เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales)” รัชทายาทลำดับที่ ๑ ของราชบัลลังก์ สืบราชสันตติวงศ์เป็นประมุของค์ใหม่ แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษในทันที และพระชายาของพระองค์ก็จะขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินี” ตามธรรมเนียม
หลายคนก็สงสัยว่า “ราชินีคามิลลา” กับ “ราชินีนาถเอลิซาเบธ” มีพระอิสริยยศเท่ากัน เหมือนกันไหม ขอบอกว่าชื่อพระอิสริยยศอาจจะคล้ายกัน แต่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
พระอิสริยยศของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ คือ “ราชินีนาถ (Queen Regnant)” หมายถึง ราชินีที่เป็นกษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติด้วยสิทธิ์ของพระองค์เอง (สังเกตโดยง่าย คือ ประเทศนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นครองราชย์) ถ้าเป็นจักรพรรดิจะเป็น “จักรพรรดินีนาถ (Empress Regnant)”
ในภาษาไทยจะแปลว่า “Queen Regnant” โดยจะใช้คำว่า “นาถ” ต่อท้ายคำว่า “ราชินี+นาถ” ซึ่ง “นาถ” แปลว่า ที่พึ่ง, ผู้เป็นที่พึ่ง
ส่วนพระอิสริยยศของสมเด็จพระราชินีคามิลลา คือ “ราชินี (Queen Consort)” ไม่มีคำว่า “นาถ” ต่อท้าย เป็นเพียงพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ถ้าเป็นพระอัครมเหสีของพระจักรพรรดิ จะเป็น “จักรพรรดินี (Empress Consort)”
แต่เดิมนั้นคามิลลา เส้นทางในราชวงศ์ก็มิได้ราบรื่นอย่างที่ทุกคนคิด หลังจากไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และคามิลลา ก็ได้อภิเษกสมรสกัน ในปี ๒๕๔๘ โดยตามธรรมเนียมพระชายาจะได้ยศเหมือนเจ้าชายแห่งเวลส์ทุกประการ ตำแหน่งทางการของคามิลลาคือ “คามิลลา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” แต่คามิลลาเลือกที่จะไม่ใช้ โดยให้ออกพระนามว่า “คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์” แทน เพื่อลดแรงเสียดทานและให้เกียรติไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่เป็นเจ้าของตำแหน่งนี้มาก่อนหน้า
เมื่อตอนอภิเษกสมรสในปี ๒๕๔๘ ได้มีการประกาศเพิ่มเติมด้วยว่า หลังจากเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จขึ้นครองราชย์ คามิลาจะไม่ได้ดำรงพระอิสริยยศเป็น “ราชินี” แต่จะดำรงพระอิสริยยศเป็น “เจ้าหญิงพระชายา (Princess Consort)” แทน ซึ่งในประวัติศาสตร์ไม่เคยปรากฏพระอิสริยยศนี้มาก่อน
แม้ในช่วงต้นจะมีคนบางส่วนมองคามิลลาเป็นวายร้ายผู้ทำลายชีวิตคู่ดั่งเทพนิยายของไดอานากับเจ้าชายชาลส์ แต่เมื่อพระองค์ได้พิสูจน์ตนเองโดยการทรงงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระราชสวามีและสมเด็จพระราชินีนาถฯ พระองค์ก็เริ่มได้รับการยอมรับจากคนในราชวงศ์
ต่อมาแถลงการณ์ที่บอกว่าจะให้คามิลา ดำรงพระอิสริยยศเป็น “เจ้าหญิงพระชายา (Princess Consort)” เมื่อเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จขึ้นครองราชย์ นั้นถูกถอดออกไป
ในปี ๒๕๖๔ สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๒ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งการ์เตอร์ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของอังกฤษแด่คามิลลา จากความจงรักภักดีและปฏิบัติตัวต่อสมเด็จพระราชินีอย่างสุขุมรอบคอบ สร้างประวัติศาสตร์เป็นพระชายาในรัชทายาทพระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ และทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพระองค์ที่ ๓ ที่นอกเหนือจากคู่สมรสในพระมหากษัตริย์ที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งหลายคนเริ่มสังเกตว่า เป็นจะมีการปูทางให้คามิลาได้เป็น “ราชินี” ในอนาคต
และเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ทรงมีแถลงการณ์ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ใจความว่า
“...เมื่อถึงเวลาที่ ชาลส์ ลูกชายของข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านทั้งหลายจะให้การสนับสนุนแก่เขาและคามิลลา ชายาของเขาแบบเดียวกับที่เคยให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง คามิลลา จะเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี ในขณะที่เธอยังคงปฏิบัติราชกรณียกิจของเธอ...”
นั่นหมายความว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ สนับสนุนให้คามิลา ดำรงพระอิสริยยศเป็น “ราชินี” หลังชาลส์ขึ้นครองราชย์
และเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ สวรรคตแล้ว “เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales)” ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นประมุของค์ใหม่ แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษในทันที และคามิลา จึงขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินี”
ขอเพิ่มเติมอีกนิด สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน “ราชินีนาถ” เป็นเพียงราชินีที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์เท่านั้น มิได้ครองราชสมบัติด้วยสิทธิ์ของพระองค์เอง ภาษาอังกฤษไม่ใช่ Queen Regnant แต่เป็น Queen Regent ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า “สมเด็จรีเยนต์” เพราะตามกฎมณเฑียรบาลระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ให้ราชนารีขึ้นทรงราชย์เป็น “สมเด็จพระแม่อยู่หัว”
ราชินีนาถ (Queen Regent) ในสมัยรัตนโกสินทร์มีเพียง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๕ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๙ แต่ปัจจุบัน ทั้ง ๒ พระองค์ดำรงพระอิสริยยศที่ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ภาษาอังกฤษ คือ Queen Mother
ถ้าจะบอกว่าไทยไม่เคยมี กษัตริยาที่เป็นผู้หญิง หรือ “ราชินีนาถ (Queen Regnant)” ก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในอดีตนั้นเคยมี เช่นเดียวกัน คือ กษัตริย์ผู้หญิงที่ครองบัลลังก์ เช่น พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย พระนางจิรประภาเทวี กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา และพระนางวิสุทธิเทวี ปัจฉิมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการเพิ่มเติมถึงการเสนอพระราชธิดาเป็นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๒๑ วรรคสอง ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ความว่า
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ ตามมาตรา ๒๐ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ (โดยสรุปในกรณีที่จะเสนอพระนามพระราชธิดาได้ ก็ต่อเมื่อ “พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้” เท่านั้น)
โฆษณา