13 ก.ย. 2022 เวลา 10:18 • ดนตรี เพลง
ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนกับเสียง
.
“สิ่งที่เรามองเห็น คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เหมือนการมองไปที่หน้าจอ ในขณะที่ เสียง ทำให้เราเห็นหรือรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว” ข้อสังเกตของ Trevor Pinch นักสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ผู้ศึกษาและเผยแพร่ผลงานด้าน Sound Culture ที่เห็นว่าการฟังมีข้อดีเหนือการมองเห็น
.
เพราะเสียงแวดล้อมอยู่ข้างตัวเราตลอดเวลา ทั้งระยะใกล้และไกล ความสัมพันธ์ที่คนเรามีต่อเสียงโดยพื้นฐานแล้วจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ๆ อย่างแรกคือ มนุษย์เป็นผู้รับเสียง โดยเสียงนั้นๆเกิดจากการสั่นสะเทือนและเดินทางผ่านอากาศ เข้าสู่หูของเรา ก่อนจะส่งสัญญาณสู่ระบบประสาท เพื่อแปลความเป็นข้อความ ข้อมูล ให้เรารับรู้และเข้าใจ อย่างที่ 2 คือ ต้นกำเนิดของเสียง สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
.
1. เสียงที่มนุษย์เป็นผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษากาย กิจกรรมขนาดเล็ก-ใหญ่ เสียงดนตรี ฯลฯ ซึ่งเสียงเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี
.
2. เสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเกินการควบคุมของมนุษย์ เช่น เสียงบรรยากาศ อย่างเสียงลม เสียงฝน เสียงฟ้าผ่า ฯลฯ
.
ในปัจจุบัน มนุษย์กำลังมีความสัมพันธ์กับเสียงมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อม​ ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแรงคือ คลิปแบบ ASMR ที่เกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่ระดับ mentality จนถึงระดับ community
.
ASMR (Autonomous sensory meridian response) เป็นคอนเทนต์บนโลกออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่มีเสียงระยะประชิดเป็นตัวนำพาความรู้สึกของผู้ฟัง โดยคนส่วนมากรู้สึกว่าเสียงเหล่านี้มันช่างน่าจั๊กจี้ และกระตุ้นโสตประสาทบนหนังศีรษะของเราขณะฟังได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเลยคือ เมื่อได้ฟังมากกว่า 10 นาทีขึ้นไป จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย กลายเป็นการฟังเพื่อการพักผ่อน และคลายความเครียด
.
ASMR มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งเฟซบุ๊กกรุ๊ปโดย เจนนิเฟอร์ อัลเลน (Jennifer Allen) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จนในปัจจุบัน ชุมชนคนชอบ ASMR ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดูได้จากยอดการเสิร์ชที่เติบโตมากกว่าเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคลิปที่ถูกผลิตมากกว่า 5 ล้านคลิป และหลายๆ คลิปก็มียอดวิวสูงเกิน 100 ล้านวิว
ซึ่งกิจกรรมเสียงแบบระยะประชิดนี้ก็มีตั้งแต่ ตัดผม เสียงกระซิบ ทำและกินอาหาร ทำความสะอาดกระเป๋าหรู ซ่อมและผลิตของ ไปจนถึงเสียงฝนตก ซึ่งเมื่อมองให้ลึกในมิติของเนื้อหา จะเห็นได้ว่า คอนเทนต์เหล่านี้กำลังสอดแทรกเรื่องราวของผู้ผลิตเนื้อหาเข้าไปด้วย เช่น ทักษะ ความสามารถ วัสดุในพื้นที่ และวัฒนธรรมการกิน-อยู่ เข้าไปให้คนดูได้เรียนรู้ด้วย
.
ในส่วน ASMR แบบไทยๆ ก็กำลังเป็นที่นิยมและชุมชนนักผลิตคอนเทนต์ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คลิป ASMR ร้านอาหารเด็ดในละแวกเจริญกรุง-ตลาดน้อย จากเพลย์ลิสต์ Sound of Charoenkrung โปรเจกต์ดังกล่าว สนับสนุนโดยสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเผยแพร่ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565
.
โปรเจกต์นี้เป็นการฉายภาพขั้นตอนการทำอาหารเมนูเด็ดประจำร้าน พร้อมกับเสียงระยะประชิดที่กระตุ้นให้คนดูรู้สึกอยากทานมากขึ้น และมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงระหว่าง คนในชุมชน x วัฒนธรรมอาหารในท้องถิ่น x คนรับประทาน โดยเมื่อคลิปเหล่านี้ถูกนำเสนอออกไป มีผลทำให้รายได้ของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
.
ลองฟังเสียงอาหารไทยในละแวกเจริญกรุง-ตลาดน้อยจาก 10 คลิป ASMR นี้
.
จะเห็นได้ว่า บทบาทของเสียงกับมนุษย์เรา ทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก ตราบใดที่เรามีความสามารถในการได้ยิน ข้อมูลที่ลอยผ่านอากาศก็มักจะสื่อสารและสร้างประโยชน์อะไรบางอย่างให้กับเราเสมอ ซึ่งความสัมพันธ์ของเสียงกับคนในบทความนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น โดยในบทความต่อๆ ไป ยังคงมีอีกหลากมิติที่รอให้ทุกคนค้นพบไปพร้อมกัน และขอให้อย่าลืมว่า เสียงแวดล้อมอยู่รอบๆ ตัวเรา และเสียงนั้นแม้จะมองไม่เห็น แต่รู้สึกได้เสมอ ความรู้สึกนี้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่น่าค้นหา และมีเสน่ห์ในแบบของมันเอง
.
.
เรื่อง : ศิรษา บุญมา (เม) ผู้ร่วมก่อตั้งทีม Hear & Found
ภาพจาก : Hear & Found
#LifeandSound #ASMR #Sound #SoundCulture #Humanitas
โฆษณา