11 ก.ย. 2022 เวลา 21:21 • การศึกษา
ซีรีย์: การมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางที่เยอรมนี 3
A Thai Doctor in Berlin part3
มารีวิว part 3 ครับ part นี้จะมี 3 เรื่อง
- คอร์ส Vorbereitung zur Kenntnisprüfung ที่ Charité รอบ กพ. 2022
- การสอบ KP ที่ Berlin รอบ Spring 2022
- การลงทะเบียนเป็นสมาชิก Ärztekammer(แพทยสภา) และ Ärzteversorgung(กบข. สำหรับแพทย์)
***ตอนนี้คิวสอบ KP ที่แบลีน ไม่มีปัญหารอนานเพราะโควิด19แล้ว ผมได้คิวสอบ 6 เดือนหลังได้จดหมายซองเหลือง Zulassung ครับ***(อัพเดท พค. 2022)
:::: คอร์ส Vorbereitung zur Kenntnisprüfung
ที่ Charité รอบ กพ. 2022
คอร์สนี้เป็นคอร์สติวเนื้อหาวิชาแพทย์ เพื่อสอบ KP
ไม่ใช่คอร์สเรียนภาษาแล้ว ดังนั้นครูที่มาสอนจะเป็นหมอเกือบทุกคน หลากหลายแผนก หมอแต่ละคนก็มีสไตล์การสอนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมาเลคเชอร์แบบในร.ร.แพทย์ บางคนก็มี interaction ถามตอบ บางคนก็ให้สไลด์ บางคนก็ไม่ให้ อันนี้ต้องทำใจนิดนึง
วันแรก เค้าจะแจกหนังสือให้เลย 3 เล่ม คือ
- MEX Innere Medizin/Chirurgie
- 150 Fälle Innere Medizin
- 150 Fälle Chirurgie
ครูสอนหลักของคอร์สนี้คือ Johanna Martin เป็นหมอทั่วไปที่เคยมาสอนตรวจร่างกายในคอร์ส FSP สไตล์การสอนจะเหมือนเดิม มีหัวข้อของแต่ละวัน Johanna จะพูดไปเรื่อยๆ เน้นถามตอบ interactionตลอดเวลา และย้ำจุดที่ออกสอบบ่อย ให้ตั้งสมาธิดีๆ คอยจดใส่สมุดไว้ คือแทบทุกคำถามที่ Johanna พูด คือเป็นคำถามในห้องสอบเกือบหมดเลย
คอร์ส 6 สัปดาห์จะแบ่งตามหัวข้อ ดังนี้
1. Cardio
2. Chest
3. GI
4. Nephro-Endocrine
5. Sx
6. Sx
ในแต่ละสัปดาห์ Johanna จะสอนเป็นหลัก ให้เราทำพรีเซ้นโรคที่ออกสอบบ่อย
ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นบางคนก็ทำพรีเซ้นเป็น(สไลด์ตัวอักษรน้อยๆ เน้นรูปภาพ+หัวข้อ แล้วอธิบาย) แต่บางคนก็ทำไม่เป็น(ยกตัวอักษรเป็นย่อหน้ามาแปะลงสไลด์ แล้วอ่านให้ฟัง 😅 หรือบางคนก็ทำละเอียดมาก เหมือนเป็นหมอเฉพาะทาง)
ดังนั้น แนะนำว่า ฟังเพื่อนหมอพรีเซ้นไป ถ้าเค้าทำดีก็ดี ตั้งใจฟัง
ถ้าเค้าทำไม่ดี พูดไม่รู้เรื่อง หรือเนื้อหาเยอะมาก ให้เราเอาสมุดเตรียมจด รอ Johanna ตัดบท แล้วเน้นจุดสำคัญ จดแค่ที่ Johanna พูดก็คือพอ สไลด์ของเพื่อนที่ทำไม่ดี ไม่ต้องอ่านก็ได้
ในแต่ละสัปดาห์ Johanna จะพยายามพาคนไข้ปลอมมาให้เราซักประวัติ+ตรวจร่างกาย
เคสที่เจอละจำได้มี Movement disorder แค่ซักประวัติกับตรวจร่างกายเฉยๆ ไม่ต้อง Dx ก็ได้, UTI ประมาณนี้
>>Notfallmedizin: Tim Ehrlich
สรุปพวกของ ER ทั้งหมด AkutMI,
มีแจกสไลด์ สรุปส่วนที่สำคัญ
>>Crashkurs Radiologie: Katharina Ziegeler
เป็นหมอ xray ที่เป็น extrovert พูดเก่งมาก ตลก ปล่อยมุขเรื่อยๆ สอนดีมากๆ ค่อยๆอธิบาย ให้จำ keyword การบรรยายฟิล์ม xray ละฝึกอ่านตามรูป ต่อให้ไม่ได้อ่านฟิล์มมานานจนลืมวิธีอ่านไปหมดแล้วก็อ่านตามได้ไม่ยาก 😂
สไลด์ฝึกอ่านก็ดีมากๆ มีฟิล์มสำคัญๆครบหมด แต่ว่าเค้าจะไม่แจก ppt นะ ต้องใช้มือถือถ่ายเอาเอง
ละก็วิธีบรรยาย CXR ของที่นี่ มีหลายแบบ บางคนก็จะ ABCD บางคนก็จะไล่จากในออกนอก Mediastinum-Lungenfeld-Trachea-Rippen ดังนั้นไม่ต้องซีเรียสเรื่องลำดับ แค่บรรยายให้ครบก็พอ
>>Cardio-EKG: Christiane Randel
อาจารย์คนนี้จะมา 2 รอบ รอบแรกเป็นเคส Cardio ก็พูดตามสไลด์ธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ แต่รอบ 2 ที่มาสอน EKG คือดีงามมาก เค้าจะพูดทฤษฎีด้วยแต่ไม่ได้ลงละเอียดมาก แต่จะเน้นแค่ว่าเราอ่าน EKG เป็น และ diag ได้คือจบ (วัฒนธรรม praktisch แบบเยอรมันอย่างแท้จริง😆)
ตอนแรกเลยเค้าจะแจกไม้บรรทัดสำหรับอ่านEKGของเยอรมันให้ ละให้เราใช้ทาบกับ EKG ทำให้เราไม่ต้องนับช่อง แบบที่เคยทำ เพราะที่นี่ EKG ทำไปจะรันที่ 25mm/sec ซึ่งต่างจากไทย/อเมริกา/อังกฤษ ที่ส่วนใหญ่เป็น 50mm/sec แต่ในไม้บรรทัดจะใช้คำนวณได้ทั้ง 2 ความเร็ว เท่าที่ถามอาจารย์บอกว่าหมอเยอรมันที่ต้องอ่าน EKG จะพกไม้บรรทัดนี่ละใน ER ก็จะมี ตอนสอบก็เอาไปใช้ได้
ส่วนวิธีบรรยาย EKG ก็คล้ายๆที่ไทย rhythm rate axis ละก็แจกแบบฝึกหัดให้ เป็นแผ่น EKG ของจริง เกือบ 20 แผ่น ละก็ให้เราอ่านคู่กับเพื่อนละเฉลยไปเรื่อยๆ จนอ่านเองได้คล่อง ให้ 5 ดาว ⭐️จริงๆ
>>GI: Dieter Gentz
อาจารย์ GI ที่ทำสรุปทุกเรื่องเป็น pdf ไว้ แบ่งหมวดหมู่ ตัวอักษรใหญ่คือต้องจำ ตัวเล็กลงคือควรรู้ ตัวเล็กสุดคือน่ารู้ เวลามาสอนแกก็จะพูดตามชีทสรุปของแกไปเรื่อยๆ แนะนำว่าอ่านหัวข้อ+ตัวอักษรใหญ่มาก่อนคร่าวๆก็ดี เวลาแกถามหรือพูด เราก็จะพอตอบได้+ไม่หลุด
นอกจากนี้ GI เป็นศาสตร์ที่แทบจะรื้อใหม่หมดของหมอไทย พวกพย่งพยาธิอะไรนี่ ตัดทิ้งหมด Cholangiocarcinoma ก็โยนทิ้งได้ เพราะคนที่นี่ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ แต่กลายเป็นต้องจำเพิ่มพวกโรค idiopathic/genetic ทั้งหลาย ที่คนยุโรปเป็นเยอะๆ/ที่ไทยก็มีแต่เจอน้อยกว่า เช่น colitis ulcerosa, Zöliakie
>>Nephro/Endocrine : Markus van der Giet
อาจารย์Nephro ที่เหมือนเอาสไลด์สอน นศพ. มาสอน คือแต่ละอันเนื้อหายาวมาก มีอธิบายงานวิจัยออกใหม่มากมาย คิดว่าคนชอบNephro อาจจะชอบ แต่ส่วนตัวคิดว่าผิดจุดประสงค์ของคอร์ส เพราะเค้าควรจะสรุปเนื้อหา แล้วเอาโรค/เคสที่ออกบ่อยมาสอนมากกว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่าเข้าไปเรียนก็ ไม่ค่อยได้อะไร 😅 อยู่บ้านอ่าน เล่ม Fälle เองดีกว่า
>>Sx/Ortho: Erich Fellmann
เป็นอาจารย์ศัลย์ที่เคยเป็นคนคุมสอบ KP มาก่อนอาจารย์แกจะพูดไปเรื่อยๆ ไม่มี outline ไม่มีชีทหรือ pdf แจก เราจะไม่รู้ว่าเค้าจะพูดเรื่องอะไรก่อน เพื่อนที่เรียนด้วยกันหลายคนบอกว่าสอนดีมาก จดลงสมุดรัวๆ แต่ส่วนตัวผมเองกลับฟังไม่รู้เรื่องและหลุด ดังนั้นอันนี้คิดว่าแล้วแต่คน
>>Untersuchung: Ronja Mothes
เป็นหมอคนที่เคยสอน EKG ตอนคอร์ส FSP แต่คอร์สนี้สอนตรวจร่างกายทั้งตัวเลย สอนดี มีสไลด์สรุปทุกระบบ ละก็ที่นี่ค่อยข้างเน้นตรวจร่างกาย มี sign ต่างๆต้องจำเพิ่มเยอะเลย มีชื่อเรียกเฉพาะด้วย เป็นไปได้ควรฝึกในห้องให้จำได้ไปเลย +อัดคลิปตอนฝึกตรวจกันเอง เอาไว้มาดูทบทวน แต่ถ้าลืมอัดคลิป ใน Amboss จะมีคลิปให้ดูบางอัน(แต่ไม่ครบ) ก็พอไปตามเอาทีหลังได้
>>Medzinrecht/Epikrise: Tim Quester
คนสอนเป็นเหมือนนักพูดซักอย่างที่รู้กฎหมาย ประมาณนี้ จะสอนเกี่ยวกับสิทธิแพทย์ สิทธิคนไข้ ป้องกันตัวยังไงไม่ให้โดนร้องเรียน การเซ็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมาย และสอนเขียน Epikrise ซึ่งคล้ายๆ สรุปประวัติแบบ admission record ผสมกับ discharge summary แต่ว่าเน้น Aกับ P ใน SOAP มากกว่า มีให้ฝึกเขียนเอง 1 ครั้ง ละเค้าก็จะตรวจละส่งเมลกลับมาให้ แต่ก็ไม่ได้ฝึกมาก เพราะจริงๆเค้าก็ตรวจให้แค่แกรมม่า แต่จริงๆเวลาสอบที่มีผลคือเนื้อหา>แกรมม่า (สอบ KP วัดความรู้แพทย์ ไม่ค่อยวัดภาษา)
>>วันสุดท้าย Stimulation der Prüfung
มีอาจารย์มา 3 คน เป็น Sxเด็ก, HematoMed, GP
วันก่อนสอบJohanna จะให้เลือกว่าใครจะอาสาซักประวัติ ใครจะอาสาตรวจร่างกาย แนะนำให้อาสาไปเลย เพราะถ้าไม่อาสา จะไม่ได้ฝึก เพราะกรรมการจะถามคำถามแค่คนที่อาสาเท่านั้น
ตอนนั้นผมอาสาซักประวัติไป เจอคนไข้ปวดท้องมา เคยผ่าตัดไส้ติ่งมาก่อน สุดท้ายซักไปมา จะไปจบที่ mechanische Ileus เวลาอาจารย์ถาม เค้าก็ค่อนข้างช่วย คือเค้าจะพยายามใบ้ว่าเค้าต้องการคำตอบอะไร เราก็พยายามตามน้ำไป เค้าถามตั้งแต่ จะซักประวัติอะไร จะตรวจร่างกายอะไรบ้าง ตรวจlab อะไร DDx ละก็ management ตอนผมเจอ key คือให้ผ่าแบบ laparoskopisch เพราะลดเรื่อง Briden หลังผ่า ละก็ลดโอกาสเกิด mechanische Ileus ซ้ำ
สิ่งที่คิดว่าตัวเองพลาด เลยอยากมาแนะนำ
- เตรียมภาษามาให้แม่นๆ ส่วนตัวคิดว่าหลังสอบ FSP ควรใช้ภาษาเยอรมันทุกวัน ดูทีวี ฟังข่าว ที่ความเร็วการพูดปกติให้เข้าใจให้ได้ เพราะอาจารย์ที่มาสอน คือหมอ เค้าก็พูดด้วยความเร็วปกติ ไม่มีชะลอให้แบบครูสอนภาษาในคอร์สเรียนภาษาแล้ว
ถ้าการฟังยังไม่แม่นจะมีปัญหามาก ตอนผมเรียนคอร์สนี้คือกลับไทยไป 1 เดือน พูดแต่ไทย ไม่ได้ใช้เยอรมันเลย แล้วบินกลับมาแบลีน ก็มาเรียนเลย สัปดาห์แรกที่เรียนคอร์สนี้คือเงิบมาก ฟังไม่ทันเลย ต้องตามอ่านสไลด์เอาอย่างเดียว ลำบากมาก กว่าจะปรับตัวได้คือผ่านไปแล้ว 1-2 สัปดาห์เลย
- อ่านเนื้อหาเตรียมมาก่อน อันนี้ก็สำคัญ สมมติว่าภาษาเราแม่นมากๆแล้ว แต่ที่นี้มันจะมีพวกคำศัพท์ที่เรายังไม่เคยเจอตอน FSP พอเค้าพูดขึ้นมา แม้ว่าเราจะมีความรู้แพทย์เรื่องนั้นเป็นภาษาไทย/อังกฤษในหัว แต่เราจะฟังไม่เข้าใจและหลุดไปเลยก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น Vorlast-Nachlast จู่ๆถ้าเค้าพูดขึ้นมา แล้วอธิบายต่อเลย ถ้าเราเดาจากบริบท เราอาจจะพอเข้าใจว่ามันเกี่ยวกับหัวใจ แต่ก็ทำให้ฟังประโยคถัดๆไปไม่ทัน ละก็อาจจะหลุดได้ แต่ถ้าเราเคยอ่านมาก่อนบ้าง ก็จะรู้ว่ามันคือ Preload-Afterload นั่นเอง หนังสือเล่มที่แนะนำก็คือ MEX Innere Medizin/Chirurgie นี่แหละ อันนี้เทพสุดแล้วจริงๆ เป็นไปได้อ่านพวกเคสตัวอย่างให้ครบก่อนเริ่มเรียนคอร์สนี้จะดีมากๆ
- คาบ xray ให้เอา iPad ถ่ายรูปฟิล์มในสไลด์ตอนฝึกอ่านไว้ ละจดเฉลย เอามาฝึกต่อที่บ้าน
- คาบ EKG ตอนเรียนจะได้ใบ EKG มาชุดเดียว ละฝึกอ่านกับเพื่อนเป็นคู่ ดังนั้นให้จดเฉลย EKG ไว้ด้านหลัง ละก็พอจบคาบให้เอาไปถ่ายเอกสาร เก็บไว้ฝึกอ่านต่อตอนใกล้สอบ
- แยกสมุด 1 เล่ม จดคำพูดทุกคำของ Jahanna ไปเลย แทบทุกคำที่ Johanna พูด คือข้อสอบเก่าแทบทั้งหมด
:::: การสอบ KP ที่ Berlin รอบ Frühling 2022
ปกติแล้วปีนึงจะมีฤดูกาลสอบที่ Berlin 2 รอบ คือ ใบไม้ผลิ April-Mai-Juni กับ ใบไม้ร่วง Oktober-November-Dezember
ชื่อของเราจะลงไปรอคิวสอบ หลังจากเราส่งเอกสารทั้งหมดให้ LAGeSo ครบแล้ว และได้จดหมาย Zulassung ซองเหลืองๆ(แบบที่กล่าวใน part 2) ดังนั้นเราจะพอกะๆได้ ว่าอีก 6 เดือน คิวสอบจะไปตกที่รอบสอบไหน Frühling หรือ Herbst
เดิมในปี 2020-21 จะรอคิวสอบกันประมาณ 9-10 เดือน เลยทำให้ตอนแรกผมเอง คิดว่าน่าจะได้รอบ Herbst แต่ ทาง LAGeSo ได้แก้ปัญหาคิวสอบล้นได้แล้ว โดยตั้งแต่ปี 2021 จะตัดการสอบ praktisches Teil ภาคปฏิบัติออก(สอบตรวจร่างกาย, เขียน Epikrise: คล้ายๆadmission record/discharge summary) มีแค่การสอบปากเปล่า mündlich(แบบสอบ long case เคสแห้ง) ทำให้คิวสอบกลับมารันได้ปกติเหมือนเดิม
อย่างไรก็ดี ช่วง เมษา พค. ที่แบลีนเองก็ผ่อนคลายมาตรการโควิดลงมาก เพื่อนๆในคลาสของผม มีบางคนที่อาจารย์ให้สอบ praktisches Teil ด้วยแล้วก็มี ดังนั้นคิดว่าถ้าใครสอบที่แบลีนหลังจากนี้ น่าจะต้องสอบตรวจร่างกาย เขียน Epikrise ด้วยแล้ว
ประมาณ 6 เดือนหลังได้ Zulassung จะมีจดหมายซองเหลืองอันใหม่ ส่งมาที่บ้าน มันคือใบเชิญสอบ Einladung zur Kenntnisprüfung
ในใบจะมีเขียนให้เราไปโอนค่าสอบ 450€ ลงวันที่และเวลาสอบ รวมทั้งมีรายชื่อกรรมการคุมสอบตัวจริง 3 คน และตัวสำรอง(กรณีตัวจริงมาไม่ได้) อีก 3 คน และเงื่อนไขการสอบ ซึ่งการสอบ KP นั้นไม่สามารถเลื่อนวันสอบ หรือยกเลิกได้ ตาดว่าเป็นเพราะต้องนัดอาจารย์หมอระดับ Oberarzt มาพร้อมกัน 3 คน การเลื่อนจะเกิดได้แค่ 2 กรณี คือ
1. เป็นโควิด19 วันสอบ
2. admit ที่รพ.
นอกจากนี้ก็จะมีรายชื่อหมอต่างชาติที่จะสอบพร้อมกันอีก 3 คน(รวมตัวเราก็จะมี 4 คน) เค้าจะใช้เทปลบคำผิด ขีดฆ่าไว้ แต่เราสามารถเอาจดหมายส่องกับไฟอ่านดู หรือขูดเทปออกได้ ซึ่งก็ให้ทำเลยเพราะควรไปนั่งติวข้อสอบด้วยกัน 4 คน จะเวิร์คมากๆ
- หลังจากโอนเงิน ก็ให้ส่งเมลหลักฐานการโอนให้ LAGeSo
- เริ่มติดต่อ เพื่อนๆหมอที่สอบด้วยกัน จะลองส่งเมลไปก่อน หรือถ้าเบอร์มือถือเป็นเบอร์ในเยอรมัน จะโทรไปเลยก็ได้ หลังจากติดต่อได้ครบแล้ว ก็ตั้งกรุ๊ป Whatsapp, Telegram อะไรก็ว่าไป
- หา Protokolle มาอ่าน (คืออะไร จะกล่าวถัดไป)
- ส่งเมลหาอาจารย์คุมสอบตัวจริงทั้ง 3 คน เพื่อขอนัดแนะนำตัว ที่นี่จะเรียกว่า Vorstellungsgespräch
- พออาจารย์ตอบกลับมา เราก็นัดเพื่อนๆ ละก็ไปเจออาจารย์ที่รพ./ออนไลน์ ส่วนใหญ่อาจารย์จะให้แนะนำตัว แล้วก็เล่าว่า สำหรับเค้าเรื่องไหนที่สำคัญสำหรับเค้า เรื่องไหนที่ต้องรู้ ต้องไปอ่านมา ซึ่งเราก็สามารถถามอาจารย์ได้ด้วยว่า เรื่องนี้สำคัญสำหรับเค้าไหม อาจารย์บอกคนที่แฟร์ๆ ก็จะตอบเลย แต่บางคนก็ไม่บอกก็มี อันนี้แล้วแต่ดวง ให้พยายามจดที่เค้าพูดมาให้หมด และยังไงก็ตามเราก็ต้องไปเทียบกับ Protokolle อยู่ดี
- ติวสอบ โดยอ่าน Protokolle กับเพื่อนได้เลย
- Protokolle คืออะไร? จริงๆเป็นเหมือน Kultur ของนักศึกษาที่นี่ คือเวลารุ่นพี่สอบเสร็จ ก็จะมาเขียนว่าตัวเองเจออาจารย์คนไหนคุมสอบ เจอเคสอะไรบ้าง และอาจารย์ถามอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งที่อาจารย์ถามก็คือสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ เนื้อหาวิชาส่วนที่สำคัญที่สุดนั่นเอง ทีนี้pool รวมของ Protokolle ก็จะแยกตามชื่ออาจารย์ไว้ แต่ละเมือง/มหาลัยจะมีผู้รวบรวมที่ต่างกัน
สำหรับแบลีน คือ MLP เป็นสำนักพิมพ์หนังสือแพทย์นั่นเอง โดย ตอนแรก เราต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 140€ เขียนชื่ออาจารย์6 คน ทั้งตัวจริง-ตัวสำรอง จากนั้นเค้าจะส่ง Protokolle ทางไปรษณีย์มาที่บ้านเรา หลังสอบเสร็จถ้าเราไปเขียน Protokolle ของเราคืนให้เค้า เค้าจะโอนเงินคืนให้ 100€ ก็เท่ากับว่าเราจ่ายค่า Protokolle ไป 40€ ตอนผมสอบ ผมหารกับเพื่อนอีกคน ก็เลยจ่ายแค่คนละ 20€ ก็ถือว่าโอเคเลย
>>จุดสำคัญในการเตรียมตัวสอบ KP
- อ่าน Protokolle ให้ขึ้นใจ ตอบคำถามใน Protokolle ได้ทุกคำถาม ถ้าอันไหนหาคำตอบไม่ได้ ให้รวมหัวกับเพื่อน ไปถามหมอเฉพาะทางที่รู้จัก จนได้ทุกคำตอบ
- อ่าน Protokolle ของอาจารย์คุมสอบสำรองด้วย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนรอบผม 1 สัปดาห์ก่อนสอบ ได้เมลส่งมาว่าอาจารย์GenSx มาไม่ได้ เปลี่ยนเป็นอาจารย์สำรองที่เป็น Ortho/Trauma แทน กลายเป็นว่าต้องอ่านกระดูกภายใน 1 สัปดาห์ พอก่อนวันสอบ1 วัน ก็ได้เมลมาอีกว่า อาจารย์Xray มาไม่ได้ ให้อาจารย์Xray อีกคนมาแทน ซึ่งลักษณะการถามก็ต่างกันมาก(อาจารย์คนแรกเน้นแค่ plain film กับ CT แต่อาจารย์สำรอง ถาม MRT กับ Ultrasound ด้วย 😅)
อีกกรณีคือเพื่อนหมอที่เรียนด้วยกัน คือไม่ได้เมลอะไรเลย แต่วันสอบคือเซอร์ไพรส์ อาจารย์คนนึงมาไม่ได้ แล้วเป็นอีกคนมาแทนเฉยยยย ดังนั้นอ่านของทั้ง 6 คน จำให้ขึ้นใจ
- EKG, Xray และ bloodgas เป็น 3 อย่างที่ ผมเปรียบเสมือนคณิตศาสตร์ในวิชาแพทย์ คือต้องทำโจทย์เยอะๆ การอ่านแล้วท่องจำไม่สามารถทำให้ทำโจทย์ได้ ซึ่ง 3 อันนี้ออกแน่นอน เพราะมันสำคัญอยู่แล้ว ควรฝึกอ่าน EKG CXR BGA วันละอันทุกวัน อ่านจนคล่องแบบ เห็นปุ๊บ ร่ายออกมาเป็นช็อตๆได้เลย ในกลุ่มผมหมอต่างชาติ 4 คนที่สอบด้วยกัน มีตก 1 คน ก็คืออ่าน CXR ไม่ได้นี่แหละ
>>สิ่งที่เกิดขึ้นวันสอบ
- ของผมสอบที่ Charité Virchow Klinikum ที่ Wedding
- การสอบจะเป็นห้อง 1 ห้อง มีอาจารย์staff 3 คนนั่งเรียงกันของผมเป็น CardioMed, Ortho/TraumaSx, Radio อีกฝั่งจะเป็น ผู้สอบหมอต่างชาติ 4 คน นั่งเรียงกัน อาจารย์ค่อนข้างใจดี มีน้ำขวดกับแก้วให้ดื่มได้ตลอดการสอบ แก้ตื่นเต้น
อาจารย์จะผลัดกันสอบเป็นรอบๆ รอบละ 15 นาที เช่น อาจารย์ med ถามหมอเบอร์1 พอจบ15 นาที - อาจารย์ ortho ถามหมอเบอร์2 พอจบ 15 นาที - อาจารย์รังสีถามหมอเบอร์3 พอจบ 15 นาที อาจารย์med ถามหมอเบอร์4 ….. วนไปเรื่อยๆ จนครบทุกคน ใช้เวลาประมาณ 3 ชม.กว่า (คนละ 45 นาที) ดังนั้นเราก็จะได้ตอบคำถาม 15 นาที ละพัก 45 นาที เรื่อยๆ ระหว่างรอก็จะได้ฟังคำถาม ของหมอคนอื่นด้วยตลอด ละก็เห็นด้วยว่าเพื่อนตอบได้หรือไม่ได้
บางครั้งถ้าเราความรู้แม่นมากๆ เค้าอาจจะถามความรู้ลึกขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จนเราตอบไม่ได้ อันนี้ไม่ต้องตกใจ(ก็เค้าเป็นหมอเฉพาะทางอะเนอะ) เพราะอาจารย์ที่นั่งรอบๆก็จะได้ยินด้วย เค้าก็จะรู้ว่าถ้าลึกไป อาจารย์อีก 2 คนก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน อันนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะตอนสุดท้าย อาจารย์ทั้ง 3 คนจะประชุมกันละลงคะแนนอีกที ว่าใครผ่านใครไม่ผ่าน
- พอสอบเสร็จ อาจารย์จะให้เราไปรอหน้าห้อง ละเรียกเข้าไปบอกผลทีละคน รอบที่ผมสอบผ่าน3 ไม่ผ่าน1 คนที่ไม่ผ่าน 1 คน พลาดตรง Xray อย่างที่บอกไปแล้ว
หลังสอบผ่านก็กลับมารอที่บ้านสบายใจได้ จะไปเที่ยวรอก็ได้ ประมาณ 2 สัปดาห์ Approbationsurkunde ก็จะส่งไปรษณีย์มาที่บ้าน ตามที่อยู่ที่เราลงทะเบียนกับ LAGeSo ไว้ จากนี้ก็เป็นอันจบความวุ่นวายทั้งหมดกับ LAGeSo ต่อไปคนที่จะมาวุ่นวายกับเราจะเป็น Ärztekammer แทน
อันนี้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวเสริม ตอนของผม LAGeSo ทำงานผิดพลาด พอครบ 2 สัปดาห์ ส่งจดหมายมาหาผมว่า ผมสอบตก 🥲 ตอนแรกคือเงิบไปเลย นึกว่าอาจารย์กลับคำตัดสิน เลยส่งเมลไปหาอาจารย์คุมสอบ อาจารย์บอกว่า LAGeSo ทำงานผิด เดี๋ยวไปจัดการให้ จากนั้นผ่านไปอีก 3 วัน ก็ได้ใบ Approbation ส่งมาที่บ้าน 😅 อันนี้ก็เล่าให้ฟังเฉยๆว่าองค์กรราชการของเค้าก็มีโก๊ะๆ เอ๋อๆเหมือนกัน
ไร้สาระอีก 1 ย่อหน้า เพราะเยอรมนีนั้นแต่ละรัฐมีสธ. กับแพทยสภาของตัวเอง ดังนั้นใบว. (Approbation) ที่เราจะได้แต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกัน อย่างแบลีนจะเป็นรูปหมีครับ🐻‍❄️ ตามสัญลักษณ์เมือง ผมเคยเห็นของ Bayern ก็เป็นตราประจำรัฐกับธงสีฟ้าขาว ของ Baden-Wüttemberg ก็เป็นกวางกับธงสิงห์ อะไรแบบนี้ ซึ่งใบว. ก็จะติดตัวเราตลอดไปครับ ดังนั้นใครอยากได้รูปหมีก็ให้มาแบลีนนะครับ🧸 ละก็ใบว. นี้ใช้ทำงานได้ทั่วเยอรมนี และEU ด้วยครับ 😁
::::การลงทะเบียนเป็นสมาชิก Ärztekammer(แพทยสภา) และ Ärzteversorgung(กบข. สำหรับแพทย์)
หลังได้ใบว. ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ก็จะมีจดหมายจาก Ärztekammer Berlin ส่งมาที่บ้าน ให้เราสมัครสมาชิก เพราะเค้าได้ข้อมูลจาก LAGeSo แล้ว ว่าตอนนี้แบลีนได้หมอมาเพิ่ม 1 คนละนะ(คือเรานั่นเอง) ในจดหมายจะเป็นซองA4 หนาๆเป็นปึกเลย ให้เรากรอกเอกสารให้ครบ จะมี
1. ใบสมัครสมาชิกแพทยสภา
2. ใบขอบัตรArztausweis (MD cardของเยอรมัน)
3. ใบสมัคร Ärzteversorgung (กบข. ของแพทย์)
ให้เราส่ง รูปถ่าย(เลือกรูปหล่อๆสวยๆเพราะมันจะอยู่บนบัตร md cardของเรา) ใบถ่ายเอกสารของApprobation ละก็หน้าพาสปอต หน้าวีซ่า และใบลงทะเบียนบ้าน(Meldebescheinigung) ของเราไปด้วย โดย2 อันแรกส่งไปแพทยสภา อันนี้ไม่มีปัญหาอะไร หลัง 1-2 สัปดาห์ เราจะได้บัตรmd card กับรหัสเข้าเว็บสมาชิกแพทยสภาส่งมาที่บ้านเลย
ส่วนอันที่ 3 ให้ส่งไป Ärzteversorgung โดยตรง ซึ่งอันนี้ ถ้าเราทำงานแล้ว เค้าจะเป็นคนเก็บเงินเกษียณเราไปเข้ากองเกษียณของหมอ ซึ่งแยกจากกองรวมของอาชีพอื่น แต่ทีนี้บางคนจะมีปัญหา เช่น คนที่ไม่ได้ทำงานด้วย Beruferlaubnis แต่สอบKP ต่อเลยแบบผม ในเอกสารเค้าก็จะบอกให้เรากรอกใบสมัครแค่ส่วนข้อมูลส่วนตัวเฉยๆ ส่วนตรงที่ทำงานก็ไม่ต้องกรอก หลังส่งไป ก็จะได้จดหมายตอบกลับ ว่าเรายังไม่ได้เข้ากองเกษียณของหมอนะ เพราะไม่ได้ทำงาน🤣 ละก็บอกว่า ถ้าทำงานแล้ว ให้ส่งมาใหม่
จบ part 3 แล้ว คิดว่าถ้าใครมาถึงจุดนี้ คงโปรภาษาเยอรมันระดับนึงแล้ว ต่อไปก็สมัครงานตำแหน่งเด๊น (Assistenzarzt) ละก็นับชม. ทำงาน รอสอบบอร์ด ขอวีซ่าถาวร ขอพาส ก็ตามสเต็ปไปครับ
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนที่มีความฝันมาเยอรมนีทำตามความฝันต่อให้สำเร็จครับ เอาใจช่วยทุกคนครับ
Viel Erfolg 🍀
โฆษณา