26 ก.ย. 2022 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เครื่องหมาย SP คืออะไร ?
ทำไมเสี่ยงถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์
SP หรือTrading Suspension คือ เครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว
แล้วกรณีใดหุ้นจึงถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ?
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย "SP" บนหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง เพื่อแจ้งให้นักลงทุนทราบว่า หลักทรัพย์นั้นอยู่ระหว่างห้ามซื้อขาย ในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีข้อมูลหรือข่าวสารที่สำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาของหลักทรัพย์
ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ได้รับรายงานจากบริษัท และอยู่ในระหว่างการสอบถามข้อเท็จจริงและรอคำชี้แจงจากบริษัท (บริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ)
2. มีภาวะน่าสงสัยว่าจะมีผู้ลงทุนบางกลุ่มทราบข้อมูลหรือข่าวสารที่สำคัญ และอยู่ในระหว่างการสอบถามข้อเท็จจริงจากบริษัท
3. บริษัทร้องขอให้ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเป็นการชั่วคราวเนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างรอการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารที่สำคัญ
4. บริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง มติคณะกรรมการ ข้อตกลง ตลอดจนหนังสือเวียนที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ปฏิบัติตาม
5. บริษัทไม่นำส่งงบการเงินให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนด
6. หลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนหรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานภาพเพื่อให้พ้นข่ายการถูกเพิกถอน
7. หลักทรัพย์จะครบกำหนดเวลาในการไถ่ถอน หรือการแปลงสภาพ หรือการใช้สิทธิ หรือการขายคืน
8. มีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการซื้อขายหลักทรัพย์
การถูกขึ้นเครื่องหมาย SP นั้น มีผลทำให้นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่นั้นไม่สามารถซื้อขายหุ้นนั้นได้เป็นการชั่วคราว และรอการแก้ไขของบริษัท ถ้าบริษัทสามารถปรับปรุงแก้ไขเหตุการณ์ได้ ก็สามารถกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ
แต่ถ้าบริษัทแก้เหตุไม่ได้ ก็มีสิทธิ์ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
ทั้งนี้ทาง ตลท. ได้มีการปรับเกณฑ์การขึ้นเครื่องหมาย SP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสหรือเป็นทางเลือกให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP มาแล้ว 3 เดือน สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้เป็นเวลาอีก 1 เดือน ก่อนที่หลักทรัพย์นั้นจะถูกหยุดพักการซื้อขายยาวหากยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา
แต่เพื่อจำกัดความเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนและเพื่อให้ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังในช่วงที่เปิดซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดให้หลักทรัพย์ดังกล่าวซื้อด้วยบัญชี Cash Balance คือผู้ซื้อต้องชำระเงินก่อนการซื้อทั้งจำนวนนั่นเอง
1
อย่างไรก็ดี ตลท. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดยให้ระยะเวลาฟื้นฟูกิจการแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
1) ช่วงดำเนินการให้เหตุเพิกถอนหมดไป มีระยะเวลา 3 ปี โดยจะประกาศรายชื่อทุก 1 ปี
2) ช่วงดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย มีระยะเวลา 2 ปี หากบริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินการให้เหตุเพิกถอนหมดไปแล้ว
ทั้งนี้ หากบริษัทจดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการให้เหตุเพิกถอนหมดไปหรือมีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลท. จะพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทนั้นต่อไป
Cr. SET
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา