Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
•
ติดตาม
12 ก.ย. 2022 เวลา 08:50 • สุขภาพ
ไซนัสอักเสบ
ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกศีรษะบนใบหน้ารอบๆ จมูก ภายในมีเยื่อบุต่อเป็นผืนเดียวกันกับเยื่อบุภายในช่องจมูก ทำหน้าที่ปรับอากาศที่เราหายใจเข้าไปผ่านบริเวณจมูก ช่วยถ่ายเทความร้อนและความชื้นจากหลอดเลือดบนผิวเยื่อบุให้เหมาะสมกับร่างกาย
มี 4 คู่ ได้แก่ บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง ระหว่างลูกตาบริเวณหัวตา 2 ข้าง บริเวณหน้าผากใกล้กับหัวคิ้ว 2 ข้าง และอยู่ในกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง 1 คู่
โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้ามาทางกระบวนการหายใจ ของเยื่อบุจมูกและเยื่อบุไซนัส พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้น
เมื่อเกิดการติดเชื้อ เนื้อเยื่อในโพรงไซนัสจะมีอาการบวม และร่างกายจะผลิตสารคัดหลั่งเมือกเหลวขึ้นมามาก จนเกิดการอุดตันจนกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น
อาการของไซนัสอักเสบมักมีความคล้ายกับไข้หวัด ผู้ป่วยจึงไม่ระวังและปล่อยไว้นานไม่รักษา เพราะคิดว่าเป็นหวัดธรรมดา เมื่อมาพบแพทย์ก็ตรวจพบว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังไปแล้ว
ไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบ ส่วนใหญ่สามารถรักษาหายภายใน 3 สัปดาห์ และเป็นน้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง
2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) เป็นภาวะเรื้อรังนานกว่า 12 สัปดาห์ และเป็นมากกว่าปีละ 4 ครั้ง
ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหน่วงๆบริเวณที่ไซนัสอักเสบ เช่น หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม หรือรอบๆ ดวงตา ปวดศีรษะ มักเป็นมากช่วงเช้าหรือบ่าย โดยเฉพาะเมื่อก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า
มักปวดมากขึ้นเวลาเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากขณะนอนหลับจะเกิดการคั่งค้างของหนองภายในโพรงไซนัส และมีการคั่งของหลอดเลือดจากภาวะการนอน ทำให้การถ่ายเทอากาศในโพรงไซนัสไม่ดี จนเกิดการสะสมของของเหลวจำนวนมาก
บางครั้งมีอาการมึนศีรษะร่วมกับอาการปวด คัดจมูกหรือแน่นจมูก โดยมีอาการตลอดเวลาแม้จะทานยาแล้วก็ตาม บางรายมีอาการมากถึงมีกลิ่นเหม็นในจมูก ซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง มีไข้ หรือไข้สูงจนหนาวสั่น ไอเรื้อรัง และมีเสมหะ
หากปล่อยไว้จนอาการลามไปถึงกระดูก อาจทำให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง ส่งผลให้การรักษายากขึ้น และเสียชีวิตได้ในที่สุด
เมื่อเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ จะทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกเกิดการบวม ส่งผลให้โพรงไซนัสที่ติดต่อกับจมูกตีบตัน เกิดน้ำมูกคั่งภายในโพรงจมูก เป็นสภาวะเหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค จนเยื่อบุอักเสบและเป็นหนอง เกิดภาวะไซนัสอักเสบขึ้นได้
นอกจากนี้ภาวะติดเชื้อที่รากฟัน สามารถทำให้ไซนัสอักเสบได้เช่นกัน เนื่องจากกระดูกที่คั่นระหว่างรากฟันกับไซนัสบางมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งกระดูกจะบางลงตามอายุ
อาการของไซนัสอักเสบมีระยะเวลาฟื้นตัวและหายดีแตกต่างกันตามชนิดของการอักเสบ คือ
1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute) มักเกิดร่วมกับโรคหวัด ระยะเวลาป่วย 2-4 สัปดาห์
2. ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) การอักเสบเกิดขึ้นยาวนานประมาณ 4-12 สัปดาห์
3. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic) การอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบร่วมกับการป่วยโรคภูมิแพ้
4. ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน (Recurrent) การอักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี โดยแต่ละครั้งมีอาการนานมากกว่า 10 วัน
ปัจจัยเสี่ยงไซนัสอักเสบ
• ผู้มีความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคด ช่องจมูกแคบกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อง่ายขึ้น
• ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรืออยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้ภูมิต้านทานลดลง
• ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศ
• การว่ายน้ำในสระที่ใส่คลอรีนหรือสารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อโรค หากสำลักน้ำอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุภายในไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบได้
ไซนัสอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบในอัตรา 90% ของผู้ป่วย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือการพัฒนาโรคที่รุนแรงขึ้น อาการจะทุเลาลงและหายดีเองภายในเวลาประมาณ 10 วัน
ในขณะที่การติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้ไซนัสอักเสบจะพบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 5-10% เท่านั้น และต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะ มักมีอาการนานกว่า 10 วัน หรืออาการแย่ลงหลังจากเป็นมานาน 5 วัน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาการอักเสบยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือลุกลามยาวนานจนกลายเป็นไซนัสอักเสบระยะเรื้อรัง มีหลายปัจจัย เช่น การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้อากาศและหอบหืด การเกิดเนื้องอกในจมูก การเกิดผนังกั้นช่องจมูกคด การมีภูมิคุ้มกันต่ำ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
แนวทางรักษา
หากพบว่ามีอาการไซนัสอักเสบติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี โดยแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง การทำ MRI หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
หากมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีความรู้สึกปวดแน่นบริเวณใบหน้า ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
การดูแลตนเองเบื้องต้น
หากป่วยด้วยไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน อาการจะทุเลาลงและหายดีภายใน 2-4 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ดังนี้
• การใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโปรเฟน จะช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ และกลุ่มยาลดน้ำมูกและแก้คัดจมูก ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกหายใจติดขัด (ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเกินกว่า 1 สัปดาห์)
• การใช้แผ่นประคบร้อน ด้วยการประคบตามจุดต่าง ๆ ที่มีอาการปวดบนใบหน้า ช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้มูกเหลวที่อักเสบไหลออกมามากขึ้น
• การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยก่อนการล้างจมูกควรล้างมือและอุปกรณ์ทุกชนิดให้สะอาด แล้วใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกข้างหนึ่งอย่างช้า ๆ น้ำเกลือจะชะล้างหนองที่อักเสบและสิ่งสกปรกที่ตกค้างภายในโพรงจมูกให้ไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่ง
• การใช้ยารักษาไซนัส จะใช้ต่อเมื่อเกิดกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อราซึ่งพบน้อยมาก กรณีนี้ต้องใช้กระบวนการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเชื้อราออก
• การใช้ยาแก้แพ้เพื่อลดภาวะภูมิแพ้ที่ส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบ หรือใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อและการแพ้อากาศ และช่วยป้องกันการงอกของริดสีดวงจมูกหลังการผ่าตัดไซนัสด้วย
• การใช้ยาลดน้ำมูกช่วยให้หลอดเลือดในเนื้อเยื่อจมูกชั้นในหดตัว ซึ่งจะส่งผลให้อาหารคัดจมูกและน้ำมูกไหลน้อยลงได้
• การใช้ยาปฏิชีวนะ จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย
ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัด จะเหมาะกับการรักษาไซนัสที่เกิดจากความผิดปกติของโพรงจมูก หรือเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตไปปิดกั้นโพรงไซนัส
ภาวะเเทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
• ผลกระทบต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ทำให้เกิดการอักเสบต่อเยื่อบุลำคอ กล่องเสียง และหลอดลม ส่งผลให้เสี่ยงภาวะหอบหืด
• ภาวะไซนัสอักเสบลุกลามไปตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตาอักเสบ เกิดอาการปวดตา ตาบวม ตาเเดง ลูกตาโปน การมองเห็นลดลง อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
• ภาวะไซนัสอักเสบลามไปสมอง ส่งผลต่อการมองเห็น ปวดศีรษะ มีไข้ หากการอักเสบมากขึ้น อาจมีไข้สูง เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังเนื้อสมอง จนรุนแรงถึงชีวิตได้
• ภาวะไซนัสอักเสบลามไปกระดูก อาจส่งผลให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง ส่งผลให้การรักษายากขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด
• เกิดภาวะประสาทรับกลิ่นแย่ลง หรือสูญเสียประสาทรับกลิ่น นอกจากการอุดตันของมูกและหนองจะทำให้คัดจมูกหายใจลำบากแล้ว ยังมีผลต่อการรับกลิ่นของเซลล์บริเวณจมูกด้วย
• การติดเชื้อซ้ำซ้อน แม้จะมีภาวะไซนัสอักเสบไปแล้ว แต่บริเวณเยื่อบุไซนัสอาจอักเสบซ้ำได้ด้วยสาเหตุอื่น หรือการอักเสบอาจเกิดขึ้นกับไซนัสบริเวณอื่น ซึ่งจะเป็นผลให้อาการป่วยทรุดลงหรือพัฒนาไปสู่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง
• ต่อมน้ำลายอุดตัน เป็นผลพวงมาจากการอุดตันของหนองอักเสบในไซนัส หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังโครงสร้างอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง
• การติดเชื้อที่อวัยวะและโครงสร้างเซลล์บริเวณใกล้เคียงกับไซนัส เป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนัก แต่จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การอักเสบที่ดวงตา เส้นเลือดอักเสบ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การอักเสบของกระดูกและไขกระดูก เป็นต้น
แม้ไซนัสอักเสบจะมีอาการไม่รุนแรงในเบื้องต้น สามารถรักษาให้หายได้โดยใช้เวลาไม่นาน แต่หากปล่อยให้การอักเสบต่อเนื่องจนเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ใกล้เคียง สร้างความซับซ้อนและความยุ่งยากในการรักษา และอาจส่งผลถึงชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการต่างๆ ของภาวะไซนัสอักเสบติดต่อกันนานเกิน 10 วัน สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
การป้องกันการเกิดไซนัสอักเสบ
• อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และระวังอย่าให้จมูกแห้ง
• ป้องกันตนเองจากไข้หวัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยไซนัสอักเสบ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคที่ดี รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ที่กำลังป่วยโรคไข้หวัด
• หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อมลภาวะ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่ออยู่ในบ้านก็ควรทำความสะอาดกำจัดฝุ่นและขนสัตว์อยู่เสมอ และหากป่วยเป็นภูมิแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารที่ตนแพ้ด้วย
• ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เพราะควันและสารพิษจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในเนื้อเยื่อจมูกและไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบตามมา
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น พวกพืชผักผลไม้และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ส้ม องุ่น ถั่ว ผักคะน้า หัวมัน ธัญพืช เนื้อปลา เป็นต้น
• ข้อแนะนำอย่างหนึ่งคือไม่ควรอยู่ใกล้หรือมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อกำจัดฝุ่นผงในอากาศ และหมั่นทำความสะอาดห้องที่พักอาศัยบ่อยๆ
• ความชื้นช่วยบรรเทาอาการของไซนัสอักเสบได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกตัวร้อน ไม่สบายตัว ควรสูดดมไอร้อนจากน้ำเดือดที่ผสมน้ำมันคาโมมายล์ หรือถูนวดด้วยน้ำมันวิตามินอีบริเวณจมูก จะช่วยบรรเทาอาการปวด
• หมั่นรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ส่วนการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนจะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากไซนัสอักเสบได้
ถ้าคุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดกดถูกใจ กดดาว หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา
ขอบคุณค่ะ
สุขภาพ
ดูแลสุขภาพ
ความรู้
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย