Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Movie Trivia
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2022 เวลา 08:35 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ไลโอโคตรแย้ยักษ์ (2022) – โปรดระวังสัตว์ประหลาด
*** บทรีวิวนี้ถูกเขียนขึ้นภายหลัง หลังได้ชมภาพยนตร์ไปแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคม ***
หลายครั้งหลายครา ที่หนังไทยมักจะสำแดงความทะเยอทะยานและจากไปอย่างเงียบเชียบ เราเคยเห็นความกล้าหาญเหล่านั้นในช่วงหลายสิบปีก่อน ที่หนังไทยมีความแปลกแหวกแนว เต็มไปด้วยพล็อตใหม่ ๆ เรื่อยไปตั้งแต่ระทึกขวัญ, สอยงขวัญ, แอ็คชั่นฮีโร่ หรือแม้กระทั่งมอนสเตอร์ หลังซบเซาจากภาวะโควิด และโรงหนังกลับมาคึกคัก เป็นการเปิดศักราชใหม่อีกครั้ง ของหนังที่อยากจะมาเบิกโรง “มอนสเตอร์สัญชาติไทย” อย่าง ไลโอโคตรแย้ยักษ์
ไลโอโคตรแย้ยักษ์ เล่าเรื่องของ เก้า หนุ่มแรปเปอร์ถังแตกที่ไม่ได้มีเส้นทางอาชีพที่สวยหรูนัก หลังโดนหางเลขจากการใส่ความจนเสียชื่อเสียง พลางกับได้รับข่าวร้ายเมื่อปู่ของเขาเพิ่งเสียชีวิต เขาและเจน เพื่อนร่วมงานจากค่ายเพลง จึงติดสอยห้อยตามไปยังทุ่งตะวันแยง ที่ ๆ เขาไม่ได้กลับมานานนับสิบปี
ก่อนได้พบกับ ฝน อดีตเพื่อนสนิทที่เติบโตกลายเป็นยูทูบเบอร์ชื่อดัง และกำลังจัดการแข่งขันขุดน้ำบาดาลใต้ดินบนพื้นดินที่แห้งผาก และมีงานรางวัลจำนวนมาก หากแต่การแข่งขันนี้ กลับปลุกเจ้าสัตว์ประหลาดใต้ดินให้ลุกขึ้นมายังพื้นดิน
ตัวหนังดำเนินมาด้วยลูกสูตร ทั้งฉากเปิดที่ทำให้เราเห็นถึงความน่าหวาดหวั่นของเจ้าแย้ยักษ์ตัวนี้ ก่อนตัดกลับไปยังตัวละครหลักอย่าง เก้า และดึงเขาเข้าไปหาการล่าตาน้ำใต้บาดาล ท่ามกลางชุดตัวประกอบ กับการเล่าภูมิหลัง ที่เป็นสาเหตุให้เขาตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดแล้วออกไปแสวงโชคในเมืองกรุง มีฉากอสูรกายหลายฉากที่น่าชื่นชม และมุกตลกที่ประดังเข้ามาเพื่อผ่อนจังหวะ
ที่ต้องชมเลยก็คือ คุณภาพของเทคนิคพิเศษด้านภาพ ที่เนรมิตด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิคในการสร้างสรรค์และออกแบบแย้ได้น่าชื่นชม ทั้งในแง่การเคลื่อนไหวหรือการใช้ในฉากที่ร่วมกับนักแสดง ก็ถือเป็นหมุดหมายที่ดี แต่กระนั้นเอง หนังเต็มไปด้วยจุดที่ต้องติมากมาย จนมันดูจะเยอะเกินกว่าจะรู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวการเอาตัวรอดจากอสูรกายสายพันธ์ไทยฉบับนี้
อย่างแรกเลยคือ การกำกับ ที่เราไม่เห็นถึงศักยภาพการกำกับที่ดีพอจะทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับเรื่องราวได้ ยกตัวอย่างเช่น จังหวะของหนังในฉากเปิด ที่น่าตั้งคำถามถึงการแคสติ้งสองนักแสดงคนนั้นมาเล่นในฉากเปิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เขาสองคนนั้นเล่นแย่ เพียงแต่มันเกิดอาการค้านความรู้สึกว่า เราควรต้องหวาดหวั่นหรือขำแห้ง และมันก็ก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ไปตลอดเรื่อง
เพราะมันกลับทำให้เรารู้สึกขำบนความสังเวช เพราะแทนที่จะรู้สึกหวาดกลัวกับความสร้างสรรค์ในการปรากฎตัวของแย้ หรือแม้แต่กระทั่งการดุลช่วงเวลาผ่อนจังหวะด้วยการสอดแทรกมุก ทั้งหมดทั้งมวลก็ดูฝืนธรรมชาติไปมาก ๆ แถมในบางฉากการใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพก็ดูหลุดคุณภาพไปบ้าง ถึงแม้ตัวโมเดลของแย้จะดูละเอียดจนน่าชื่นชม
