10 ก.ย. 2022 เวลา 12:57 • ความคิดเห็น
ช้างสีชมพู
ลองนึกภาพตามผมนิดนึงนะครับ ลองคิดถึงภาพช้างสีชมพูในหัวดูซักตัว ช้างตัวน้อยกลมๆน่ารัก ตาใสแป๋ว หูใหญ่ๆ สีชมพูสดใส นึกไม่ออกดูจากภาพประกอบก็ได้ครับ….
แล้วลองพยายามหยุดคิดถึงช้างสีชมพูให้ได้ซักหนึ่งนาทีดูนะครับ คิดอะไรก็ได้ เกมฟุตบอล อาหารอร่อยๆ เพื่อนร่วมงาน ซีรีส์สนุกๆ แล้วพยายามอย่าให้มีภาพช้างสีชมพูปรากฏในหัว..
ทำได้กี่วินาทีกันบ้างครับ เชื่อว่าแค่แป๊บเดียว ช้างสีชมพูก็จะโผล่ขึ้นมาทันที ยิ่งพยายามไม่คิด ภาพช้างสีชมพูมันก็จะโผล่มาชัดแจ๋ว ภาษาทางจิตวิทยาเขาเรียกว่า “ironic process theory” ยิ่งพยายามไม่คิดยิ่งเห็นเด่นชัดนั่นเอง..
1
ผมเพิ่งกลับจากต่างประเทศหลังจากใช้เวลาท่องเที่ยวและส่งลูกสาวสองคนไปเรียนต่ออยู่เกือบเดือน กลับมาบ้านก็เป็นครั้งแรกที่บ้านไม่มีลูกสาวอยู่ ผมกับภรรยาเป็นคนติดลูกมาก ดูแลกันมาตลอดสิบเจ็ดสิบแปดปี ภรรยาผมคิดถึงลูกทีไรก็ร้องไห้น้ำตาไหล
1
ผมเองก็โหวงๆ กลับมาเจอน้ำท่วมไปไหนไม่ได้ อยู่บ้านมองไปตรงไหนก็เห็นแต่พื้นที่ที่ลูกสาวเคยนั่ง เคยเล่นด้วยกันอยู่ พยายามจะไม่คิดจะได้ไม่เศร้ามาก แต่ยิ่งไม่คิดก็ยิ่งเห็นเด่นชัด เหมือนกับกรณีช้างสีชมพูอย่างไรอย่างนั้น
หลายคนคงเจอสภาวะ “ช้างสีชมพู” แตกต่างกันไป บางคนอยากลืมคนรักเก่าที่ทิ้งกันไป อยากลืมคนที่เคยโกงเคยหลอกเรา อยากลืมคริปโตที่ลงพลาดไปแล้วเงินเก็บทั้งชีวิตแทบหมด หรือบางทีก็เป็นห่วงคนใกล้ชิดที่พยายามจะลืมอะไร ลืมใครบางอย่างเพื่อเดินหน้าต่อแต่ก็ทำไม่ได้
1
นักจิตวิทยาหลายท่านเคยศึกษาเรื่องนี้และพบว่าการยิ่งพยายามจะ “ลืม” นั้นกลับทำให้เห็นชัดและก่อให้เกิดความเครียด ความเศร้ากว่าปกติเข้าไปอีก จะทำอะไรก็ไม่มีสมาธิพอ
และก็ยากที่จะเอาชนะจิตใจที่จะไม่คิดถึงได้ การลองเล่นเกมช้างสีชมพูข้างต้นก็คงบอกได้เป็นอย่างดี นักจิตวิทยาเลยมีคำแนะนำในการสู้กับช้างสีชมพูที่น่าลองใช้สำหรับคนที่สลัดความคิดที่ไม่อยากคิดถึงไม่ออกไว้
ประการแรกก็คือการที่อยู่กับปัจจุบันหรือ mindfulness ผมเคยเขียนเรื่องไข่เจียวของน้องอ้อม สุนิสา นักร้องชื่อดังสมัยผมไว้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ดี น้องอ้อมเล่าถึงตัวเองว่าเคยมีความทุกข์จากปัญหาใหญ่หลวงมากที่ลงเอยไม่ดี
และรู้สึกเสียใจอย่างหนัก ลืมยังไงก็ลืมไม่ลง จากที่เคยมีคนอยู่ด้วยแล้วต้องอยู่คนเดียว จมอยู่กับความทุกข์จนเพื่อนๆกังวลว่าจะอยู่เองไม่ได้
แต่น้องอ้อมตัดสินใจที่จะหัดอยู่คนเดียวให้ได้ แล้วพอคิดถึงว่าต้องอยู่คนเดียวก็น้ำตาไหล นั่งทุกข์ทั้งวันไม่รู้ว่าจะสลัดทุกข์นั้นออกได้ยังไง นั่งร้องไห้เศร้าสร้อยไม่เป็นอันทำอะไรจนบ่ายคล้อย แล้วเริ่มรู้สึกหิวข้าว ก็เลยเดินน้ำตาไหลไปหุงข้าว ในตู้เย็นมีแต่ไข่ ก็เลยตัดสินใจเจียวไข่ทั้งๆที่เกลียดการเจียวไข่มากเพราะกลัวน้ำมันกระเด็น
พอต้องตั้งใจเจียวไข่ ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใจก็ไปพะวงกับน้ำมันร้อนๆ ห่วงกับการเทไข่ไม่ให้น้ำมันกระเด็นโดนตัว แล้วต้องค่อยๆทอดไข่กลัวไข่ไหม้ แล้วก็มานั่งกินด้วยความหิว น้องอ้อมเล่าว่าระหว่างกินก็นึกขึ้นได้ว่าความเศร้า ความทุกข์ที่ดูเหมือนจะสลัดไม่หลุดจากหัวไม่ว่าจะวนเวียนคิดพยายามอย่างไรก็ตาม กลับหายไปในช่วงที่กำลังเจียวไข่ เพราะมัวแต่ไปตั้งใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแทน วินาทีที่กลัวน้ำมันกระเด็น
ใจที่จดจ่ออยู่กับการเจียวไข่ตรงหน้ามันพาความเศร้ากระเด็นออกไปด้วย น้ำตาก็หยุดไหล วันนั้นก็สามารถกินข้าวได้ อยู่คนเดียวได้ดีขึ้น ก็เป็นเพราะน้องอ้อมวางทุกข์ลงก่อนทอดไข่แล้วอยู่กับปัจจุบันนั่นเอง
ประการที่สองก็คือการพยายามหา positive distraction หรือพยายามทำตัวให้ยุ่งๆไว้จะได้ไม่ต้องคิดเรื่องที่ไม่อยากคิดหรือคิดแล้วทำอะไรไม่ได้ เอาใจไปอยู่อะไรที่ต้องใช้ความตั้งใจ (attention) ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับเพื่อน อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ออกไปวิ่ง หรือหา “เหา” ใส่หัวเช่นไปรับงานเพิ่ม
สำหรับผมเองแค่มานั่งเขียนบทความนี้ซักยี่สิบสามสิบนาทีก็เห็นประโยชน์ของข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
ทำไมการหาอะไรทำนั้นช่วยเป็นอย่างมาก เดล คาร์เนกี้ ผู้โด่งดังเคยบอกไว้ว่า
it is utterly impossible for any human mind, no matter how brilliant, to think of more than one thing at any given time
เดล คาร์เนกี้
ซึ่งเป็นกลไกแห่งสมองในการต่อสู้กับช้างสีชมพูได้เป็นอย่างดีนะครับ
ประการที่สามก็คือการที่ไม่พยายามหนีที่จะไม่คิดแต่หาชุดความคิดใหม่เข้ามาแทน (positive thought subsitution) ไหนๆถ้ายิ่งไม่คิดก็ยิ่งเห็นภาพแล้ว ก็คิดถึงมันไปเลยแต่พยายามหามุมใหม่หรือมุมที่บวกเข้ามาแทน เช่น คิดถึงความล้มเหลวในอดีตแล้วลองคิดว่าเออ เราเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวนั้นบ้างนะ หรือคิดถึงหมาคิดถึงกระต่ายที่รักมากแต่ขึ้นดาวหมาดาวกระต่ายไปแล้ว
ก็คิดว่าเขาคงขึ้นไปเล่นกันเพื่อนบนสวรรค์คงมีความสุขดีแล้วแหละ หรือในกรณีผมที่ลูกไปเรียนหมดบ้าน ก็พยายามคิดว่าเขากำลังไป up level ตัวเองอยู่ อยู่บ้านเราก็ตามใจเกินไป ไปอยู่ต่างประเทศกลับมาเขาน่าจะเก่งขึ้นเยอะ อะไรทำนองนี้ ก็น่าจะทำให้โล่งใจหรือเบาใจไประดับหนึ่งได้เช่นกัน
ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะว่าผมทำได้ดีแล้วนะครับ แต่เนื่องเพราะผมเกิดจากความทุกข์ที่พยายามไม่คิดถึง “ช้างสีชมพู” แต่ก็ยิ่งเห็นภาพชัด
1
ก็เลยไปลองหาวิธีการบรรเทาอาการนี้มาลองดูซึ่งก็ช่วยได้มากพอสมควร ก็เลยอยากเอามาแบ่งปันผู้ประสบชะตากรรมช้างสีชมพูในต่างกรณีกันไปนะครับ
โฆษณา