12 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • หนังสือ
เริ่มต้นลงทุนง่าย ๆ ด้วยกองทุนรวม
ตอนที่ 5 กองทุนหุ้นแบบ Passive Fund และ Active Fund
ตอนที่ 5.1 รู้จักกับ Passive Fund
จากตอนก่อน ๆ ที่เราได้ทำความรู้จักกับกองทุนรวมกันไปบ้างแล้ว หลายคนอาจจะกำลังเวียนหัวลายตา ไม่รู้จะเลือกลงทุนในกองทุนไหนดี เพราะมันเยอะแยะไปหมดเลย เพื่อความง่าย ผมจะขอเลือกกองทุนที่สำคัญจริง ๆ มาให้ดูนะครับ
1.กองทุนรวมตลาดเงิน
2.กองทุนรวมตราสารหนี้
3.กองทุนรวมผสม (หุ้น+ตราสารหนี้)
4.กองทุนอสังหา
5.กองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น)
6.กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ
ซึ่งรายละเอียดสามารถย้อนกลับไปดูตอนก่อน ๆ ได้ (ตอนที่ 2) แต่หนึ่งในกองทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้นนั่นเอง ซึ่งวันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับ กองทุนหุ้น Passive Fund และ Active Fund กันครับ
ตอนที่ 5.1 รู้จักกับ Passive Fund
Passive Fund คือกองทุนที่ผู้จัดการกองทุน เน้นลงทุนให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง
ดัชนี ก็คือเครื่องมือชี้วัดการเปลี่ยนแปลง ถ้านำมาใช้กับหุ้น ก็จะหมายถึง "เครื่องชี้วัดตลาดหุ้น" ซึ่งดัชนีหุ้นเกิดจากการคำนวณทางสถิติ เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เช่น
-SET Index หรือดัชนีหุ้นไทย เป็นดัชนีสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์
-SET 50 เป็นดัชนีสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้น 50 ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์
-SET 100 ก็เป็นดัชนีสะท้อนการเคลื่อนไหวของหุ้น 100 ตัวแรกของตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
พอเราทำความรู้จักกับดัชนีแบบคร่าว ๆ แล้ว ก็กลับมาที่กองทุน Passive Fund ของเรากันครับกองทุน Passive จะพยายามลงทุนอ้างอิงกับดัชนีที่กองทุนนั้นลงทุน เช่น กองทุนจำพวก SET 50 ก็จะมีความพยายามลงทุนเลียนแบบการขึ้น-ลง ดัชนีSET 50 นั่นเอง
ดังนั้น ผลตอบแทนที่จะได้รับจากกองทุน Passive ก็จะมีความใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าดัชนีของตลาด เช่นกันครับ
ส่วนปัจจัยหลักที่เราใช้ในการพิจารณากองทุน Passive ก็คือ Tracking Error เป็นตัวชี้วัดว่า กองทุนนั้นผิดเพี้ยนไปจากดัชนีตลาดมากน้อยแค่ไหน ถ้า Tracking Error สูงก็แปลว่าเพี้ยนมาก ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Tracking Error สูงก็คือ ค่าธรรมเนียมครับ
ส่วนอีกปัจจัยนึงที่ทำให้ Tracking Error สูงก็คือ วิธีการลงทุน บางกองทุนอาจจะไม่ได้ลงทุนในหุ้นทุกตัวตามดัชนีจริง ๆ ก็อาจจะมีส่วนทำให้ Tracking Error ต่างกันไปด้วยครับ
ซึ่งสามารถดู Tracking Error ได้ที่ Factsheet ของกองทุนได้เลยครับ
ในต่างประเทศมีการเก็บสถิติในระยะยาวแล้วพบว่า ยิ่งระยะยาวเท่าไร Passive Fund ก็มีแนวโน้มที่จะดีกว่า Active Fund มากขึ้นไปด้วย ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า ผู้จัดการกองทุนแบบ Active นั้น มีน้อยคนนักที่จะสามารถทำผลตอบแทนเอาชนะตลาดได้
แต่สำหรับในประเทศไทย ก็ยังคงเห็นกองทุน Active หลาย ๆ กองยังคงทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุน Passive อยู่ค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า หุ้นที่อยู่ในตลาดเรายังคงมีไม่มากเหมือนในต่างประเทศ อีกทั้งหุ้นเล็ก ๆ ที่กำลังเติบโตก็มีให้เห็นอยู่มาก ถ้าช่วงไหนเศรษฐกิจดี ๆ ก็อาจทำให้หุ้นบางตัวทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด ทำให้ Active Fund ทำผลตอบแทนดีไปด้วย
สำหรับกองทุนแบบ Active Fund ขอกล่าวต่อไปในตอนที่ 5.2 นะครับ
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : กองทุนรวม 101
ผู้เขียน : ธนัฐ ศิริวรางกูร
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
เว็บไซต์ : www.finansiahero.com
Dr.Nut Aommoney.จะเลือกอย่างไร? ให้ได้สุดยอด Passive Fund
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา