13 ก.ย. 2022 เวลา 05:45 • สิ่งแวดล้อม
ช้างป่า กับชาวบ้าน ปัญหาใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมช่วยเหลือเต็มที่
ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ หลายครั้งหลายคราเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับช้าง ที่เข้ามาบุกรุกบริเวณสวน ไร่ นา และบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ ส่งผลให้ได้รับความเสียหายทั้งพืชผลทางการเกษตร ข้าวของเครื่องใช้ ทรัพย์สินต่างๆ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้มนุษย์และช้างเริ่มจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน เช่น กรณีช้างถูกลวดไฟฟ้าช็อต หรือถูกยิงเสียชีวิต เป็นต้น กลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างช้างกับคน และจำเป็นต้องคลี่คลายปมนี้ร่วมกัน
ที่ผ่านมานายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการด้านการอนุรักษ์ช้างป่า เพื่อให้จำนวนประชากรช้างเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,440 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติทั้ง 69 แห่ง และผืนป่าที่อาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตร.กม.
แต่ก็ยังพบปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าที่อยู่อาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นแหล่งทำกิน และการก่อสร้างโครงสร้างต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายสวน ไร่ นา และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำกับกระทรวงฯ ให้ออกแนวทางป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า และการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งอาหารของช้าง เพื่อจะลดความขัดแย้งนี้ลงไปได้
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาในที่ประชุมสภาฯ นายวราวุธฯ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นการแก้ปัญหาช้างป่า โดยมีใจความว่า “ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้าง ทางกระทรวงฯ ไม่ได้เพิกเฉยและนิ่งนอนใจ ได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่าไว้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งในส่วนของการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
ได้มีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือตามกรอบกฎหมายอย่างชัดเจน พร้อมกำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งหารือกับบริษัทประกันภัย ในการทำประกันชีวิตและประกันทรัพย์สินพืชผลทางการเกษตรให้กับประชาชนในเขตรอยต่อป่าอนุรักษ์ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
อีกประเด็นที่ ส.ส. ได้สอบถามคือ การเร่งอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสร้างอ่างเก็บน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นที่อยู่และแหล่งอาหารให้ช้าง โดยจะต้องใช้พื้นที่ป่ากว่า 7 พันไร่ ทางกระทรวงฯ ต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เพราะกระทบทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่องและอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และมีความเป็นห่วงว่าจะมีผลทำให้ช้างป่าย้ายออกไปหากินในพื้นที่อื่นแทน
โดยที่ผ่านมาได้สร้างแหล่งอาหาร ทุ่งหญ้าประมาณ 21,000 ไร่, แหล่งน้ำจำนวน 84 แห่ง, ปลูกพืชอาหารช้างป่าและสัตว์ป่าประมาณ 11,500 ไร่ และโป่งเทียมจำนวน 145 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และมั่นใจว่าจะช่วยลดจำนวนช้างป่าที่ออกไปหากินนอกผืนป่าได้
โฆษณา