นอกเหนือจากนี้ การกำกับหลายช่วงหลายตอน ก็ขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งยังขาดประสบการณ์ในการถ่ายทอดทางด้านภาพที่เก่งกาจ เพราะในหลายฉาก ๆ ของหนัง มันกลับดูกระโดดจากความรู้สึก จนกลายเป็นการผลักเราออกจากตัวหนัง ทั้งลำดับเหตุการณ์ที่เดี๋ยวก็เป็นตอนเช้า ตอนค่ำ หรือแม้กระทั่งการตามล่าหาตาน้ำในทุ่งตะวันแยง ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกถึงภาพกว้างของพื้นที่ดังกล่าว
นอกเหนือจากการเผยให้เห็นเพียงพื้นที่หุบเขาและพื้นดินที่แตกระแหงอันกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด หรือแม้กระทั่ง ฉากในถ้ำเอง ก็ขาดความต่อเนื่องในความรู้สึกค่อนข้างมาก
ส่วนต่อมา ซึ่งส่งผลมาจากการกำกับ ก็คือ การแสดง ที่แทบไม่มีตัวละครไหนเลยที่ฉายเสน่ห์ออกมา หรือน่าเอาใจช่วย ท่ามกลางสถานการณ์เอาชีวิตรอดจากเจ้าแย้ ถึงแม้เหล่าชุดนักแสดงนำหลัก จะมีภาษีที่ดีจากรูปลักษณ์น่าดึงดูด แต่แม้กระนั้นในช่วงเวลาคับขันที่ต้องปลุกใจเพื่อกำจัดแย้ ก็ยังไม่อาจทำให้เรารู้สึกเอาใจช่วยได้
หรือแม้กระทั่งในฉากที่นักแสดงที่ต้องแสดงปฏิกริยาต่อการปรากฎกายของแย้ นักแสดงเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้เราเชื่อถึงความหวาดกลัวที่พวกเขามีต่อมัน ซึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวมา มีเพียงการแสดงอันเป็นธรรมชาติของพี่เทพ-พงศ์เทพ อนุรัตน์ ที่ยังพอสร้างรอยยิ้มได้บ้าง
วิเคราะห์ดูแล้ว หนังถูกออกแบบโครงสร้างมาตามสูตรหนังแนวนี้ ด้วยการนำพาตัวเอกกลับไปยังพื้นที่ ๆ ตนเคยจากมาและต้องหวนกลับมาเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่อย่างไม่คาดคิด พร้อมกันนั้น เราก็พลอยได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังที่ค่อย ๆ เผยรู้ทีละนิด กระนั้นเอง เรื่องราวของมันทั้งหมด ก็สะท้อนให้เห็นถึงความมักง่ายหลายอย่าง
เฉกเช่น การที่เซ็ตติ้งของเรื่องอยู่ที่แถบอีสาน แต่กลับมีตัวละครที่พูดอีสานอยู่แค่ตัวเดียว หรือการออกแบบเหล่าตัวละครเสริม ที่ออกแบบมาฉูดฉาดปานหลุดมาจากการ์ตูน แต่ดูแบนราบจนไร้มิติ และสร้างมาเพื่อมีเพียงฟังก์ชั่นเดียว คือมีอยู่เพื่อทิ้งไป
หรือแม้กระทั่ง แย้ยักษ์ ก็ดูยังไม่มีที่มาที่ไป หรือ การนำเซ็ตติ้งอสูรกายมาเล่ายังทุ่งตะวันแยงก็ไม่มีเหตุผลกลใดมารองรับ นอกเหนือจากเป็นพื้นที่ ๆ ที่สัตว์ประหลาดตัวนี้อาศัยอยู่ ยังไม่นับเหตุผลนานานัปการ ทั้งภูมิหลังของตัวละครที่ดูฟังไม่ขึ้น เหล่ามุกตลกที่แทรกมา แต่ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดเสียงหัวเราะใด ๆ ได้ แถมยังมีการแฝงโฆษณาที่ชวนส่ายหน้าเสียอีก
สรุปแล้ว ไลโอโคตรแย้ยักษ์ คือความพยายามครั้งล่าสุดในการสร้างหนังอสูรกายที่ยังล้มเหลวในเกือบทุกภาคส่วน ทั้งการกำกับที่ไม่อาจสร้างอารมณ์ใด ๆ ได้ การยัดเยียดมุกตลกฝืนธรรมชาติ หรือแม้แต่การกำกับการแสดงก็ไม่อาจทำให้เราเชื่อไปกับความน่าหวาดหวั่นของเจ้าแย้ ถึงแม้เรื่องราวจะมาพร้อมโครงสร้างที่ดี แต่ก็ขาดความใส่ใจจนรู้สึกมักง่ายในรายละเอียด ถึงมันจะเป็นก้าวที่สำคัญของการใช้ซีจีเนรมิตเจ้าแย้จนน่าชื่นชม แต่มันก็เป็นบทเรียนที่ดี ว่าองค์ประกอบอื่น ๆ ของหนัง มันก็สำคัญไม่แพ้กัน
1 / 5
Leio (2022)
Directed by Chalit Krileadmongkon & Chittapol Ruengkulp
Written by Chalit Krileadmongkon & Charoen Kaithitisuwan
ภาพยนตร์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Movie Trivia | Review
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย