12 ก.ย. 2022 เวลา 04:16 • ธุรกิจ
สรุปจาก LEADERSHIP TRAILS | บทเรียนจาก 9 ผู้บริหารแนวหน้าของประเทศ
นี่เป็นแค่หนึ่งในคอร์สจากทาง Cariber ที่เพจเราสรุปมา ยังมีคอร์สดีๆ ที่เราสามารถเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อีกมากมาย
🔥 พิเศษ! สำหรับแฟนเพจ วันนี้สรุปมา
👉🏻 กดรับส่วนลด https://bit.ly/3B3zE7J หรือใส่โค้ด “todayinoteto” เหลือเพียง 3,990 บาท (จากราคาเต็ม 5,000 บาท) สำหรับแพ็คเกจรายปี เรียนได้ทุกคอร์สไม่จำกัด
=====================
1. ถอดรหัสผู้นำองค์กร
=====================
1.1 มีความรับผิดชอบ
[คุณบรรยง พงษ์พานิช]
- ผู้นำมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น อำนาจที่มากขึ้น เกียรติที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความรับผิดชอบ (Accountability) พอเป็นผู้นำแล้วมันไม่ใช่แค่ตัวคุณ แต่คือทีมของคุณ จะทำดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของทีม ผลสำเร็จร่วมกัน ไม่มีอะไรที่สำเร็จได้ด้วยลำพังคนเดียว
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ หน้าที่ของผู้นำต้องรับผิดก่อนรับชอบ ถ้าทีมงานพลาด เราต้องออกมารับผิดก่อน ถ้าชอบมอบให้ทีมงาน
1.2 สื่อสาร รับฟัง แก้ปัญหา และให้กำลังใจ
[คุณฐากร ปิยะพันธ์]
- ผู้นำที่ดีต้องสื่อสาร รับฟัง แก้ปัญหา และให้กำลังใจ หลายครั้งเราละเลยการให้กำลังใจ มันไม่มีต้นทุน แต่มันจะเป็นพลังงานบวกส่งให้ถึงทุกๆ คนในองค์กร
1.3 - 5 ใจ
[คุณบรรยง พงษ์พานิช]
*1. ใจรัก - ในสิ่งที่ตัวเองทำ
*2. ใจสู้ - ไม่เคยมีใครประสบผลสำเร็จ โดยมีแต่ขาขึ้นอย่างเดียว
*3. ใจถึง - กล้าตัดสินใจ กล้าเสี่ยง เมื่อมีจังหวะและโอกาส
*4. ใจกว้าง - รู้จักแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นผลทางการเงินหรือความภูมิใจ
*5. ใจสูง - มีระดับคุณธรรม จริยธรรมให้ยอมรับได้อย่างน้อยในหมู่คนที่ตัวเองนำ
=====================
2. มองคนเป็นหัวใจสำคัญ
=====================
2.1 การทำงานเป็นทีมคือสิ่งสำคัญ
[คุณวรวุฒิ อุ่นใจ]
- การทำงานเป็นทีมมันสำคัญมาก เพราะมันไม่มีใครถูกได้ตลอดเวลาคนเดียว ต้องอาศัยความคิดหลายๆ คนมาผสมผสานกัน ความเห็นของทีมสำคัญ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออยู่ที่ตัวเรา แต่ถ้าเราไม่เชื่อ เราจะต้องรับผิดชอบผลของมัน เพราะเราเป็นผู้นำ
2.2 สร้างคนให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
[คุณรวิศ หาญอุตสาหะ]
- มนุษย์เราเองโดยพื้นฐานไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะว่ามันต้องใช้พลังงานเยอะ เราชอบทำแต่แบบเดิมๆ แต่แน่นอนเราอยู่กับโลกแบบนั้นไม่ได้ จริงๆ การสื่อสารเรื่องของการเปลี่ยนแปลง Overcommunicate พูดเยอะๆ ส่งบทความให้อ่าน ผมซื้อหนังสือให้อ่านด้วย บางทีเราพูดกันเองไม่รู้เรื่อง คนไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ เชิญคนข้างนอกมาพูดด้วย
- หน้าที่สำคัญของผู้บริหารคือ ให้ทุกคนรับรู้ว่ามันจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแล้ว ถ้าเขารับรู้แล้ว เดี๋ยวเขาจะบอกเองว่ามันต้องเปลี่ยนแบบไหน ผู้บริหารมีหน้าที่ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดขึ้น ให้อิสรภาพในการทำงาน เขาจะต้องการทรัพยากร ต้องการความช่วยเหลือต่างๆ สิ่งที่มันติด กฎบริษัทที่มันเคยมีอยู่ ผู้บริหารไปแก้ปัญหาพวกนั้นซะ ให้คนหน้างานคิดว่าเขาจะเปลี่ยนยังไง แล้วให้เขาลงมือทำไป การเปลี่ยนแปลงมันก็จะเริ่มเกิดขึ้น
[คุณพชร อารยะการกุล]
- ถ้าเปรียบกับการทำสงคราม ก็เหมือนที่เราจะต้องเตรียมตัวก่อนออกรบ วันนี้เรามีบุคคลากรในกองทัพเพียงพอหรือเปล่า ทักษะที่มีอยู่เพียงพอไหม ยืงปืนได้หรือเปล่า กระบวนการในการจัดการบุคคลากร มีการทำให้ทหารของเรามีความสด มีความแข็งแรง มีการออกกำลังกายที่เพียงพอ มีโภชนาการที่เพียงพอไหม
- ในมุมของเทคโนโลยีก็เช่นกัน ถ้าวันนี้อาวุธของเรายังเก่าอยู่ ยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่น เราจะต้องปรับปรุงอาวุธของเรายังไง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำยังไงให้ปืนยิงได้เร็วขึ้น ไม่ติดขัด เรื่องต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันขึ้นมาก็จะทำให้ขึดความสามารถของกองทัพเราพร้อมที่จะออกไปสู้รบตามแผนที่วางไว้ได้ดีขึ้น
=====================
3. ดูคนให้ออก เลือกคนให้เป็น
=====================
3.1 การดูคนเป็นทักษะที่ต้องฝึก
[คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร]
- เราต้องรู้ก่อนว่าคุณสมบัติอะไรที่เราไม่ต้องการแน่ๆ วิธีการดู ดูอย่างไร นิสัยอย่างไร เพราะว่าหลักของการดูก็คือว่า อย่างไรก็ตามเบื้องลึกของจิตใจ คำพูดกับการกระทำต้องสอดคล้องกัน การดูคนเป็นทักษะที่ต้องฝึก เป็นทักษะที่ยากที่สุด
- ในการแยกแยะดูคนนี่ยาก บางอย่างมันคล้าย แต่มันไม่ใช่ คนเจ้าเล่ห์คล้ายกับคนมีสติปัญญา หินสีเขียวกับหยก กระดูกขาวกับงาช้าง สิ่งของที่บอกว่าดูยากยังสู้ดูคนไม่ได้ เราต้องดูคุณสมบัติอะไรที่เราอยากจะดู
- มันอยู่ที่ว่าคุณสมบัติที่เราต้องการ คุณสมบัติที่เราไม่ต้องการ เราใช้อะไรในการวัด การดูคนมันไม่ได้ตรงไปตรงมา มันต้องใช้ทักษะ ใช้การฝึกฝนทุกอย่าง ใช้ตาดู ใช้หูฟัง สังเกตสิ่งที่เขาพูด คนเราไม่ว่ามีความคิดเห็นยังไง เขาจะแสดงออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะแสดงออกทางสีหน้า แสดงออกทางกาย แสดงออกด้วยคำพูดต่างๆ เพราะฉะนั้นการดูคน ต้องอาศัยการผสมผสาน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องฝึกหัด แล้วเราใช้ความรู้พวกนี้ในการที่จะกลั่นกรอง แล้วก็ร่อนทองออกมาให้ได้
3.2 การดึงคนเข้ามาทำงานเหมือนการขายของ
[คุณบรรยง พงษ์พานิช]
- การดึงคนเข้ามาทำงานเหมือนการขายของ แต่ของที่เราขายเป็นงาน ซึ่งเวลาเขามาซื้อของเรา มันแพงมาก เพราะคนเราจะเลือกอะไรได้สารพัด แต่ในเวลาขณะใดขณะหนึ่งคุณเลือกงานได้งานเดียว ต้องเข้าใจก่อนว่าของที่คุณขาย มันแพงมากสำหรับคนซื้อ ต้องเข้าใจและเคารพเขาให้มากกว่าความปรารถนาของเรา
- ถ้าคุณอยากได้คนเก่ง คนดี ข้อที่ 1 คุณต้องตระหนักก่อนว่า เขาเลือกเรา ไม่ใช่เราเลือกเขา เพราะคนเก่ง คนดี ใครๆ ก็ต้องการ มีองค์กรที่ประสบความสำเร็จหลายองค์กรเข้าใจผิด คิดว่าใครๆ ก็ต้องอยากมาทำงานกับเรา ซึ่งไม่จริง คนเก่ง คนดี จะมีคนที่ต้องการเขาเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นเราจะต้องเป็นคนแข่งขัน ไปเสนองาน เสนอทุกอย่างที่ดีให้เขา
- จากประสบการณ์ของผม พบว่าคนทำงานต้องการ 5 อย่าง
*1. เรียนรู้ - อยากได้ที่ทำงาน ที่ทำให้เขาเรียนรู้ตลอดเวลา
*2. แสดงฝีมือ - ได้แสดงผลงานออกมา มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้ดำเนินโครงการ
*3. ผลตอบแทนที่ดี - คุ้มค่ากับงานที่เขาทำ แข่งขันกับทางเลือกอื่นๆ ได้ เพราะคนเราต้องสร้างเนื้อสร้างตัว
*4. ได้สนุกกับการทำงาน - อบอุ่น จริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด work hard, play hard
*5. ได้ภูมิใจ - ผลงานที่ออกมา นอกจากจะได้ประโยชน์กับลูกค้า กับองค์กร กับผู้ถือหุ้น กับตัวเขาแล้ว มันยังต้องตอบได้ว่าเป็นประโยชน์กับสังคมยังไง
3.3 สิ่งที่ต้องดูเวลารับคนเข้าทำงาน
[คุณวรวุฒิ อุ่นใจ]
- บริษัทเล็กๆ จะหาคนดีคนเก่งเข้ามา มันยากมาก สิ่งหนี่งตอนที่เราเป็นบริษัทขนาดเล็ก เราจะมองคาแรคเตอร์คนก่อนว่าแนวโน้มดูเป็นคนดี ประเภทที่เราพอจะสอนได้ เพราะโอกาสที่จะได้ทั้งดีทั้งเก่ง แทบไม่มี คนดีหาง่ายกว่าคนเก่งด้วยซ้ำ ในขนาดเล็ก คนดีไม่ได้หมายถึงดีเลิศเลอ แต่ดีแบบไม่ขี้โกงหรือพร้อมที่จะทำงานกับบริษัท ต้องดูแล้วพอจะสอนได้ด้วย
- อีกอันหนึ่งที่เราจะมองคือ คาแรคเตอร์คนที่คิดว่าจะอยู่กับเราได้นาน อยู่ได้ทน จะมองว่าเขาเข้ากันได้กับคนในทีมไหม ของเรามักจะเป็นคนที่ง่ายๆ ไม่เรื่องมาก เป็นมิตร ลุยได้ ลุยไหนลุยกัน ถ้าเป็นคาแรคเตอร์ประมาณนี้ เรามักจะดึงเข้าทีม แล้วสิ่งที่เราต้องทำต่อคือ ทำยังไงให้บรรยากาศการทำงานมันสนุก แล้วพวกนี้พอเขาแท็กทีมกันแล้วทำงานสนุก เขาจะอยู่อย่างสบายใจ แล้วก็อยู่นาน เราก็จะมีเวลาที่จะสอนและพัฒนาเขาได้ แต่ถ้าเขามาอยู่แป๊บๆ ก็ไป อันนี้เราจะไม่มีเวลาสอนเขา ยังไม่ทันจะเก่งก็ไปแล้ว
=====================
4. รักษาคนที่ใช่ให้อยู่กับองค์กร
=====================
4.1 ปัจจัยที่จะทำให้คนอยู่ได้นาน
[คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ]
- ปัจจัยที่ทำให้คนๆ หนึ่งทำอยู่ที่นึงได้นานจะมีอยู่สองส่วนคือ
*1. ค่าตอบแทน - เงินเดือนจะต้องดีและอยู่ในระดับที่เขารับได้
*2. ความรู้สึก - ความสบายใจ การได้รับการยอมรับ อยู่แล้วมีความสุข
- ถ้ามีแค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจะทำให้คนอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้ามีทั้ง 2 ปัจจัย เขาก็จะอยู่กับบริษัทนั้นไปได้ค่อนข้างยาว
[คุณวรวุฒิ อุ่นใจ]
- การที่จะทำให้ลูกน้องอยู่และรักองค์กร มันเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องออกแบบองค์กร คำถามที่ว่าทำยังไงให้ลูกน้องรักองค์กรเป็นคำถามที่ผิด คำถามที่ถูกต้องคือต้องถามว่าทำยังไงให้พนักงานได้รับรู้ว่าบริษัทรักเขา ถ้าเกิดบริษัทสามารถถ่ายทอดตรงนี้ออกไปให้พนักงานรับรู้ได้ว่า บริษัทรักและห่วงใยพนักงาน เชื่อว่าความรักของพนักงานที่มีต่อองค์กรมันจะเพิ่มขึ้นมาเอง
- เราไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องให้พนักงานรักบริษัท เรียกร้องให้ตายเขาก็ไม่รัก ถ้าเขาไม่รู้ว่าบริษัทรักเขา บริษัทมีหน้าที่ทำยังไงให้พนักงานรับรู้ให้ได้ว่าบริษัทรักและห่วงใยเขา ซึ่งมันไม่สามารถแสดงได้ด้วยคำพูด ต้องทำให้พนักงานรับรู้ได้ด้วยการกระทำของบริษัท
4.2 การสร้างสภาพแวดล้อม
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- ผู้นำต้องสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมที่ให้พนักงานปล่อยของ feedback จากพนักงานคือของขวัญ ไอเดียที่พนักงานส่งมาเพื่อที่เราจะเอาไปปรับปรุงหรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ พวกนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ และจำไว้เสมอว่าต้องสร้าง safe environment ให้คนกล้าทดลองสิ่งใหม่
- คุณไม่สามารถมองคนเป็นทรัพยากรที่คุณจะไปใช้ประโยชน์ได้ คุณต้องมองคนเป็นคน นั่นคือหน้าที่ของคุณ ฟังเขาในฐานะที่เขาเป็นคนๆ หนึ่ง
4.3 การสร้างคน
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
*1. จัดหาทรัพยากร - ไปขอบอร์ดบริษัท เอาทรัพยากรเข้ามาในการทำ transformation
*2. สร้างความรู้ความสามารถ - ของทีมงาน ให้เพียงพอในการทำ transformation สร้างขีดความสามารถและความรู้
*3. จัดเครื่องมือให้เพียงพอ
*4. สร้างแรงจูงใจ ให้รางวัลและคุณค่า
*5. สร้างวัฒนธรรมและโครงสร้าง - ให้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลง
- ถ้าโครงสร้างดีแต่วัฒนธรรมไม่ดี คนทำแป๊บเดียวก็เลิกทำแล้ว แต่ถ้าวัฒนธรรมดี คนก็จะทำกันเต็มที่ แต่ถ้าโครงสร้างมันไม่เกื้อหนุน ไม่มีรางวัลและการเห็นคุณค่าของคนที่ทำงาน วัฒนธรรมก็จะสู้ได้แป๊บเดียวแล้วคนก็จะล้า
4.4 การสร้างวัฒนธรรมองค์กร
[คุณวรวุฒิ อุ่นใจ]
- วัฒนธรรมขององค์กรคือ การทำให้พนักงานทุกคนรู้ว่าจะต้องทำตัวยังไงในบริษัทโดยที่ไม่ต้องถาม ทุกคนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน
- ถ้าบริษัทไหนสร้างวัฒนธรรมองค์กรสำเร็จ บริษัทนั้นจะไม่ต้องเสียเวลาคุยกับพนักงานเยอะ เพราะทุกคนรู้ว่าจะต้องทำตัวยังไง ทุกคนปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กร แต่ถ้าเกิดมีวัฒนธรรมองค์กรผิดๆ แน่นอนว่าจะเกิดปัญหา ทำให้บริษัทเสื่อมลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องวัฒนธรรมองค์กรให้ดี
[คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ]
- สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเวลาที่คิดอยากจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรหรือ core value ขึ้นมา
*1. ตัวธุรกิจ - อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่อยากจะให้มีในองค์กรที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เราอยู่ได้
*2. เจตนารมณ์ของผู้นำ - เราอยากให้องค์กร พนักงานของเรา มีคาแรคเตอร์แบบไหน มีความเชื่อแบบไหน
*3. ความเชื่อและความจริงใจ - เวลาเราตั้ง core value ขึ้นมา เราต้องเชื่อว่าเราอยากจะเป็นอย่างนั้น แล้วก็ต้องผลักดันให้มันเกิดขึ้นมาจริงๆ
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- วิธิที่ดีที่สุดในการอยากรู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรของเราเป็นยังไง ให้สัมภาษณ์พนักงานที่พึ่งเข้ามาไม่ถึงหนึ่งเดือนกับพนักงานที่กำลังจะลาออก ผมทำ exit interview ด้วยตัวเอง เพราะผมอยากรู้ว่าผมจะพัฒนาองค์กรได้อย่างไร การสัมภาษณ์พนักงานสองแบบนี้จะได้คำตอบแบบจริงใจที่สุดเลยว่าวัฒนธรรมและจุดบกพร่องในการทำ transformation ของผมคืออะไร
- Leader is a culture คุณจะรู้ว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นยังไง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงไหม จะรู้ได้ด้วยการลอง อย่าไปสนใจพวกสำรวจอะไรทั้งหลายมาก ลองไปนั่งฟังเอง แล้วคุณจะรู้เลย
=====================
5. ขับเคลื่อนอย่างมีวิสัยทัศน์
=====================
5.1 การตั้งเป้าหมายคือสิ่งสำคัญ
[คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร]
- เหมือนการที่เราอยู่ในแม่น้ำแล้วออกมาที่ทะเล ถ้าเราไม่รู้ว่าจะไปเกาะไหน ว่ายออกไปกลางทะเล มีแต่ตายกับตาย เพราะแรงมันจะหมดก่อน แล้วก็นึกไม่ออกว่าจะไปไหน ซึ่งมันจะย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า เราทำไปทำไม แล้วเราต้องการอะไรกันแน่
- การคิดกลยุทธ์ที่ดีคือ คิดว่าจะไม่ทำอะไร ซึ่งจะคิดเรื่องนี้ไม่ได้ถ้าไม่มีเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายคุณชัด คุณจะรู้ว่าอะไรที่ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายของคุณ คุณจะไม่ทำ เพราะคนเรามีทรัพยากรจำกัด ทั้งแรง เวลา และเงิน เพราะฉะนั้นเราควรจะรู้ว่าเป้าหมายเราคืออะไร เวลาเราเดินไป จะได้ตัดสิ่งที่้ไม่จำเป็นทิ้งไป
- คิดให้เคลียร์ก่อนว่าทำไปทำไม จะทำอะไร แล้วจะทำให้เกิดผลสิ่งนั้น ต้องทำอะไรบ้าง คือการวางแผนก่อนในเบื้องต้น ถ้าเคลียร์ว่าจะทำอะไรแล้วก็ไม่ทำอะไร หลังจากนั้นค่อยมาบริหารจัดการเวลาว่าหลังจากนี้เราจะจัดการกับมันยังไง
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- การตั้งเป้าหมายที่ดีก็เสมือนกับว่าเรามีเข็มทิศที่ทำให้เราไม่หลงทาง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทของเรา
5.2 วิธีการตั้งเป้าหมาย
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- การตั้งเป้าหมาย เริ่มต้นง่ายๆ คือต้องเห็นภาพตัวเองให้ชัด อาจจะจินตนาการในหัวก็ได้ว่า ถ้าในอนาคตเราได้มีโอกาสลงหนังสือพิมพ์ เราอยากจะเห็นบริษัทของเราได้ถูกอธิบายบนหน้าหนังสือพิมพ์นั้นยังไง หรือว่าถ้าคนอื่นทั่วไปเขาพูดถึงบริษัทของเราในอนาคต 5 ปี 10 ปี เราอยากให้เขาพูดถึงเราในแง่มุมไหนบ้าง ถ้าเราเห็นภาพนั้นชัดเมื่อไหร่ อันนี้ก็คือเป้าหมายที่เราอยากจะเป็น
- เริ่มต้นจากจินตนาการตรงนี้แล้วก็เขียนสิ่งที่เราจินตนาการลงไปให้มีความชัดเจนอยู่บนหน้ากระดาษ ผู้นำแต่ละคนก็อาจจะมีความสามารถในการตั้งเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเห็นภาพตัวเองชัดอยู่แล้ว แต่บางคนอาจจะยังไม่ชัด วิธีในการหาไอเดีย จริงๆ ก็ไม่ได้ยาก
เราอาจจะเริ่มจากการมองดูคนรอบข้างเราหรือองค์กรที่มีความใกล้เคียงกับเรา แล้วมองเขาเป็นแบบอย่างหรือว่าเป็น Role Model ตรงนี้ก็จะเป็นวิธีหนึ่ง ยิ่งเราเห็นองค์กร เห็นคนเยอะมากๆ เราก็จะเริ่มเห็นภาพตัวเองว่าเราอยากจะไปเป็นแบบคนไหน อันนี้ก็จะเป็นวิธีการในการสร้างไอเดียได้เช่นกัน ในการที่จะหาเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง
5.3 ลักษณะของเป้าหมายที่ดี
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- เป้าหมายที่ดีต้องมีองค์ประกอบ 5 อย่าง (SMART)
*1. Specific มีความชัดเจน
- ต้องบอกได้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะประสบความสำเร็จคือเรื่องอะไรกันแน่ ในภาคธุรกิจเองก็อาจจะเป็นเรื่องส่วนแบ่งทางการตลาด รายได้ ผลกำไร ความพึงพอใจของลูกค้า หรือชื่อเสียงต่างๆ ของธุรกิจ ตรงนี้เราก็ต้องมีความชัดเจน
*2. Measurable วัดผลได้
- พูดง่ายๆ คือเราอาจจะต้องเห็นเป็นตัวเลขได้ด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย เช่น เรื่องส่วนแบ่งทางการตลาด เราอยากจะรู้ว่าเราควรจะได้ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ 30% หรือ 40% ยิ่งบอกได้เท่าไหร่ ยิ่งชัด ยิ่งดี หรือว่าถ้าเป็นความพึงพอใจของลูกค้า ตรงไหนที่แปลว่าพึงพอใจ ต้องเลือกว่าวิธีการที่จะวัดผลตรงนี้ เป็นเรื่องของอะไร เป็นเรื่องของคะแนนความพึงพอใจหรือว่าสัดส่วนในการบอกต่อ
*3. Attainable มีความเป็นไปได้
- แต่ละธุรกิจมีจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน การตั้งเป้าหมายที่ทำไม่ได้จริงจะทำให้เราเสียกำลังใจ เพราะกว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นอาจจะใช้เวลานานมากๆ หรือไม่มีวันเป็นไปได้ การตั้งเป้าหมายที่ดูแล้วมีความเป็นไปได้ ก็จะทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้ธุรกิจยังอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้
*4. Relevant เกี่ยวข้องกับคนในองค์กร
- ต้องตอบคำถามได้ว่าทำไมเราถึงจะอยากตั้งเป้านี้ ถ้าเป็นเรื่องของผลกำไร ก็แน่นอนว่าเราอาจจะอยากให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเราได้รับผลประโยชน์จากบริษัทมากที่สุด ถ้าเป็นเรื่องชื่อเสียง ก็อาจจะเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ ตรงนี้เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเป้าหมายตรงนี้ มันมีความสัมพันธ์ มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรเรายังไงบ้าง
*5. Time Bound กำหนดเวลาชัดเจน
- จะทำให้เราเองมีวินัยในการที่เราจะพัฒนาตัวธุรกิจของเราให้ไปถึงเป้าหมาย ถ้าเราไม่มีการตั้งเวลาที่เหมาะสมไว้ เราก็จะมีข้ออ้างในการที่เราจะผัดผ่อนเวลาในการปฏิบัติงานของเราไปเรื่อยๆ
5.4 การสื่อสารเป้าหมายถึงคนในองค์กร
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- ท้ายที่สุดการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียว ในองค์กรประกอบไปด้วยผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทีมงานและ stakeholder อื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้กลยุทธ์ถูกนำไปปฏิบัติและทำให้เกิดผลได้ จะต้องมีการสื่อสารลงไปให้ดี เป้าหมายที่เป็นจุดเริ่มต้นของกลยุทธ์ก็เช่นกัน เราจะต้องสื่อสารเป้าหมายตรงนี้ให้ไปถึงทุกภาคส่วนในองค์กร
- การสื่อสารเป้าหมายและกลยุทธ์ก็เหมือนกับการเล่าเรื่อง จะต้องมี story line มี storytelling ที่ชัดเจน เป้าหมายที่ดีเวลาเราเล่า ต้องตอบได้ว่ามีที่มาที่ไปยังไง การที่เขาได้เห็นที่มาที่ไปและตรรกะที่ร้อยเรียงขึ้นมาไปจนถึงจุดสุดท้าย จะทำให้ทุกคนเชื่อว่าเป้าหมายนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะทำร่วมกัน
- ผู้นำที่ดีต้องมีทักษะในการสื่อสารให้ทุกคนเกิดความเข้าใจและเห็นด้วยกับเป้าหมาย เพื่อที่จะทำให้เดินไปในทิศทางเดียวกันได้
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- หน้าที่ของ transformation leader คือ
*1. สร้างเรื่องราวให้พนักงานรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่ง
- เรื่องราวและวิสัยทัศน์ที่มันน่าดึงดูด ฟังเสร็จแล้วตื่นเต้นขนลุก ทำให้คนอยากเป็นส่วนหนึ่งของมัน
*2. สร้างวิสัยทัศน์ที่มีความหมายกับพนักงานและลูกค้า
- มีอะไรที่เป็นแรงจูงใจให้กับลูกค้า คู่ค้าได้อะไร พนักงานได้อะไร
*3. สื่อสารวิสัยทัศน์ต่อพนักงานในองค์กร
- แปลงข้อความเหล่านั้นออกมาให้พนักงานทุกคน สร้างการยอมรับและชวนจูงมือทุกคนไปด้วยกัน
*4. สร้างสภาพแวดล้อมที่สนุกในการ transformation
- เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่มีทางสิ้นสุด มันจบก็ต่อเมื่อทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องอัตโนมัติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ตื่นขึ้นมาอยากทำ
*5. แปลงวิสัยทัศน์ออกมาเป็นสิ่งที่มีความหมายกับพนักงานได้
=====================
6. จัดลำดับความสำคัญ
=====================
6.1 ทรัพยากรมีจำกัด
[คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร]
- การเรียงลำดับความสำคัญนั้นสำคัญมาก เพราะเรามีเวลาจำกัด แรงจำกัด สิ่งที่ทำให้การจัดลำดับความสำคัญเกิดขึ้นได้ อย่างแรกคุณต้องมีเป้าหมายที่ชัดก่อน สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่ตอบโจทย์เป้าหมายของคุณ ถ้าเป้าหมายคุณไม่มี อะไรก็จะสำคัญไปหมด
- ถ้าคุณมีเป้าหมายที่ชัด สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่ทำแล้วเดินเข้าใกล้เป้าหมายไปอีก 1 ก้าว สิ่งที่เร่งด่วนแต่ไม่ได้ตอบโจทย์เป้าหมาย สิ่งนั้นคือไม่สำคัญ
[คุณวรวุฒิ อุ่นใจ]
- คนที่เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้บริหารควรทำงาน 60% ของเวลา เพื่อให้เหลืออีก 40% ไปควบคุมดูแล ทบทวนการทำงานในอนาคตว่าควรจะเป็นยังไง มีเวลาที่จะไปประสานงานกับบุคคลากรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่จะต้องหา อย่าเอาเวลาไปทำงาน routine หมด ไม่งั้นจะไม่มีโอกาสแก้ปัญหาหรือวางรากฐานที่ดีให้กับองค์กรได้เลย ต้องเผื่อเวลากับเรื่องพวกนี้
6.2 - 80/20
[คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร]
- มันจะมีของบางอย่างที่เราทำใช้เวลา 20% แต่มันมีผลต่อเป้าหมายของเราถึง 80% เพราะฉะนั้นให้วิเคราะห์ โฟกัสกับแก่นของมันว่าอะไรที่ทำน้อยแล้วได้เยอะ ซึ่งอันนี้ใช้การค้นคว้าพอสมควร แต่ถ้าคุณรู้ จะค้นพบเลยว่าพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนนิดเดียวจะมีผลที่ใหญ่มาก
6.3 หิน กรวด ทราย น้ำ
[คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร]
- เวลาจัดลำดับความสำคัญ มีคำอุปมาหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ชีวิตเราจริงๆ แล้วเหมือนขวดเปล่า เรามีที่จำกัด เราจะใส่อะไรเข้าไปก่อนบ้าง เขาบอกว่าเราควรใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดเข้าไปก่อน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็เหมือนกับหินก้อนใหญ่ เมื่อเราใส่เข้าไปแล้วเหมือนมันจะเต็ม แต่มันจะมีที่เล็กๆ สำหรับของที่สำคัญน้อยลงมาเสมอ ถัดมาใส่หินก้อนเล็กลงไปเหมือนจะเต็ม แต่ก็ยังสามารถใส่ทรายเข้าไป ใส่น้ำเข้าไปได้ จะเห็นว่ามันจะมีครบทุกอย่าง สิ่งนี้คือการจัดลำดับความสำคัญคือใส่ของที่สำคัญเข้าไปก่อน
- แต่ลองนึกภาพถ้าเราใส่ขวดด้วยสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายเราเลย เหมือนเราใส่ทรายเข้าไปก่อน ถ้าทรายมันเต็มแล้วคุณใส่ก้อนหินเข้าไปไม่ได้ นั่นหมายความว่าของสำคัญคุณไม่มีเวลาแล้ว เพราะคุณวิ่งวุ่นกับของที่ไม่เกี่ยวกับคุณ ของที่เร่งด่วน ของที่ไม่สำคัญ พวกนี้เมื่อเต็มแล้ว คุณจะไม่มีที่ที่จะใส่ของสำคัญเข้าไป เพราะฉะนั้นให้เลือกใส่ของที่สำคัญเข้าไปก่อนเสมอ แล้วจะมีเวลาเหลือๆ เอามาใส่ของที่เร่งด่วน อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนอื่น แต่ไม่สำคัญสำหรับเรา ซึ่งอันนี้จะเป็น mindset ที่ถูกต้อง
- ไม่มีเวลา ไม่มีอยู่จริง เวลาคนบอกว่าไม่มีเวลาให้พูดใหม่ว่า ฉันไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดที่จะให้เวลากับมัน
6.4 Eisenhower Matrix
[คุณฐากร ปิยะพันธ์]
- ต้องจัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี ควรจะแบ่งว่ามันด่วนและสำคัญหรือเปล่า ลิสต์งานออกมาแล้วใส่ว่ามันตกอยู่ในช่องไหน ถ้าด่วนและสำคัญ ต้องรีบทำ ถ้าด่วนแต่ไม่สำคัญ มอบหมายให้ลูกน้องทำ ถ้าไม่ด่วนแต่สำคัญ ต้องวางแผน ถ้าไม่ด่วนและไม่สำคัญ ทิ้งมันไปเลย อย่าไปเสียเวลา
=====================
7. ทำงานให้สำเร็จฉบับผู้นำ
=====================
7.1 การลงมือทำสำคัญที่สุด
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- วิสัยทัศน์ที่ไร้การลงมือทำจะเป็นเรื่องแค่ภาพลวงตา วิสัยทัศน์ที่ดีต้องมีกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- สิ่งที่เราคิดมาจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราไม่ลงมือทำ ความยากของการลงมือทำคือ โลกของเรามีอีกหลายอย่างมากๆ ที่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ก่อนที่เราจะลงมือทำ รวมไปถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็ส่งผลทั้งนั้นเลยกับผลลัพธ์ที่ออกมาจากการที่เรานำกลยุทธ์มาใช้
7.2 ทดลองและวัดผลอยู่เสมอ
[คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร]
- ยุคนี้เป็นยุคที่ไม่แน่นอน อะไรที่วางแผนไว้ปีนี้ ปีหน้าก็อาจจะเปลี่ยนแล้ว ทำให้เราวางแผนอะไรได้สั้นลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือทดลองมากขึ้น อะไรเวิร์ก ไม่เวิร์ก นี่คือการได้มาซึ่งข้อมูล
- การทดลองคือการเก็บข้อมูล แต่เป็นข้อมูลของจริง ยิ่งเราทดลองเยอะ จะทำให้เราได้ข้อมูลเยอะ แล้วข้อมูลเหล่านี้ก็จะอยู่กับตัวเรา ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์มากกว่าการที่เรานั่งวางแผน เพราะว่าแผนที่เราคิด จะเกิดจากตัวเราปัจจุบันซึ่งมีความรู้อยู่แค่นี้ การทดลองคือการเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งพอโลกเปลี่ยนไป เรามีข้อมูลจากการทดลอง จะช่วยให้เราอยู่บนโลกที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนได้ดีขึ้น
- ถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร มันจะเป็นสิ่งที่กลับมาเตือนเราบ่อยๆ เวลาเราเริ่มทำอะไรไปแล้วว่า มันยังตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ไหม ยังสามารถวัดผลได้หรือไม่ วิ่งเข้าหาเป้าหมายของเราไหม ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญว่าแล้วเราจะวัดมันอย่างไรบ้าง
[​​คุณพชร อารยะการกุล]
- ถ้าอยู่ในช่วงของการปฏิบัติจริงแล้ว ก็อาจจะยังเจอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ การวัดผลและการตอบสนองต่อผลที่เราวัดได้ ซึ่งตรงนี้เรียกว่า Performance Management เป็นระบบในการควบคุมว่าเราสามารถที่จะทำงานได้ตามแผนของเรามากน้อยแค่ไหน แล้วเรายังมีจุดอ่อน มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
- ระบบต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็น feedback ที่จะทำให้เรามีการปรับตัว และทำให้กลยุทธ์ของเราสามารถตอบโจทย์กับตลาดได้ดียิ่งขึ้น
7.3 ทำงานให้สำเร็จ
[คุณเรืองโรจน์ พูนผล]
- สุดท้ายเวลาสร้างกลยุทธ์ขึ้นมา ต้องคิดด้วยว่าถ้าเราจะทำกลยุทธ์นี้ให้สำเร็จ จะต้องสร้างขีดความสามารถอะไรขึ้นมา ขีดความสามารถเป็นตัวกำหนดว่าจะทำกลยุทธ์นี้สำเร็จหรือไม่ แต่ละกลยุทธ์ต้องการขีดความสามารถที่แตกต่างกัน เอากลยุทธ์มาแตกออกมาให้มีผู้รับผิดชอบ มีกรอบเวลา และตัวชี้วัดที่ชัดเจน อันนี้คือเรื่องพื้นฐานของการดำเนินงาน
- สิ่งที่สำคัญในการทำ Transformation Strategy
*1. Strategy - วางกลยุทธ์
*2. Where to Play & How to Win - เลือกสนามและวิธีเล่น
*3. Priority - จัดลำดับความสำคัญ
*4. Bundle of Options มีตัวเลือกหลากหลาย
*5. Reevaluate ปรับแผนใหม่สม่ำเสมอ
*6. Capability สร้างขีดความสามารถ
*7. Roadmap / Game Plan วางแผนการ
นี่เป็นแค่หนึ่งในคอร์สจากทาง Cariber ที่เพจเราสรุปมา ยังมีคอร์สดีๆ ที่เราสามารถเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อีกมากมาย
🔥 พิเศษ! สำหรับแฟนเพจ วันนี้สรุปมา กดรับส่วนลด 👉🏻 https://bit.ly/3B3zE7J เหลือเพียง 3,990 บาท สำหรับแพ็คเกจรายปี เรียนได้ทุกคอร์สไม่จำกัด (จากราคาเต็ม 5,000 บาท) หรือใส่โค้ด “todayinoteto” ที่หน้าเว็บไซต์
Speaker:
- คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)
- คุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ และ Mission To The Moon
- คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล Group Chairman แห่ง Kasikorn Business Technology Group (KBTG)
- คุณฐากร ปิยะพันธ์ President ttb bank
- คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร CEO AISCB และเจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง
- คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO และ Director MFEC
- คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้ง และ อดีต CEO OfficeMate
- คุณพชร อารยะการกุล CEO Bluebik Group
- คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานกรรมการบริหาร Sea Thailand
======================
#Cariber #Leadership #ผู้นำ #ผู้บริหาร #CEO #KKP #MissionToTheMoon #KBTG #ttb #AISCB #แปดบรรทัดครึ่ง #MFEC #OfficeMate #BluebikGroup #SeaThailand #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา