13 ก.ย. 2022 เวลา 00:24 • ไลฟ์สไตล์
น้ำชาของสมเด็จพระราชินี
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัล เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 กันยายน
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (สมเด็จพระราชินีฯ) ทรงครองราชย์อยู่นานถึง 70 ปี และเพิ่งมีการเฉลิมฉลอง Platinum Jubilee ไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นก็ได้ปล่อยคลิปที่ทำให้พสกนิกรต้องประหลาดใจและยิ้มออกมาด้วยความชื่นชมคือ คลิปที่สมเด็จพระราชินีฯทรงเสวยพระสุธารสชากับหมี Paddington
1
ขอบคุณภาพประกอบจาก thedailybeast.com
การเสวยพระสุธารสชายามบ่าย หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Afternoon Tea เป็นธรรมเนียมของชาวอังกฤษซึ่งสมเด็จพระราชินีฯทรงกระทำตอนเวลาประมาณ 16:00 น ของทุกวัน
2
ซึ่งที่มาของน้ำชายามบ่ายนี้ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเกิดขึ้นในปี 1840 จากนาง Anna Russell ซึ่งเป็น Duchess of Bedford เกิดความหิวในช่วงเวลาบ่ายก่อนที่จะกินอาหารเย็นซึ่งกำหนดเวลาไว้ที่ 20:00 น ท่าน Duchess จึงขอน้ำชาและขนมปังกับเนย ขนมเค้กให้เธอรับประทานยามบ่ายแก่ ๆ ต่อมาเธอก็ได้ชวนเพื่อนสุภาพสตรีให้มาดื่มน้ำชาและเม้าท์มอยกันสนุกสนาน กลายเป็นธรรมเนียมการดื่มน้ำชายามบ่ายหรือ Afternoon Tea ในที่สุด
2
น้ำชายามบ่ายหรือ Afternoon Tea นี้ นอกจากจะมีน้ำชาเป็นหลักแล้ว ก็ยังมีขนมประกอบกันเป็นชุดซึ่งได้แก่ ขนมสโคน แซนด์วิช เค้ก ทาร์ต และ ฯลฯ พร้อมครีมและแยม เรียกว่ามาเป็นชุดใหญ่กันเลยทีเดียว ตามปกติก็จะเสิร์ฟมาในจานที่เป็นชั้นๆ เป็นเอกลักษณ์ ตามโรงแรมใหญ่ๆในกรุงเทพฯก็จะมีการเสิร์ฟ Afternoon Tea ของแต่ละโรงแรมเหมือนกัน โดยมีขนมนมเนยที่แตกต่างกันไป
แล้ว Afternoon Tea ของสมเด็จพระราชินีฯมีอะไรบ้าง? วันนี้เราจะได้มาทำความรู้จักกัน
มาเริ่มกันที่ “น้ำชา” ทำไมคนอังกฤษถึงชอบดื่มชา? ความจริงชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่สาเหตุที่คิดว่าทำไมคนอังกฤษชอบดื่มชามากกว่ากาแฟหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นคือ ชานั้นผลิตได้ในประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้น การนำเข้าชาจึงสะดวกกว่าการนำเข้ากาแฟหรือโกโก้ซึ่งผลิตในอาณานิคมของประเทศอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ
และผู้นำเข้าชาของประเทศอังกฤษคือ บริษัท British East India Company ซึ่งเป็นของรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการนำเข้า อีกทั้งการดื่มชามากขึ้นก็จะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้นจากการเก็บภาษี ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ประชาชนดื่มชาเพื่อรัฐจะมีรายได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนอังกฤษถึงชอบดื่มชา
ชุดน้ำชายามบ่ายเฉลิมฉลอง Platinum Jubilee ของร้านขายของชื่อดังในกรุงลอนดอน  Fortnum & Mason ขอบคุณภาพประกอบจาก cntraveller.com
แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการดื่มชาของคนอังกฤษก็กำลังลดน้อยถอยหลังลง หนังสือพิมพ์ The Washington Post ได้รายงานเมื่อปี 2016 ว่า ปริมาณการบริโภคชาของคนอังกฤษได้ลดลงอย่างมากจาก 68 กรัมต่อสัปดาห์ในปี 1974 เหลือเพียง 25 กรัมต่อสัปดาห์ในปี 2014 ขณะที่กาแฟได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยความนิยมในกาแฟนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
3
สาเหตุประการหนึ่งที่ความนิยมชาลดน้อยลงและกาแฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็เพราะความเร่งรีบของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ไม่มีเวลาในการที่จะมาชงชาดื่มและสนทนากันเหมือนแต่ก่อน
แต่สมเด็จพระราชินีฯยังคงโปรดปรานการดื่มชาตามธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวอังกฤษที่มีการดื่มชาและขนมตอนบ่ายที่เรียกว่า Afternoon Tea
ชาที่ทรงโปรดของสมเด็จพระราชินีฯนั้น จากการเปิดเผยของนาย Grant Harrold ซึ่งเป็นพ่อบ้านหลวง(Royal Butler) คือ ชา Assam และ Earl Grey
1
ชา Earl Grey นั้น เป็นชาดำผสมน้ำมันผิวมะกรูด(Bergamot) เวลารับประทานจะได้กลิ่นหอมของมะกรูดปนมาด้วย มีผู้บรรยายรสชาติของชา Earl Grey ไว้ว่า “starts with a deep, robust flavor accented by the refreshing citrus of bergamot” เมื่อนำมาใส่นมและน้ำตาลแล้วจะเข้ากันมาก
1
ชื่อชา Earl Grey นั้นเกี่ยวพันกับ Charles Grey ซึ่งเป็นทั้งขุนนางและนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 1830 ถึง 1834 แต่ประวัติของชา Earl Grey ว่าเกี่ยวข้องกับท่านเอิร์ลอย่างไรบ้างนั้นมีหลายตำนานต่าง ๆ กัน ฟังดูออกจะเป็นเรื่องสันนิษฐานมากกว่า
ส่วนชา Assam เป็นชารสเข้ม สีอำพัน ส่วนรสชาตินั้นมีผู้บรรยายไว้ว่า “deep, rich, full-bodied flavor with malty, earthy, and spicy notes” ยังกับบรรยายรสชาติของไวน์เลยนะครับ
ชา Assam เหมาะแก่การดื่มในช่วงเช้าซึ่งจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกตาสว่างและกระปรี้กระเปร่า แต่ใครจะดื่มตอนบ่ายก็ไม่ได้ผิดกติกาเลย ชา Assam ตั้งชื่อตามแคว้น Assam ในประเทศอินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดของชาชนิดนี้
2
ขอบคุณภาพประกอบจาก lifeisbetterwithtea.com
ทุกวันนี้ชา Earl Grey เป็นชาที่มีชื่อเสียงที่คนไทยรู้จักกันมากกว่าชา Assam เวลาจะไม่รู้ว่าจะดื่มชาอะไร ก็มักจะสั่งเป็น Earl Grey เสมอ ก็เลยมีหลายคนที่โมเมเอาว่า ชาทรงโปรดของสมเด็จพระราชินีฯเป็นชา Earl Grey แต่โดยแท้จริงแล้ว ท่านทรงโปรดมีอยู่ 2 ชนิดคือชา Earl Grey และชา Assam
การเสวยพระสุธารสชาของสมเด็จพระราชินีฯ ไม่ได้เสวยชาที่อยู่ในซองกระดาษขาว ๆ แล้วมาจุ่มในน้ำร้อนแบบเดียวกับที่พวกเราส่วนใหญ่รับประทานนะครับ แต่ของท่านจะทรงชงจากชาที่เป็นใบ ๆ ตากแห้ง นำมาชงเองโดยใส่ใบชาเข้าไปก่อนในกาเงิน แล้วจึงตามด้วยน้ำเดือดจัด ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วจึงรินผ่านที่กรองใส่ถ้วยกระเบื้อง
1
เวลาจะเสวย สมเด็จพระราชินีจากทรงเทชาลงไปในถ้วยก่อน แล้วจึงใส่นม แต่จะไม่ใส่น้ำตาลเลย เสร็จแล้วทรงใช้ช้อนคนแบบไปมาหน้าหลังโดยช้อนจะไม่สัมผัสถูกขอบถ้วยเลย เพราะการคนแบบเป็นวงกลมจะทำให้ช้อนกระทบกับขอบถ้วย เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นการไม่สุภาพในการดื่มน้ำชา
เรื่องของการใส่นมไปก่อนในถ้วยน้ำชา หรือใส่หลังจากใส่น้ำชาแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องที่คนอังกฤษมีความเห็นแตกต่างกัน ว่ากันว่าการใส่นมลงไปในถ้วยก่อนใส่น้ำชานั้น เพราะในสมัยก่อนถ้วยกระเบื้องยังมีคุณภาพไม่ดี ถ้าใส่น้ำชาร้อนลงไป ถ้วยก็อาจจะแตกได้ ดังนั้น จึงใส่นมลงไปก่อนเพื่อให้อุณหภูมิของน้ำชาลดลง แต่เดี๋ยวนี้คุณภาพของถ้วยชาดีขึ้นมาก ความจำเป็นในเรื่องนี้อาจจะหมดไป แต่ก็ยังมีชาวอังกฤษหลายคนที่ยังปฏิบัติแบบเดิมคือใส่นมก่อนน้ำชาอยู่
พิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds ในกรุงลอนดอนจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งเป็นสมเด็จพระราชินีฯนั่งเสวยพระสุธารสชาให้พสกนิกรไปถ่ายภาพได้ ขอบคุณภาพประกอบจาก hellomagazine.com
ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า การใส่น้ำชาลงในถ้วยก่อนน่าจะเป็นวิธีการที่ให้กลิ่นและรสชาติของชาออกมาได้เต็มที่ แล้วจึงค่อยใส่นมและน้ำตาลตามหลังเพื่อปรับรสตามความชอบ
นี่แค่วิธีการชงน้ำชาของคนอังกฤษและรสนิยมของสมเด็จพระราชินีเท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้กล่าวถึงขนมที่ประกอบกันเป็น Afternoon Tea มันเป็นเอกลักษณ์ของคนอังกฤษโดยแท้กันเลย ก็ขอเก็บเอาไว้บอกกล่าวโดยละเอียดในตอนหน้า
เรื่องตอนที่แล้ว "ญาติของ “ข้าวซอย”"
อ่านได้ที่
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นเกร็ดความรู้ เล่าสู่กันฟัง เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา