11 ก.ย. 2022 เวลา 20:14 • การศึกษา
ซีรีย์: การมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางที่เยอรมนี 1
A Thai Doctor to Germany🇹🇭🇩🇪
🐻🐻Berlin‘s version 🐻🐻
โพสกลับมาใหม่ เพราะโพสเดิมโดนเฟสบุ๊คลบครับ 😅
ก็พอดีได้ฤกษ์อัพเดทเรื่องกฎใหม่บางอย่าง (กย.2022) คือ Legalisierung(รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง) ที่ได้ยินมาว่ามีหมอต่างชาติใช้วุฒิปลอมเข้ามาสอบ เค้าเลยตรวจเข้มขึ้น ต้องทำใบปริญญาและใบชม. ครับ
สวัสดีครับ หลายๆคนคงฟัง Hamburg‘s version ⚓️กันไปแล้ว วันนี้ผมมารีวิว Berlin‘s version 🐻 กันบ้างครับ
ผมตั้งใจจะสรุปข้อมูลที่ตัวเองได้มาให้เพื่อนแพทย์ท่านอื่นๆ อ่านกัน
ก่อนที่ผ่านไปแล้วนานๆจะลืมครับ
อันนี้จะรีวิวจากประสบการณ์ของผมเอง คือเรียนภาษาเยอรมันอยู่ที่ไทยตลอดจนสอบB2ผ่าน ยื่นขอใบว.ที่รัฐ Berlin ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ และก็ขอวีซ่าของหมอ 16d (ถ้ารหัสเดิมคือ 17a ทางเยอรมนีเพิ่งรันเลขรหัสวีซ่าระยะยาวใหม่ครับ) ดังนั้นรีวิวนี้จะสุดแค่ เท้าเหยียบพื้นเยอรมนีเฉยๆนะครับ
อย่างที่ทุกคนทราบดี เยอรมนีมีรัฐย่อยๆทั้งหมด 16 รัฐ ทำให้แต่ละรัฐมีกระทรวงสาธารณสุขกับแพทยสภาเป็นของตนเอง การยื่นเอกสาร จะคล้ายๆล้อตามกันไป แต่ก็มีจุดต่างบ้าง ไม่เหมือนกันหมดซะทีเดียวครับ
บางรัฐก็มีเอกสารบางอย่างไม่ต้องใช้ เช่น Berlinจะไม่ต้องยื่น transcript กับใบเพิ่มพูน
ในขณะที่บางรัฐเอกสารต้องแปลเป็นเยอรมันทั้งหมด แต่บางรัฐก็ยื่นเอกสารภาษาอังกฤษเลยก็ได้(อัพเดท มีค.2021 เท่าที่รู้ เหลือ Hessen ที่ยังรับภาษาอังกฤษอยู่ กับ Bayern ที่ยื่น curriculum ภาษาอังกฤษได้)
อันนี้ไม่นับรวมที่แต่ละปีอาจจะออกกฏใหม่ ทำให้เปลี่ยนเอกสารที่ต้องใช้ แม้จะเป็นรัฐเดิมก็ได้ เคยมีบางรัฐที่เดิมไม่ต้อง Legalisierung จู่ๆก็เปลี่ยนกฎใหม่ให้ทำเพิ่มด้วย แบบนี้ก็มีครับ
ดังนั้นควรเลือกรัฐ/เมืองที่จะไปก่อน แล้วค่อยเตรียมเอกสารนะครับ อันนี้สำคัญมากๆ
ละก็อย่ายึดถือประสบการณ์ที่หมอคนอื่นที่ยื่นรัฐเดียวกับเราไปก่อนแล้วเป็นสรณะ เพราะถ้าเราไปยื่นทีหลังแล้วเค้าเปลี่ยนกฎใหม่ เอกสารไม่เหมือนเดิม เราก็ต้องทำตามกฎใหม่ของเค้าครับ คนเยอรมันจะเป็นคนที่เคร่งกฎมากๆ จุดนี้เราต้องทำตามเค้าอย่างเดียวครับ
อันนี้รีวิวของผมคือ Berlin update ล่าสุดมีนาคม 2021 นะครับ ถ้าหลังจากนี้ก็ต้องคอยเช็คในเว็บด้วยครับเกิดเค้าเปลี่ยนกฎ แล้วมีเอกสารต้องยื่นเพิ่ม ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
>> คำศัพท์พื้นฐานที่ควรรู้
- Approbation = ใบว.ของเยอรมัน
- Kenntnissprüfung = สอบใบประกอบ จากนี้จะเรียกย่อๆ ว่าสอบ KP ถ้าสอบผ่านแล้วจะได้ใบ Approbation
- Beruferlaubnis = ใบว. แบบชั่วคราว อายุไม่เกิน 2 ปี
1
- Fachsprachprüfung = สอบภาษาเยอรมันของหมอ/medical German/C1 Medizin จากนี้จะเรียกย่อๆว่า สอบ FSP
- Landesamt für Gesundheit und Soziales Berlin = กระทรวงสาธารณสุขแบลีน จากนี้จะเรียกย่อๆว่า LaGeSo นะครับ
- Ärztekammer Berlin = แพทยสภาแบลีน
- Facharztausbildung = การเรียนแพทย์เฉพาะทางที่เยอรมนี เป็นการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีเงินเดือนเหมือนคนทำงาน
- Assistenzarzt = ตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านในรพ. นับเป็นตำแหน่งงานอย่างหนึ่ง ไม่นับว่าเป็นนักศึกษามหาลัย เพราะได้เงินเดือนเต็ม เหมือนหมอที่ทำงานรพ. ปกติ ใช้วีซ่าทำงาน
- Eingangsbestätigung = ใบยืนยันการสมัครขอApprobation ออกให้โดย LaGeSo เมื่อเราส่งเอกสารการสมัครไปครั้งแรก ใบนี้ใช้สมัครสอบ FSP กับ Ärztekammer ได้
- Zwischenbescheid = ใบยืนยันว่าเอกสารที่ต้องการครบแล้ว+เราจ่ายเงินค่าธรรมเนียมแล้ว กำลังตรวจสอบเอกสาร เพื่อออก Feststellungbescheid
- Feststellungbescheid(ที่รัฐอื่น/สถานทูตจะเรียกว่า Defizitsbescheid แต่คือใบเดียวกัน) = ใบตรวจสอบวุฒิแพทย์ของเราว่าขาด/บกพร่องจากของเยอรมัน ใบนี้ใช้ขอวีซ่า 16d (รหัสเดิม 17a)
- Gutachten = การเทียบวุฒิแพทย์แบบตรวจสอบเป็นรายวิชา/เรื่องที่เรียน/จำนวนชม.แบบละเอียด ต้องส่ง curriculum ตัวเต็มเป็นภาษาเยอรมัน(ต้องเอาไปแปลเอง)ไปให้สำนักงานที่ Bonn(เมืองหลวงเก่าของ West Germany) รอตรวจสอบประมาณ 1.5-2 ปี ถ้าผ่านคือวิชาที่เราเรียนเหมือนกับหลักสูตรหมอที่เยอรมัน ก็จะได้ Approbation เลย โดยไม่ต้องสอบ KP แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็คือต้องมาสอบ KP อยู่ดี หลังจากรอไป 2 ปี ดังนั้นไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่
- Beglaubigen = รับรองสำเนา ใบ copy ทำที่สถานทูตเยอรมัน โดยแสดงเอกสารจริง พร้อมใบ copy 2 แผ่น จนท. จะประทับตราให้ว่าใบ copy เหมือนกับของจริง ต้องทำกับเอกสารทุกใบที่เราไม่ได้ส่งตัวจริงไป หรือเอกสารที่เราเอาไปแปลมา ถ้าเอกสารภาษาไทยหน้าละ 15€ เอกสารภาษาเยอรมัน/อังกฤษ หน้าละ 10€ อันนี้โดยปกติถ้าเราทำเพื่อการศึกษา สถานทูตจะปั้มให้ฟรีครับ แต่จนท.บางคนบอกว่ากรณีผมถือเป็น Ausbildung ไม่ใช่ Studium เลยไม่ได้ ต้องเป็นเรียนมหาลัย(Studium)เท่านั้น บางคนก็ใจดีให้ครับ แล้วแต่ดวง **อันนี้จนท.จะปั้มตรงใบ copy
- Legalisieren = รับรองเอกสารไม่ปลอมแปลง **จนท.จะปั้มตรงเอกสารจริงเลย คือปั้มลงบนใบปริญญาเลย อันนี้ของแบลีน ตอนนี้ต้องทำใบปริญญากับใบชม. ครับ เวลาไปสถานทูตให้เราพูดไปเลยว่า จะ Beglaubigen หรือ Legalisieren เพราะอยู่คนละเคาท์เตอร์ครับ อย่าพูดว่ารับรองเอกสาร เดี๋ยวจะงง
>>เตรียมเอกสาร
ตอนแรกแนะนำให้เรียนเยอรมันถึง B1 ก่อนครับ เพราะเป็นระดับที่พอเดาๆคำได้ อ่านออกบ้างนิดหน่อย ใช้ google translate ก็พอเข้าใจ เพราะเว็บส่วนมากไม่มีภาษาอังกฤษครับ
ต่อมาก็เลือกรัฐที่จะยื่นครับ ให้ตั้งธงไว้ในใจก่อนก็ได้ซัก 3 เมือง อาจจะเคยไปเที่ยวแล้วชอบ ชอบทะเล-ทางเหนือ ชอบภูเขา-ทางใต้ ชอบอากาศอุ่นๆ-ริมแม่น้ำไรน์ ชอบประเทศเพื่อนบ้าน-ขอบชายแดน
พอเลือกได้ เราก็ค่อยไปดูเงื่อนไขกับเอกสารของเมืองที่เราชอบ แล้วก็เทียบกัน อาจจะชั่งใจว่า เมืองไหนเอกสารไม่เยอะเตรียมง่าย คนที่สอบไปแล้วตกไม่เยอะ ระยะเวลารอสอบไม่นาน รอตรวจเอกสารไม่นาน
เท่าที่อ่านเจอผ่านตา คนชอบบอกว่า Bayern, NRW, Hessen เร็ว
สุดท้ายเราก็เลือก final มาเลย 1 รัฐ
***รัฐต้องห้ามที่ปัญหาเยอะมากๆ คือ Rheinland-Pfalz ครับ เอกสารยิบย่อยเยอะและรอนานมาก และรอสอบKP 16 เดือนครับ 🥲
ถ้ารัฐที่ครูดาวทำคลิปไว้แล้ว จะมี
Hessen ดูคลิปหมออั๋น
Hamburg ดูคลิปหมออิ๊ค หมอกระติ๊บ
ครับ
อันนี้เป็นรวมเว็บของสาธารณสุขที่เราต้องไปยื่นขอ Approbation แยกตามรัฐ ทั้ง16 รัฐ บางlinkกดเข้าไปจะเจอข้อมูลเลย แต่บางอันก็เริ่มlinkเสียแล้วครับ
ทีนี้ถ้า link เสีย หรือเข้าไปไม่เจอ checklist ยื่นเอกสาร วิธีดูว่าใช้เอกสารอะไรบ้าง ง่ายที่สุด ก็เริ่มจาก google ครับ
“approbation drittstaaten+ชื่อรัฐที่จะไป”
(((จากตรงนี้ผมจะพูดถึงแต่ของ Berlin นะครับ 😃)))
อันแรกที่เด้งมาในgoogle สำหรับ Berlin ก็คืออันนี้ครับ
เป็นของเทศบาลเมืองแบลีน
และอันนี้ เป็นของ LaGeSo กดเข้าไปตรง Checkliste für Personen mit Drittstaaten-Ausbildung เลย
เอกสารที่ต้องใช้ตามในเว็บมีดังนี้ครับ
1. Nachweis der Zuständigkeit หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเราจะไปเป็นหมอที่ Berlin อันนี้มีวิธีแสดงหลักฐานได้ 5 แบบ
1.1 ใบตอบรับเข้าทำงานในแบลีน
1.2 ใบลงว่ามีทะเบียนบ้านอยู่แบลีน อันนี้สำหรับคนที่อยู่แบลีนอยู่แล้ว เช่น เรียนป.โทอยู่ แต่งงานหรือ เรียนภาษาอยู่
1.3 ใบปฏิเสธการสมัครงาน 5 งานในแบลีน
—> วิธีข้อ 1.3 นี้ ตอนแรกเลย ผมให้เพี่อนช่วยโทรไปถาม LaGeSo มาครับ จนท.บอกมาเองเลย ว่าเหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ได้อยู่ในเยอรมนีตอนที่ยื่นเอกสาร ตัวผมเองก็ใช้วิธีนี้ อ่านรายละเอียดการทำเพิ่มเติมได้ด้านล่างนะครับ
1.4 ใบเชิญไปสัมภาษณ์งานที่แบลีน
1.5 ใบรับคำแนะนำ/ปรึกษาจาก ZSBA: service center for professional recognition
—> อันนี้ผมมาอ่านเจอทีหลัง ในกรุ๊ปเฟสบุ๊ค doctors going to Germany หลังจากได้ใบปฏิเสธงานครบ5 อันแล้ว เลยไม่ได้ใช้วิธีนี้ คำอธิบายตามลิ้งค์นี้ https://www.anerkennung-in-deutschland.de/html/en/pro/service-center.php# ZSBA คือหน่วยงานของเยอรมันที่ช่วยเหลือสนับสนุนวิชาชีพ(รวมหมอ พยาบาล)ให้เทียบวุฒิ แล้วมาทำงานที่เยอรมนี อันนี้ถ้าใครอยากลองดูก็เมลไปถาม ZSBA ดูนะครับ
2. Antrag ใบสมัคร ตรงหน้าหลังจะมีเขียนด้วยว่าจะจ่ายค่าสมัครแบบไหน ให้เลือกแบบโอนเงินนะครับ เพราะเรายังไม่มีบัญชีธนาคารที่เยอรมนี จะหักบัญชียังไม่ได้.
อันนี้จะมีช่องนึง เขียนว่าเราจะขอ Beruferlaubnis ด้วยมั้ย ก็ติ๊กไปเลยครับ ✔️ Ich möchte zusätzlich eine befristete Erlaubnis zur vorübergehenden Ausübung meines Berufes im Land Berlin (Berufserlaubnis) erhalten. เดี๋ยวอ่านคำอธิบายเพิ่มตรงข้อดีของแบลีนนะครับ
3. Lebenslauf เรซูเม่ของเราเป็นภาษาเยอรมัน แนะนำทำเป็น europass CV เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ใช้กันทั้งยุโรป https://europa.eu/europass/de/create-europass-cv อย่าลืมเซ็นชื่อกับลงวันที่ตรงล่างสุดด้วย เพราะในฟอร์มของ europass จะไม่มีให้เซ็นชื่อ
4. Reisepass พาสปอต ถ่ายเอกสารหน้าแรก
5. Geburtsurkunde สูติบัตร ถ่ายเอกสาร+แปลเป็นเยอรมัน
6. Führungszeugnis aus Deutschland ใบปลอดประวัติอาชญากรรมที่เยอรมัน
ขอได้จากกระทรวงยุติธรรมเยอรมัน เข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บ ปริ๊นใบคำร้องออกมา เอาไปสถานทูตเยอรมัน บอกว่ามารับรองลายเซ็น จากนั้นเค้าจะให้เราเซ็นลายเซ็นตรงท้ายใบคำร้องต่อหน้าเจ้าหน้าที่ จ่ายค่าธรรมเนียมการเซ็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ 20€ ละก็เอาใบคำร้องไปจ่ายค่าธรรมเนียมที่ธนาคาร 13€ เสร็จก็เอาใบยืนยันการโอนเงินถ่ายเอกสารส่งใบcopyใบโอนเงินกับใบคำร้องที่เซ็นชื่อที่สถานทูตไปทางไปรษณีย์ไปเยอรมนี
อันนี้พอทางกระทรวงยุติธรรมได้รับเอกสาร กระทรวงจะส่งใบปลอดอาชญากรรมไปที่ LaGeSo เองเลย มันจะมีช่องให้กรอกว่าให้ส่งไปที่อยู่ไหน เราไม่ต้องส่งเอง ซึ่งสะดวกมาก แนะนำให้ทำหลังจากเอกสารใบสมัครรอบแรกไปถึง LaGeSo แล้ว
7. Führungszeugnis aus Heimatland ใบปลอดประวัติอาชญากรรมที่ไทย
ไปขอได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรงเยื้องกับพารากอน เตรียมพาสปอต, บัตรประชาชน พิมพ์ใบสมัคร Approbation(ใบ Antrag) กรอกข้อมูลให้ครบ แล้วใช้ยื่นเป็นแนบหลักฐานไปด้วย เพราะตำรวจจะถามว่าเอาไปทำอะไร และขอเอกสารเป็นหลักฐาน ตำรวจจะจับเราปั้มลายนิ้วมือ จ่ายค่าธรรมเนียม 100 บาท ถ้าให้ส่งไปรษณีย์มาให้ที่บ้านจะมีค่าส่งเพิ่ม รอประมาณ 2 สัปดาห์
หลังได้ใบมา จะเป็นใบภาษาอังกฤษ ต้องเอาไปแปลเป็นเยอรมัน ซึ่งที่ไทย ไม่มีล่ามสาบานตนที่แปลอังกฤษ-เยอรมันได้ ดังนั้นต้องส่งไปแปลที่เยอรมัน ตอนนั้นผมกูเกิลหาเอา ก็เจอ เราก็เอาใบตำรวจแสกน ส่งเมลไปให้เค้าประเมินราคา พอประเมินเสร็จถ้าเราโอเคก็โอนเงินค่าแปลไปให้เค้า เค้าจะแปลแล้วส่งไปรษณีย์กลับมาให้
เราก็เอาใบแปลนี้ไปปั้ม Beglaubigung ที่สถานทูตด้วยแม้ว่าเราจะใช้ตัวจริงไม่ได้ส่ง copy เพราะว่าในใบแปลมันจะมีเขียนว่าแปลมาจากไฟล์ภาพ.jpg ไม่ได้แปลจากเอกสารตัวจริง
8. Leumundszeugnis ใบรับรองความประพฤติจากแพทยสภาไทย ยื่นคำขอที่เว็บแพทยสภา บอกไปด้วยว่าต้องการภาษาไทย เพราะจะเอาไปแปลเป็นเยอรมันต่อ รอ 1-2 สัปดาห์ ได้
9. Ärztliche Bescheinigung ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยหมอที่เยอรมัน อันนี้ต้องไปตรวจกับหมอในเยอรมัน ยื่นทีหลังได้
10. Nachweis der abgeschlossene Ausbildung หลักฐานการศึกษา
10.1 ใบปริญญา เอาไป legalisieren แปลเป็นเยอรมัน แล้วถ่ายเอกสาร (อัพเดท กย.2022)
10.2 ใบว. ถ่ายเอกสาร+แปลเป็นเยอรมัน
10.3 ใบจำนวนชม.เรียน อันนี้ไปขอที่ฝ่ายทะเบียนคณะ เป็นใบที่แจกแจงว่า เรียนวิชาอะไรบ้างในแต่ละปี วิชาไหนเรียนกี่ชม. ต่อสัปดาห์/เทอม ให้ออกภาษาไทย แล้วเอาไปแปลเป็นเยอรมัน บางมหาลัยจะมีคนเคยขอแล้ว ที่รู้คือมี จุฬา มช. รามา วชิระ ก็บอกเค้าว่าจะไปเยอรมัน เค้าน่าจะรู้อยู่ว่าออกให้แบบไหน จุดสำคัญคือทุกหน้าต้องมีชื่อ, รหัสนักศึกษา และลายเซ็นคณบดีครับ และก็เวลาเย็บมุมต้องประทับตราของคณะตรงมุมด้วย คล้ายๆที่เห็นในใบแปลไทย-เยอรมัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ blogคุณหมออินเดียที่ผมแนบไว้ด้านล่างครับ ใบนี้ให้เค้าออกเป็นภาษาไทยแล้วเอาไปแปลเป็นเยอรมัน
(ใบนี้ในฟอร์มไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องใช้ แต่ตอนผมได้ Eingangbestätigung มา ทางLaGeSo บอกว่าต้องใช้ครับ อันนี้ก็เลยเอามาใส่ไว้ด้วย) อันนี้เอาไป legalisieren แปลเป็นเยอรมัน แล้วถ่ายเอกสาร (อัพเดท กย.2022))
10.4 (ใบเพิ่มพูนสำหรับแบลีน ไม่ต้องใช้ก็ได้ เพราะเค้าเขียนว่าใช้ในกรณีที่ประเทศนั้นต้องอินเทินจบก่อนจึงจะได้ใบว. แต่ประเทศไทยเรา ขึ้นทะเบียนเป็นหมอทันทีหลังสอบNLจบ ดังนั้นไม่ยื่นก็ได้ ผมเองก็ไม่ได้ยื่นครับ ช่วยประหยัดค่าแปลได้นิดนึง)
11. Nachweis über Deutschkenntnisse หลักฐานความรู้ภาษาเยอรมัน
11.1 ใบสอบภาษาเยอรมัน ระดับ B2 จะสอบจาก Goethe, TestDaf หรือ Telc ก็ได้ ใช้ใบถ่ายเอกสาร
11.2 ใบสอบภาษาเฉพาะทางแพทย์ ระดับC1 Medizin อันนี้ต้องไปสอบที่เยอรมนีกับ Ärztekammer Berlin แพทยสภาแบลีน ครับ ยื่นทีหลังได้
สำหรับเบอร์ 6, 9, 11.2 LaGeSo บอกเลยว่าสามารถยื่นตอนเราไปถึงเยอรมันแล้วได้ครับ
>>การแปล
เอกสารที่ต้องแปลไทย-เยอรมัน ให้แปลโดยล่ามสาบานตน มีหลายเจ้ามากครับ ครูดาว, ในเกอเธ่, ตรงตึกQ Houseลุมพินี จังหวัดอื่นก็มีครับ https://bangkok.diplo.de/blob/1376436/814b697aab4403486e7bd59266121655/uebersetzerliste-data.pdf
เอกสารที่ต้องแปลอังกฤษเยอรมัน : ใบปลอดอาชญากรรมจาก สตง. อันนี้ตอนนั้นผมกูเกิลมั่วๆไปเจอ ก็มีหลายเจ้าครับ
***อันนี้ไม่ได้ค่านายหน้า/สปอนเซอร์นะครับ เจ้าที่ผมใช้คือ https://en.komunikando.de/contact/ ตอนนั้นปี2019 โดนค่าแปล+ค่าส่งไป 59.14€ ครับ อาจลองหาดูหลายๆเจ้าก็ได้ครับ เผื่อมีที่ถูกกว่า
>>เอกสารทุกอย่างที่เป็นใบถ่ายเอกสาร ไม่ต้องเซ็นสำเนาถูกต้องนะครับ ประเทศเยอรมนีใช้การทำ Beglaubigung โดยสถานทูตแทนครับ ถ้าเซ็นไปเอกสารจะเสียครับ
>>การจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ
- บางที่ต้องใช้ใบยืนยันการโอนเงิน ส่งไปรษณีย์ไปยืนยัน เช่น LaGeSo, กระทรวงยุติธรรม พวกนี้แนะนำให้ไปโอน SWIFT ที่ธนาคารครับ ค่าธรรมเนียมถูกสุดคือธนาคารกรุงเทพ 1,150 บาท แต่ให้เทียบอัตราแลกเปลี่ยนดูด้วยนะครับ บางทีธนาคารอื่นถูกกว่าก็มี เวลาโอนต้องเลือก “charge ours“ คือเราเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนทั้งหมดนะครับ
- บางที่ไม่ต้องใช้ใบเสร็จเป็นกระดาษ แค่แคปหน้าจอหลักฐานเป็นQR ส่งเมลไปก็ได้ เช่น ค่าแปลเอกสารอังกฤษ-เยอรมัน, ค่าสมัครFSP, ค่าคอร์สติวสอบFSP-KP, blocked account(อันนี้ใช้ตอนขอวีซ่าครับ) พวกนี้ใช้แอป K-Plus โอน จะค่าโอนถูกที่สุดครับ แค่ 250 บาท(มีค.2021) เงินถึงเร็วกว่าโอนSWIFT ด้วย
>>แบ่งประเภทเอกสารทั้งหมดเป็นดังนี้
- เอกสารที่ส่งตัวจริงไปได้เลย(สามารถพิมพ์ใหม่ได้หลายใบ) และไม่ต้องแปลเพราะเป็นภาษาเยอรมันอยู่แล้ว ไม่ต้องทำ beglaubigen คือ ใบปฏิเสธงาน 5 งาน, ใบสมัครApprobation, เรซูเม่ „Schriftliche Einverständniserklärung zur Teilnahme an einer Kenntnisprüfung“(อยากรู้ว่าคืออะไร ให้อ่านเพิ่มเติมตรง timeline ครับ), ใบรับรองแพทย์ที่เยอรมัน
- เอกสารที่ส่งตัวจริงไปได้เลย(สามารถออกใหม่ได้หลายใบ) และต้องแปลอังกฤษ-เยอรมัน อันนี้ต้อง beglaubigen ที่สถานทูตด้วย เพราะใบแปลจากไฟล์ภาพ คือ ใบปลอดอาชญากรรมจาก สตง.ไทย
- เอกสารที่ส่งตัวจริงไปได้เลย(สามารถออกใหม่ได้หลายใบ) และต้องแปลไทย-เยอรมัน อันนี้ต้อง beglaubigen ที่สถานทูตด้วย เพราะมีใบแปล คือ ใบรับรองความประพฤติแพทยสภา, ใบรับรองการทำงานรพ.ปัจจุบัน, ใบชม.เรียน
- เอกสารที่ส่งใบ copy ไป และไม่ต้องแปล อันนี้ต้อง beglaubigen ที่สถานทูตด้วย เพราะ เป็นใบ copy คือ หน้าแรก passport, ใบสอบ B2
- เอกสารที่ส่งใบ copy ไป และต้องแปลไทย-เยอรมัน อันนี้ต้อง beglaubigen ที่สถานทูตด้วย เพราะเป็นใบ copy+มีใบแปล คือ สูติบัตร, ใบว., ใบรับรองการทำงานเก่าๆ(บางรพ.พอลาออกแล้วจะไม่ออกให้ใหม่)
- เอกสารที่ส่งใบ copy ไป ต้อง legalisieren ก่อน ต้องแปลไทย-เยอรมัน และต้อง beglaubigen ที่สถานทูตต่อ 😅 คือ ใบปริญญา, ใบชม. (อัพเดท กย.2022)
- เอกสารที่กดในเว็บ และจ่ายเงินเฉยๆ คือ ใบปลอดอาชญากรรมเยอรมัน
>>การทำ Nachweis der Zuständigkeit โดยการสมัครงานในแบลีน
- สิ่งที่เราต้องทำก็คือส่งเมลไปสมัครงานตามรพ.ต่างๆในแบลีน ตอนนั้นผมสมัครไปประมาณ 10 กว่ารพ. ละก็รอเค้าตอบเมลกลับมา ส่วนใหญ่เค้าก็ปฏิเสธอยู่แล้วเพราะเราไม่มีใบว.ของเยอรมัน+ไม่มีใบสอบผ่าน B2 (ทำงานเป็นหมอไม่ได้ แถมพูดเยอรมันไม่ได้อีก)
- ตอนนั้นผมได้ใบปฏิเสธมา 7 อัน กับใบเชิญไปสัมภาษณ์งาน 1 อัน (😅โดนเรียกสัมภาษณ์ได้ไงก็ไม่รู้) จากนั้นก็ปริ๊นท์ใบตอบกลับของเค้าออกมา แนบกับจดหมายสมัครงานของเรา เก็บไว้ใช้เลยครับ มีเทคนิคอยู่1อย่างคือ ให้สมัครพวกรพ.ใหญ่ๆตามเว็บหางาน เพราะมันจะมี HR กับระบบอัตโนมัติ คอยตอบเมล พวกนี้เค้าจะเมลตอบเราเสมอครับ ถึงแม้จะปฏิเสธก็ตาม
- ตำแหน่งงานที่เราจะสมัคร ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสาขาที่เราอยากเทรนเด๊นนะครับ อย่างผมจะเรียนศัลย์ แต่ที่สมัครตอนทำ Nachweis นี่ ก็สมัครทุกอย่างที่หาเจอเลย ทั้ง geriatric med, psychi, rehab จุดสำคัญที่เค้าสนใจคือ ต้องเป็นงานของรพ.ในรัฐแบลีนเฉยๆครับ ไม่มีผลว่าเราจะเรียนสาขาอะไรตอนหลัง
- วิธีเขียนจดหมายสมัครงานแบบง่ายๆ https://www.alumniportal-deutschland.org/karriere/perfekte-bewerbung-tipps/ credit: ชีทเรียน GER4012 Prof. Salifou ม.รามคำแหง
- เวลาเขียนจดหมายสมัครงานเสร็จแล้ว จะให้ใครตรวจให้ดี? ง่ายๆก็ให้ครูสอนภาษาเยอรมันที่เราเรียนอยู่ด้วยดูให้เลยครับ ปกติครูส่วนใหญ่จะยินดีช่วย อยากให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จอยู่แล้วครับ 😃
>>ข้อดีของรัฐแบลีน
- ไม่ต้องใช้ curriculum อันนี้มันจะคล้ายๆหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่คณะจะแจกตอนเราปฐมนิเทศเข้าปี1 คืออธิบายว่าวิชาไหน เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง แต่เค้าจะต้องการให้ใส่เฉพาะวิชาที่เราเรียนเท่านั้น เราต้องออกแบบเอง ว่าจะให้ใส่ข้อมูลอะไรบ้าง แล้วเอาไปให้ฝ่ายทะเบียนคณะเซ็นกับประทับตราให้ ถ้าใครยื่นรัฐอื่นๆ แล้วต้องใช้ ดูตัวอย่างการทำจาก blog คุณหมอ Tejas อ้างอิงด้านล่างนะครับ (อัพเดท กค.2019 รัฐที่ไม่ต้องใช้ curriculum มี BW, Saarland, RLP, Hessen, Thüringen, Bremen, NRW, Berlin)
****มีข่าวลือว่า เค้ากำลังจะปรับให้ยื่น Curriculum ด้วยทั้งประเทศแล้ว ตามนี้
(อัพเดท สค.2022) แต่ว่าถึงตอนนี้ในเว็บของ LAGeSo ก็ยังไม่ได้เขียนว่าต้องใช้ Curriculum เพิ่มนะครับ อันนี้ต้องรอดูต่อไป
- ไม่ต้องใช้ใบเพิ่มพูนทักษะ อันนี้คนที่ไม่ได้ไปใช้ทุนก็ยื่นได้
- ไม่ต้องใช้ Transcript อันนี้ก็ประหยัดค่าแปลได้หน่อยนึง เพราะเค้าจะดูในใบชั่วโมงเรียนเป็นหลักอยู่แล้ว
- ไม่ต้องใช้ job offer ก็สอบ KPได้ อันนี้ที่ก่อนหน้านี้อธิบายไว้ว่า เราเลือกได้ว่าจะขอ Beruferlaubnis หรือไม่ก็ได้ เพราะว่ามีบางรัฐจะบังคับว่า หลังเราสอบ FSP ผ่าน ต้องขอ Beruferlaubnis ละหางานให้ได้ก่อน พอมี job offer แล้วจึงจะเอา job offer มาสมัครสอบ KP ได้ แต่แบลีนเป็นไม่กี่ที่ ที่ไม่แคร์ ใครจะขอ Beruferlaubnis ไปสมัครงาน หรือจะไม่ขอเลย จะสอบ KPให้หมดก่อน ให้ได้ Approbation ก่อนค่อยสมัครงานก็ได้ อันนี้แล้วแต่สไตล์เราจะเลือกเลย
>>ข้อเสียของรัฐแบลีน
- ทุกอย่างต้องเป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น ไม่รับภาษาอังกฤษใดๆ ทำให้ปัญหาหลักคือใบปลอดอาชญากรรมของไทย ซึ่ง สตง. ออกให้เป็นภาษาอังกฤษได้เท่านั้น (เคยถามดู เค้าบอกว่าจะออกภาษาไทยให้เฉพาะคนที่ทำงานสถานทูตไทยในต่างประเทศเท่านั้น) และล่ามสาบานตนแปลอังกฤษ-เยอรมัน ไม่มีในไทยครับ ต้องส่งไปแปลที่นู่นแบบที่กล่าวมาแล้ว
- ช้ามาก นับจากวันแรกที่ส่งเอกสารไป เค้าใช้เวลาตรวจครั้งแรก 4 เดือน พอเราได้ Eingangsbestätigung ไปจ่ายเงิน ส่งเอกสารที่เหลือ ได้ Zwischenbescheid ก็ต้องรอเค้าตรวจอีก 4 เดือน ถึงจะได้ Feststellungbescheid อันนี้ไม่นับเวลาเราส่งไปรษณีย์นะครับ ช่วงนี้โควิดเที่ยวบินน้อย จะส่งเอกสารนานกว่าเดิมอีก ถ้าไปรษณีย์ไทยก็ 3 อาทิตย์ DHLเร็วกว่าหน่อยแต่มักติดศุลกากรที่นู่น
สรุปว่า ต้องกร่อยรอเอกสารเกือบๆ 1 ปี ส่วนคิวรอสอบที่เห็นคนโพสล่าสุดในกรุ๊ป คือรอสอบ FSP 2-3 เดือน รอสอบ KP 6 เดือน รวมๆแล้ว ก็เกือบ 2 ปี กว่าทุกอย่างจะเสร็จ ดังนั้นไม่เหมาะสำหรับคนรีบครับ ถ้าหวานเย็นสบายๆ ไม่รีบ ใช้ทุนอินเทิน2-3 รอ ก็โอเคครับ
>>สภาพเมือง ความเป็นอยู่ ผู้คน
อันนี้ลางเนื้อชอบลางยาครับ สั้นๆคือ เมืองนี้คือเมืองใหญ่ที่สุดของเยอรมนีแล้วครับ แต่เล็กกว่ากทม.อยู่ดี สภาพแต่ละโซนจะต่างกันเยอะมาก มีย่านเมืองเก่าแบบแถวราชดำเนิน ย่านไฮโซแบบทองหล่อ ย่านฮิปๆแบบอารีย์ ย่านอยู่อาศัยแบบลาดพร้าว ย่านแขกแบบพาหุรัด มีหมดครับ การเลือกที่อยู่คนละโซน ก็ให้อารมณ์เหมือนอยู่คนละเมืองไปเลย
แบลีนเองเคยถูกแบ่งเป็น east Berlin ปกครองโดยเยอรมันตะวันออก(คอมมิวนิสต์แบบรัสเซีย)กับ west Berlin(ทุนนิยมแบบยุโรปทั่วไป) มาก่อน ดังนั้นลักษณะของเมืองนี้จะไม่เหมือนส่วนอื่นของเยอรมนีเลยครับ กึ่งๆเป็นลูกครึ่งเยอรมันตะวันออกกับตะวันตก แต่ตัวเมืองดันอยู่ในตะวันออก(งงมั้ยครับ 55) ปัจจุบันก็กลายเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมผับของคนรุ่นใหม่ liberal veganism แนวๆนี้
ส่วนกำแพง Berlin ก็ยังมีเหลือให้ชมบางส่วนครับ
สิ่งที่ทำให้แบลีนต่างจากเมืองอื่นของเยอรมนีจากมุมมองของคนเยอรมันเอง
สิ่งที่ทำให้แบลีนแตกต่าง จากมุมมองของคนต่างชาติ
>>Timeline for Berlin
- เรียนเยอรมันถึง B1 เริ่มหาข้อมูลเตรียมเอกสาร
- ส่งเอกสารครั้งที่ 1 : เตรียมเอกสารทั้งหมด ยกเว้นใบB2 กับเอกสารที่ต้องออกที่เยอรมัน ส่งไปรษณีย์ไป LaGeSo ***ถ้าส่งไปรษณีย์ไทย ให้เขียนประเภทว่าเป็น documents และมูลค่า 0€ จะทำให้ไม่ติดศุลกากร และไปถึงเร็วขึ้น
- พอ LaGeSo ได้รับ เค้าจะส่งเมลบอกเราว่าได้รับแล้ว ให้รอเค้านับเอกสาร ซึ่งตอนนี้เค้าจะยังไม่อ่านเอกสารของเรา แต่จะแค่นับดูว่าขาดอะไรเฉยๆ (เค้าจะเริ่มอ่าน+ตรวจสอบเมื่อเราจ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว)
- ไปกรอกฟอร์มขอ Führungszeugnis กับกระทรวงยุติธรรมเยอรมัน จ่ายเงิน ส่งใบคำร้องกับcopyใบโอนเงินไปให้กระทรวยุติธรรมทางไปรษณีย์
- ระหว่างรอ 4-5 เดือน เรียนภาษาต่อ สอบ B2 ให้ผ่าน
- LaGeSo ส่ง Eingangsbestätigung ทางเมล พร้อมให้เราไปจ่ายค่าธรรมเนียม 350€ และจะลิสต์เอกสารที่ขาดมาให้ บอกให้เราส่งให้เค้าเพิ่ม ในลิสต์จะมีใบB2อยู่ด้วย และจะมีใบ „Schriftliche Einverständniserklärung zur Teilnahme an einer Kenntnisprüfung“ ส่งมาในเมลด้วย อันนี้เป็นเอกสารที่เราจะแสดงตนว่า จะขอสละสิทธิ์ทำ Gutachten และจะขอสอบ KP แทน อันนี้ก็ปริ๊นท์ออกมา แล้วเซ็นชื่อ
- ไปจ่ายเงิน 350€ แสกนใบโอนเงินส่งให้ LaGeSo ทางอีเมลก่อน
- ส่งเอกสารครั้งที่ 2 : ส่งใบ „Schriftliche Einverständniserklärung zur Teilnahme an einer Kenntnisprüfung“ ,สำเนาใบ B2 กับใบโอนเงินตัวจริง ส่งไปทางไปรษณีย์ให้ LaGeSo
- พอ LaGeSo ได้รับ จะส่ง Zwischenbescheid มาให้ทางเมล บอกว่าได้เอกสารครบกับค่าธรรมเนียมแล้ว กรุณารอตรวจเอกสาร
- รอ 4-5 เดือน LaGeSo จะส่ง Feststellungbescheid มาทางเมล
- สมัครคอร์สเตรียมสอบ FSP,KP ในแบลีน อันนี้มีหลายเจ้าหลายราคา อันนี้เลือกโรงเรียนตามที่ชอบเลยครับ ของที่ผมสมัครเป็นของ Charité ครับ เวลาเรียนคือเรียนในโรงเรียนแพทย์เลย บางคาบก็เอาอาจารย์หมอมาสอนด้วยครับ https://academy.charite.de/en/agenda/
- สมัครสอบ FSP กับ Ärztekammer Berlin อันนี้ไปกรอกข้อมูลในเว็บของ Ärztekammer แนบไฟล์ Eingangsbestätigung ไปด้วย เค้าจะมีให้เรากรอกช่วงเวลาที่อยากสอบลงไป แต่จะเลือกวันที่เป๊ะๆไม่ได้ พอใกล้ๆถึงคิว ก่อน 2 สัปดาห์ เค้าจะเมลมาบอกครับ
หลังจากเรากรอกใบสมัครแบบออนไลน์ไป เค้าจะส่งใบโอนเงินมาให้เราทางเมลครับ เราก็โอนเงินไป 420€ พอเสร็จก็แคปหน้าจอโอนเงิน ส่งเมลไปให้เค้าครับ สุดท้ายก็จะได้เมลส่งมา ว่าได้รับเงินแล้ว ก็พิมพ์ใบนี้มาด้วยครับ
- เอาใบลงทะเบียนคอร์สเรียน FSP-KP, ใบโอนเงินค่าสอบFSP+ใบว่าได้รับเงินสอบ FSP, Feststellungbescheid ไปขอวีซ่า 16d (รหัสเดิม 17a) ที่สถานทูต
- รอวีซ่าประมาณ2 เดือน
- บินไปแบลีน ยื่นใบรับรองแพทย์, ใบลงทะเบียนบ้านในแบลีนให้ LaGeSo
- เรียนคอร์สเตรียมสอบ FSP(medical German/C1 Medizin)
- สอบ FSP ผ่าน
- รอคิวสอบ KP ปกติแบลีนจะเลือกวันไม่ได้ ทาง LaGeSo จะติดต่อมาเอง หลังเราส่งผลสอบ FSP ไป ช่วงนี้จะรอประมาณ 6 เดือน
- ระหว่างรอสอบ KP ก็เรียนคอร์สเตรียมสอบ KP และอาจไป elective ตามรพ.ต่างๆในสาขาที่เราอยากเรียน เพื่อสร้าง connection กับ professor หรือถ้าใบ Beruferlaubnis ออกแล้ว professor ชอบเรา อาจจะรับเข้าทำงานเลยก็ได้
- สอบ KP ผ่าน ได้ Approbation —> officially เป็นหมอที่เยอรมัน
- สมัครงานตำแหน่ง Assistenzarzt ตามรพ.ต่างๆในสาขาที่เราชอบได้เลย
>>แหล่งข้อมูลสำคัญ
- Marburger Bund FAQ (ภาษาอังกฤษ,เยอรมัน) อันนี้รวมคำถามต่างๆที่ส่วนใหญ่หมอต่างชาติจะสงสัยเรื่องการมาเยอรมนีครับ https://www.marburger-bund.de/bundesverband/service/auslaendische-aerzte/foreign-physicians/faqs-foreign-physicians
- กรุ๊ปเฟสบุ๊ค Doctors going to Germany (ภาษาอังกฤษ-เยอรมัน) อ่านได้อ่านดี อ่านทุกวันยิ่งดี ประหนึ่งไบเบิล มีข้อมูลของหมอจากทั่วโลกทั้งอินเดีย แอฟริกา รัสเซีย โรมาเนีย จีน ฯลฯ ที่ไปอยู่เยอรมนี
มีพวกคำถาม-คำตอบ ประสบการณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะขอวีซ่า รับรองเอกสาร เตรียมตัวสอบ ระยะเวลารอคิวสอบ การทำGutachten แนวข้อสอบ ที่เรียนคอร์สเตรียมสอบ มีทุกอย่างจริงๆ
ข้อมูลมีตั้งแต่ปี 2013 มีของทุกรัฐ มีรายละเอียดเยอะมาก ต้องใช้ search keyword เอาครับ เช่น Berlin, Cologne, Stuttgart, Visa/Visum, FSP, KP
มันจะมีโพสเด้งขึ้นมาเยอะๆ ซึ่งจะมีหมอที่มาถาม ละก็จะมีหมอที่เคยยื่นเอกสาร/สอบแล้ว มาตอบ
วิธีนี้ทำให้ได้คำตอบเกือบทุกอัน-ทุกรัฐที่เราสงสัย เพราะทุกรัฐเคยมีหมอต่างชาติไปยื่นแล้วทั้งหมดครับ
ส่วนใหญ่ผมก็หาข้อมูลจากกรุ๊ปนี้ครับ แนะนำว่าว่างๆไม่มีอะไรทำก็ search ละอ่านเล่นๆไปเรื่อยๆครับ
- Youtube ของ MensPRO (ภาษาอังกฤษ) อันนี้ เป็นคุณหมอ Prashant จากอินเดีย เล่าวิธีเตรียมตัวก่อนไปเทรนเด๊น OB/GYN ที่ Berlin ครับ มี3 ตอน ถ้าใครจะยื่นที่ Berlin คือห้ามพลาด https://m.youtube.com/watch?v=tYpu6iEwAvc
- Blog ของหมอ Tejas (ภาษาอังกฤษ) ชาวอินเดีย ที่รีวิวการไปเยอรมันของเค้าเอาไว้ครับ อธิบายพวกการเตรียมเอกสาร เช่น curriculum, ใบชม. เอาไว้ด้วยครับ http://tejasghetia.com/prepare-and-submit-your-curriculum-in-germany/
- Blog ของคุณหมอ Helena (ภาษาอังกฤษ) ชาวโครเอเชีย เล่าประสบการณ์ยื่นขอApprobationในแบลีน ตอนไป elective แล้วอาจารย์ถูกใจ เลยได้งานเลย ตอนนี้เทรนเด๊น Psychi อยู่แบลีน https://helenamamic.com/2021/01/01/approbation-in-germany/
- Google ไม้ตายสุดท้ายที่รู้ทุกอย่างบนโลก ถ้าเจอคำศัพท์ ชื่อเอกสารประหลาดๆ ที่ไม่เคยมีใครพูดถึงในกรุ๊ปdoctors to Germany กูเกิลรู้หมดครับ หาอะไรก็เจอ
>>ทำใจก่อนเริ่ม
อ่านมาจนถึงตรงนี้ คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกเกิดขึ้น 2 อย่าง ซึ่งในตอนผมยื่นเอกสารก็มีความรู้สึกแบบนี้เหมือนกันคือ
1. กลัว คือ เป็นความกลัวว่าจะยื่นเอกสารไปแล้วใช้ไม่ได้ สมัครงานแล้วถ้าเค้าไม่รับเค้าจะตอบกลับมาเหรอ แปลเอกสารทางอินเตอร์เน็ตจะใช้ได้เหรอ ฝ่ายทะเบียนคณะจะออกเอกสารให้ได้เหรอ ฯลฯ อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องก้าวผ่านไปให้ได้ครับ
ถ้าเราเลือกจะไปเรียนที่ต่างประเทศแล้ว การก้าวออกจาก comfort zone จะทำให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น การหาหอพัก การสมัครเรียนเด๊น เขียนเรซูเม่ หรือตอนสัมภาษณ์กับอาจารย์หมอ ถ้าเราไม่กล้า มันจะไม่สำเร็จแน่นอนครับ
ตอนผมยื่นรัฐแบลีน เท่าที่หาข้อมูลมาทั้งหมด ก็ยังไม่เจอหมอไทยเขียนรีวิวBerlinไว้ ไม่มีคนอธิบายว่าต้องเอาเอกสารตัวไหนไปแปล ตัวไหนไปรับรอง แต่ก็หาข้อมูลเองในกรุ๊ปต่างๆ+ถามหมอไทยที่ยื่นรัฐอื่นๆมาเทียบ+กูเกิล ถ้าเราเลือกที่จะทำแล้ว มันมีทางไปของมันแน่นอนครับ
2. รู้สึกยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร จริงๆแล้วก็มีเอเจนซี่รับยื่นเอกสารแทนนะครับ เค้าก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ บางที่ก็ฟรี บางที่ก็คิดเงิน แต่ต้องบอกเลยว่า
ถ้าเลือกจะมาเยอรมนีแล้ว เอกสารหนาเป็นปึกๆแบบนี้จะตามหลอกหลอนเราไปตลอดชีวิตครับ ไม่ว่าจะขอBeruferlaubnis/Approbation จะเทียบวุฒิบัตรเฉพาะทาง เช่าหอพักเช่าบ้าน เปิดบัญชีธนาคาร ขอใบขับขี่ ต่อวีซ่า บางคนก็แต่งงาน หรือขนาดจะซื้อหมามาเลี้ยง ทุกอย่างก็ต้องใช้เอกสารเยอะๆครับ ต้องประทับตรา เย็บมุม เซ็นรับรอง
เอกสารแต่ละตัวก็มีชื่อเฉพาะของมัน เราก็ต้องกูเกิลดูเลยว่ามันคืออะไร ต้องขอยังไง ค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ เรื่องเอกสารนี่ ถ้าเราไม่ทำเองตอนนี้ วันหน้าก็ต้องทำเองอยู่ดีครับ ดังนั้นอย่าไปกลัวครับทุกคน ลุยโลด
ถ้ามีใครสงสัยอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นที่ Berlin ยินดีตอบคำถามของทุกคนครับ แต่ขออนุญาตให้ถามเป็น comment ในนี้นะครับ เพราะคนอื่นที่สงสัยแบบเดียวกันจะได้ทราบด้วย จะได้อ่านง่ายสำหรับทุกคนครับ 😃
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่อยากมาเยอรมนีนะครับ
Viel Erfolg und wir sehen uns in Deutschland!
โฆษณา