11 ก.ย. 2022 เวลา 03:50 • ความคิดเห็น
บอสตันขายผัดไทยจานละห้าร้อย ชาบูหม้อละเกินพัน คนล้นต้องจองก่อน
ผมเพิ่งกลับมาจากการเดินทางยี่สิบสองวันเป็นครั้งที่สองในรอบปี ครั้งที่แล้วพาลูกไปดูมหาวิทยาลัยที่สหรัฐ ครั้งนี้พาลูกไปส่ง ครั้งที่แล้วไปอยู่หกเมืองที่สหรัฐ ครั้งนี้ไปสามเมืองสหรัฐและสองเมืองอังกฤษ
2
เดินทางครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจที่อยากเล่าสู่กันฟังเท่าที่ตาเห็นและได้พูดคุยกับคนอยู่บ้างในพื้นที่ที่จำกัดเท่าที่ไปมานะครับ รวมถึงความรู้สึกที่มีเวลาไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองว่าคิดถึงอะไรที่เมืองไทย และไม่คิดถึงอะไรที่เมืองไทยบ้างเวลากลับมา
5
1. ทั้งอเมริกา อังกฤษ และรวมถึงสิงคโปร์ที่ผมแวะทรานสิต ดูจะไม่มีใครสนใจอะไรกับโควิดอีกแล้ว ส่วนใหญ่คนไม่ใส่หน้ากากกันอีกต่อไป มีบ้างที่ใส่แต่น้อย และก็ไม่มีใครสนใจใครว่าจะใส่หรือไม่ใส่ การผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับโควิดอีก มีก็แต่เมืองไทยที่พอจะกลับยังต้องโชว์วัคซีนพาสปอร์ต และกลับมายังใส่หน้ากากกันพรึ่บพรั่บ ไปงานแต่งงานก็ยังมีตรวจ ATK ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่คนละไทม์ไลน์กันเลยทีเดียว
5
2. ระยะเวลาต่างกันจากการเดินทางครั้งที่แล้วแค่สิบเดือน แต่ครั้งนี้รู้สึกเลยว่าข้าวของที่อเมริกาแพงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะอัตราแลกเปลี่ยนแต่อีกส่วนก็คือเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ราคาอะไรหลายอย่างแพงจนซื้อไม่ลง เพื่อนคนไทยที่อยู่ที่ซานฟรานเล่าถึงการไปซื้อของชิ้นหนึ่งที่ Costco ต่างกันอาทิตย์เดียวขึ้นมายี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์
9
เวลาจะซื้อของก็เลยคิดง่ายๆด้วยการคูณสี่สิบบาทไปเลย เพราะรวมภาษี รวมทิป รวมอัตราแลกเปลี่ยนที่บัตรเครดิตคิดแล้วแล้วก็ไม่ต่างจากสี่สิบเท่าไหร่ ผัดไทยร้านอาหารไทยหรือแม้กระทั่งเฝอชามใหญ่ของโปรดของผมก็ขยับไปจานละชามละสิบสามสิบสี่เหรียญกันหมดแล้ว แต่ดูเหมือนเศรษฐกิจ ผู้คนก็ยังคึกคักอยู่ไม่น้อย ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องจองกันแน่น
4
3. แน่นอนว่า เวลาเราไปกินอาหารไทยที่สหรัฐที่ร้านก็จะตกอยู่ในประเภท Fine dining เพราะอาหารไทยที่โน่นค่อนข้างเป็นอาหารราคาสูง จะมาเทียบกับอาหารไทยที่บ้านเราก็คงไม่ได้ ราคาอาหารประจำวันเช่น Fast Food ที่สหรัฐเช่น Hamburger ที่ ShakeShack ก็ยังอยู่ที่ประมาณเก้าเหรียญสิบเหรียญ แต่อาจจะเหมือนทฤษฏีสองสูงที่ท่านประธานธนินท์เคยเล่าไว้ ค่าแรงที่สหรัฐก็ขึ้นเร็วไม่แพ้กัน
9
ป้ายจ้างงานค่าแรงขั้นต่ำที่ target ก็ปะอยู่ที่ 17-18 เหรียญต่อชั่วโมง ถามพวกร้านอาหารไทยก็บอกว่าตอนนี้จ้างกันอยู่ที่ชั่วโมงละยี่สิบเหรียญไม่รวมรายได้จากทิปแต่ก็ยังหาคนไม่ค่อยได้ พอดูจากค่าแรงแล้วก็จะรู้ว่าราคาอาหารนั้นไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สหรัฐ ผู้คนก็ดูจะไม่บ่นอะไรกันจากการอ่านข่าวและดูทีวีโดยทั่วไป
8
4. แต่ในเรื่องค่าครองชีพนั้น ที่อังกฤษกลับเป็นเรื่องใหญ่กว่ามาก ด้วยเหตุผลเพราะเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่านับตั้งแต่สงครามยูเครนรัสเซีย ไม่ใช่หลายเปอร์เซ็นต์นะครับ แต่เป็นหลายเท่า เพราะราคาน้ำมันที่ยุโรปนั้นผูกอยู่กับค่าแกส
9
อังกฤษยังนับว่าโชคดี ประเทศที่โดนหนักกว่าก็คือประเทศต่างๆในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมัน อิตาลี ที่ราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงเป็นสิบเท่า และกำลังจะเข้าสู่หน้าหนาว ไม่รู้ว่ารัสเซียจะมาไม้ไหนอีกด้วย คนที่เดือดร้อนมากๆคือคนตัวเล็กๆและผู้ประกอบการ SME ที่แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นมามากไม่ไหวและไม่รู้ว่าหน้าหนาวนี้จะเอาตัวรอดกันได้อย่างไร
2
ผมเพิ่งเจอเจ้าของโรงแรมไทยที่กำลังบินไปคุยกับเอเจ้นที่ยุโรปเพื่อชักชวนให้คนทางโน้นบินมาอยู่ยาวๆ ทำงานไปเที่ยวไปที่เมืองไทยเพราะเผลอๆจะถูกกว่าจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่โน่นซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในวิกฤตของเขาก็เป็นโอกาสของเราอยู่เหมือนกัน
15
5. นโยบายหลักของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ คุณลิส ทรัส ตอนที่แถลงเปิดตัวก็มีแต่เรื่องนี้เป็นหลัก โดยคุณลิสถึงกับประกาศว่าจะพาอังกฤษออกจาก “Energy Storm” ให้ได้ โดยนโยบายหลักๆของประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆกันคือ พยายามลดการใช้พลังงานช่วงพีค
7
พยายามกำหนดราคาขั้นสูงสุดของราคาแกส เก็บภาษีที่เรียกว่า Windfall revenue ก็คือกำไรส่วนเกินที่บริษัทพลังงานทำได้ในช่วงนี้มาอุดหนุนคนตัวเล็กที่เดือดร้อนผ่านส่วนลดบ้าง ปรับปรุงพวกขนส่งสาธารณะบ้าง
3
จนไปถึงการถกเรื่องการหันกลับใช้พลังงาน “สกปรก” ที่เดิมจะเลิกใช้อย่างดุเดือด ข้าวของเครื่องใช้ตอนนี้ก็เลยแพงจนคนบ่นจนกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลค่อนข้างมาก หนังสือพิมพ์หลักของอังกฤษก็ดูจะมีแต่เรื่องนี้เป็นหลัก (ผมกลับมาก่อนข่าวควีนหนึ่งวัน)
3
6. สำหรับสิ่งที่ผมไปแล้วคิดถึงเมืองไทยนั้นก็คือรสชาติอาหารที่ยังไงก็ไม่ถูกปากถูกใจเหมือนบ้านเรา ผมไม่ชอบวัฒนธรรมทิปที่อเมริกาที่ตอนนี้อยู่ที่ 18% ถึง 25% และต้องทิปในทุกกรณีแม้กระทั่งนั่งแท็กซี่และไม่ว่าจะบริการดีหรือไม่ดีก็ตาม
13
ผมคิดถึงความสะดวกสบายในการสั่งอาหารมาที่บ้านผ่าน Food Delivery ที่ค่าส่งแสนถูกและมีร้านให้เลือกเยอะไปหมด แต่ที่อเมริกาและอังกฤษนั้นค่าส่งแทบจะเท่าค่าอาหารแถมร้านดีๆก็ไม่ค่อยอยู่ในแอปเท่าไหร่ สัญญานโทรศัพท์มือถือที่ไทยก็ดีกว่ามาก การให้บริการอะไรหลายๆอย่างที่ไทยก็สะดวกรวดเร็วกว่า ผมพาลูกไปเปิดบัญชีธนาคารใช้เวลาสองชั่วโมง เปิดซิมการ์ดอีกสองชั่วโมง ที่เมืองไทยสิบห้านาทีก็ทำได้แล้ว
18
7. ส่วนที่พอกลับมาเมืองไทยแล้วคิดถึงบรรยากาศเมืองนอกก็คือความอิสระในการใช้ชีวิตที่ไม่มีใครตัดสินใคร อยากแต่งตัวอย่างไร อยากใส่หน้ากากหรือไม่ใส่ก็ไม่มีใครสน
13
คิดถึงความง่ายในการเดินทาง อยากไปไหนก็ไปได้ในเวลาสิบยี่สิบนาที ขนส่งสาธารณะที่สะดวกและตรงเวลามาก จะจองจะจ่ายจะเช็คอะไรก็ผ่านแอปหมด จะเข้าตรงไหนก็มี QR Code เป็นตั๋ว รอบนี้ผมได้ลองเช่าจักรยานขี่กลางเมืองนิวยอร์คซึ่งก็สะดวกมาก รูดบัตรเครดิตแล้วก็ดึงจักรยานออกมา ขี่ตามเลนจักรยานแล้วมีที่ที่ให้จอดคืนอยู่ทั่วเมือง ที่ออกฟอร์ดถึงกับมีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า
12
ขี่เสร็จก็วางทิ้งไว้ตรงไหนก็ได้เลย อยากเช่าก็ดูที่แอปว่ามีวางอยู่ตรงไหนใกล้เราบ้าง กลับมาเจอสถานการณ์น้ำท่วมรถติดสี่ชั่วโมงก็ถึงกับไปไม่เป็นอยู่เหมือนกัน
ก็เป็นบันทึกเท่าที่ตาเห็นและสังเกตเอาในช่วงยี่สิบสองวันเดินทางนี้ในรอบที่สองของปีนะครับ คงไปอ้างอิงอะไรไม่ได้ เป็นแค่ข้อสังเกตส่วนตัวจากประสบการณ์แคบๆที่ไปสัมผัสมาและอยากเล่าสู่กันฟังครับ
5
โฆษณา