13 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เวทีประกวดนางงาม…ภาพสะท้อนของยุคสมัย และการเปลี่ยนแปลงในสังคม
1
เวทีการประกวดจึงเป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐบาลใช้ประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญ ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็นนางสาวไทย และผู้ที่ชนะการประกวดจะได้เข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล เพื่อเผยแผ่วัฒนธรรมไทยออกสู่สายตาชาวโลก
1
ในอดีต การประกวดนางงามเป็นเวทีที่ตัดสินความงามของผู้หญิงตามค่านิยมของยุคสมัยนั้นๆ คนที่ได้รับตำแหน่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีภาพลักษณ์ที่สะท้อนค่านิยมในแต่ละยุคสมัย
แต่ต่อมานางงามพ่วงด้วยตำแหน่งกระบอกเสียงของสังคม มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมมากขึ้นกว่าในอดีต เราจึงได้เห็นรูปแบบการตอบคำถามคัดเลือกนางงามที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ความสวยอย่างเดียวที่จะช่วยให้คว้ามงกุฎไปได้
แต่ต้องมาพร้อมความฉลาด ไหวพริบ ทัศนคติในการตอบคำถามต่างๆ ถึงจะทำให้เธอสามารถคว้าตำแหน่งในเวทีระดับโลก และต้องรับหน้าที่เพื่อสังคมต่อจากนั้นได้
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านางงาม กับ การเมือง เป็นสิ่งที่มาคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะนางงามเป็นเหมือนภาพสะท้อนค่านิยมของสังคมโลกในแต่ละยุคสมัย
ถ้าสังเกตดูคำถามรอบตัดสินในสมัยที่คุณอาภัสรา หงสกุล ได้ครองมงกุฎนางงามจักรวาลปี 1965 จะเป็นคำถามกลางๆ โดยทั่วไป คือ ให้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของไทย
ในขณะที่ในยุคปัจจุบัน คำถามมักมีการให้เลือกฝั่ง หรือพูดเรื่องประเด็นต่างๆ ในสังคมมากขึ้น นางงามจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการเมืองและสังคมเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงบทบาทของนางงามที่เปลี่ยนไปจากการเป็นเพียงวัตถุที่ใช้โปรโมทวัฒนธรรม กลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของคนในประเทศ
📌 ยุคนางงามรักเด็ก
คุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สปี 1988 น่าจะเป็นผู้เข้าประกวดของไทยคนแรกๆ ที่พยายามชูประเด็นทางสังคมขึ้นมาจนคำว่า “ปุ๋ยรักเด็ก” กลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเธอมาจนถึงทุกวันนี้
เมืองไทยแม้จะสวยงามและเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม แต่เราก็มีปัญหาในเรื่องของเด็กๆ เมื่อปีที่แล้วมีเด็กไทยตายเพราะโรคขาดอาหารเป็นหมื่นคน และดิฉันก็หวังว่าการเป็นนางสาวไทยของดิฉันจะมีส่วนช่วยเด็กๆเหล่านี้ได้
ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก
1
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศส่งออกข้าวอย่างไทย กลับกลายเป็นประเทศที่เด็กและผู้หญิงประสบภาวะขาดสารอาหารเป็นอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่ชนบท มีเด็กเป็นโรคโลหิตจาง, ขาดไอโอดีนจนเป็นโรคคอพอก, เป็นโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
เนื่องจากในสมัยนั้นคนที่เข้าถึงน้ำสะอาดทั้งประเทศมีอยู่เพียง 8.5% เท่านั้น และเด็กวัยก่อนเรียนกว่าครึ่งก็มีภาวะน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์
จนกระทั่งในช่วงปี 1982 - 1987 ประเทศไทยถึงได้เริ่มมีการให้ความสำคัญกับแผนบรรเทาความยากจนและระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง
การตอบคำถามของคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ จึงเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่เธอให้ความสำคัญ นั่นคือ เรื่องภาวะโภชนาการของเด็ก ที่จะต้องเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศ หลังลงจากตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส เธอจึงยังคงทำงานเพื่อสังคม และก่อตั้งมูลนิธิแองเจิ้ลวิงส์ (Angels Wings Foundation) เพื่อสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส
📌 นางงามรักษ์โลก
ถ้าเรายังจำกันได้ ในปี 2017 เป็นปีที่ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาพูดกันอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแห้งแล้ง พายุเฮอริเคน หมอกควัน ไฟป่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คร่าชีวิตคนนับพันคน และทำให้เราเริ่มตระหนักได้ว่าโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้กำลังแสดงอาการผิดปกติออกมาทีละน้อยๆ
คุณมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 เป็นนางงามที่แสดงจุดยืนทางด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอยึดถือมาตลอด เธอจึงได้พยายามทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้คนเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่รัฐบาลในทุกประเทศต้องเอาใจใส่
หลังจบเวทีประกวด เธก็ยังคงมีบทบาททางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง SOS Earth องค์กรเพื่อสังคมที่จะมีการจัดกิจกรรมและทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
📌 นางงามเพื่อมาตรฐานความงามที่หลากหลาย
 
นางงามหลายต่อหลายคนที่ผ่านมา มักจะมีรูปร่างแบบตามมาตรฐานค่านิยมไทย คือ มีรูปร่างค่อนข้างผอมเพรียว แต่ในยุคหลังๆ ที่หลายคนเริ่มพยายามนิยามความงามในรูปแบบใหม่ เพราะสังคมเริ่มตระหนักว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความงามก็เช่นกัน
คุณแอนชิลี สก๊อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 จึงเป็นนางงามคนแรกๆ ที่ฉีกกฎค่านิยมความงามแบบเดิมๆ และแสดงให้ทุกคนเข้าใจถึงความสวยแบบไซส์จริง หรือ Real Size Beauty เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนมีความมั่นใจ และภูมิใจในรูปร่างของตนเอง แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามค่านิยม
ฉันมายืนตรงนี้เพื่อเป็นตัวแทนทุกคนที่เคยรู้สึกไม่เข้าพวก รู้สึกถูกตัดสินและรู้สึกเจ็บปวด เพราะเราแตกต่างจากมาตรฐานของสังคม วันนี้ฉันอยู่นี่ เพื่อส่งเสียงให้คุณ โดยเฉพาะเด็กสาวๆ ให้ได้ชื่นชมรูปร่าง และความเป็นตัวของตัวเอง ฉันได้ยินคุณ ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อคุณ
แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส
📌 นางงามที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางการศึกษา
ปิดท้ายบทความนี้ ด้วยนางงามคนล่าสุดของไทย ที่จะเป็นตัวแทนคนไทยไปคว้ามงกุฎในระดับโลกอย่าง คุณแอนนา เสืองามเอี่ยม ที่คนต่างให้ฉายาว่า “นางงามจากกองขยะ” เนื่องจากเธอเติบโตมาในครอบครัวที่ต้นทุนชีวิตต่ำและมีพ่อแม่ทำงานเป็นพนักงานเก็บกวาดขยะ
โดยปกติเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ 20% ล่างสุดของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉลี่ยเพียง 5% เท่านั้น และยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาสูงถึง 7 เท่า
1
ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เธอก็ยังพยายามแสวงหาโอกาส เพื่อให้ได้เรียนหนังสือ จนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ได้ในที่สุด เพราะเธอเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้ ดังที่เธอสะท้อนให้เห็นผ่านการตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้ายว่า
ทุกคนรู้มั้ยคะ ว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง การศึกษาทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆ เริ่มต้นจากการศึกษา เพราะฉะนั้นแอนนา อยากให้ทุกคนใส่ใจ อยากให้หน่วยงานทุกหน่วยงานใส่ใจการศึกษาให้มากกว่านี้ค่ะ เพราะแอนนาเชื่อว่าการศึกษาจะพัฒนาประเทศ พัฒนาความรู้ของเด็กนักเรียนทุกคนได้
แอนนา เสืองามเอี่ยม
หลังคว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุด เธอตั้งใจที่จะเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนรายได้น้อย โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษา หลายคนจึงเอาใจช่วยเธอเป็นอย่างมากให้เธอสามารถคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สลำดับที่ 3 ของไทยมาครองให้ได้ เพื่อที่เราจะได้เห็นเธอใช้ได้ตำแหน่งที่มี ขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางการศึกษาอย่างที่เธอตั้งใจ
เวทีนางงามในปัจจุบัน จึงไม่เป็นเพียงเวทีประชันความงามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเวทีที่เปิดให้ผู้หญิงกล้าพูด กล้าคิด และได้ลงมือขับเคลื่อนสังคมในสิ่งที่ตัวเองยึดมั่น เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่ตุ๊กตาประดับที่เอาไว้ตั้งโชว์ความสวยงามตามมาตรฐานอีกต่อไป
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Amarin TV, sanook.com และ Vogue Thailand
โฆษณา