13 ก.ย. 2022 เวลา 07:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าว 20% การเตรียมตัวรับวิกฤตอาหารที่ไม่ควรมองข้าม
เป็นเรื่องที่ถูกองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอาหารโลก (World Food Programme : WFP) เตือนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 กับวิกฤตด้านอาหารของโลกผ่านรายงาน Global Report on Food Crises 2022 ซึ่งรุนแรงขึ้นจากปัจจัยหลักๆ คือ ระบบ supply chain ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ทำให้เกิดปัญหาในการเพาะปลูกทำการเกษตรในหลายพื้นที่ทั่วโลก และยังถูกซ้ำเติมจากสงครามในยูเครน
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการกระจายปริมาณอาหารทั่วโลก จนทำให้วิกฤตด้านอาหารนั้นรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยากจน และแน่นอนว่าจะทำให้ราคาอาหารทั่วโลกนั้นพุ่งสูงขึ้นไปตามกลไกของอุปสงค์และอุปทาน
ล่าสุดดูเหมือนว่าราคาสินค้าด้านอาหารโลกจะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นไปอีก หลังจากอินเดียซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก กว่า 40% ของตลาดโลก
ได้ออกมากำหนดอัตราภาษีการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศใหม่ โดยกระทรวงการคลังอินเดียประกาศขึ้นภาษีการส่งออกข้าวเปลือกและข้าวกล้องที่ 20% ในขณะที่การส่งออกข้าวกึ่งขัดสีและข้าวขาว ยกเว้นข้าวนึ่งและข้าวบาสมาติ ก็จะถูกเก็บภาษีด้วยเช่นกัน
โดยรัฐบาลอินเดียได้ให้เหตุผลการขึ้นภาษีการส่งออกข้าวครั้งนี้ว่าเพื่อเป็นการรักษาอุปทานข้าวภายในประเทศหลังจากผลผลิตข้าวลดลง ทั้งนี้ข้าวถือเป็นสินค้าเกษตรลำดับที่ 3 ของอินเดียที่ต้องเผชิญการควบคุมการส่งออกไปยังต่างประเทศในปีนี้
การขึ้นอัตราภาษีการส่งออกข้าวของอินเดียนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้วิกฤตความอดอยากและวิกฤตอาหารโลกรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากจะทำให้ราคาของข้าวซึ่งถือเป็นอาหารหลักของประชากรโลกหลายพันล้านคนต้องมีราคาที่สูงขึ้น อีกทั้งภูมิภาคเอเชียเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 90% ของโลก
ในปี 2021-2022 อินเดียถือเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกที่ปริมาณ 18.75 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 40% ของการส่งออกข้าวทั่วโลก ตามมาด้วยเวียดนามและไทยที่ปริมาณ 6.5 ล้านตัน เมื่อรวมกับอันดับ 4 ของโลกอย่างปากีสถานที่ส่งออกข้าวปริมาณ 4 ล้านตัน ก็จะมีปริมาณการส่งออกข้าวมากกว่า 75% ของปริมาณข้าวในตลาดโลก การขึ้นภาษีข้าวของอินเดียนั้นแม้จะส่งผลกระทบต่อปัญหาความอดอยากและวิกฤตด้านอาหารโลก แต่กลับส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ทั้งในเชิงการแข่งขันและราคา
อย่างไรก็ตามแม้จะมีผลดี แต่การคำนึงถึงปริมาณข้าวในการบริโภคภายในประเทศเพื่อเตรียมรับผลกระทบจากวิกฤตอาหารโลก รวมไปถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการทำการเกษตรก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องวางแผนให้ดี
โฟกัสทุกความเคลื่อนไหว ที่น่าสนใจและอัดแน่นไปด้วยสาระ 
ที่ TopNewsFocus เลือกสรรมาให้คุณเติมอาหารสมองกันได้ทุกวัน
ติดตาม Topnewsfocus ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา