Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
258 M.21 ผู้รับใช้นาย
•
ติดตาม
14 ก.ย. 2022 เวลา 13:43 • ประวัติศาสตร์
คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 2
เดอะ บอมบ์ (Bombe) ซึ่งสะกดโดยมีตัว e ห้อยท้ายนั้นเป็นต้นเค้าของ “โคลอสซัส” (Colossus) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก มันเป็นเครื่องจักรกึ่งไฟฟ้ากึ่งจักรกลที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อถอดรหัสข้อความหรือข่าวสาร ที่ฝ่ายเยอรมนีส่งออกไป ข้อความเหล่านี้โดยปกติแล้วจะได้รับการเข้ารหัสด้วยเครื่องอีนิกมา (Enigma) ก่อนถูกส่งออกไป
เครื่องอีนิกมาประดิษฐ์ขึ้นในปี 1923 หน่วยงานที่นำมันไปใช้มีทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของเยอรมนี หน่วย SS หน่วยข่าวกรองทหาร (Abwehr) และการรถไฟเยอรมนี (Reichsbahn)
แต่เดิมมันมีโรเตอร์ (ตัวหมุน) 3 ตัว และแป้นพิมพ์ที่เชื่อมกับแผงไฟฟ้า ซึ่งถูกจัดเรียงในรูปแบบที่เมื่อกดตัวอักษรตัวหนึ่งบนแป้น ไฟจะสว่างวาบขึ้นที่อักษรอีกตัวหนึ่งซึ่งต่างจากตัวที่กด เพื่อที่จะอ่านข้อความได้ ผู้คุมเครื่องจะเขียนมันขึ้นมาใหม่แทนที่อักษรต้นฉบับที่ปรากฏบนเครื่องอีนิกมา
การตั้งค่าของโรเตอร์จะเปลี่ยนไปทุกวัน แม้แต่ในรูปแบบที่ง่ายที่สุด อักษรแต่ละตัวก็ยากต่อการแกะรหัส แต่ละตัวอักษรมีหลายร้อยล้านวิธีที่เป็นไปได้ในการถอดรหัส เมื่อสงครามคืบหน้าไป ฝ่ายเยอรมนีได้เพิ่มโรเตอร์เข้ามาอีก เพื่อเพิ่มขั้นตอนการเข้ารหัสให้ซับซ้อนมากขึ้น ตลอดสงครามเยอรมนีเชื่อว่า ไม่มีใครถอดรหัสอีนิกมาได้
แม้ว่าเครื่องอีนิกมาจำนวนมากจะตกไปอยู่ในมือของอังกฤษระหว่างสงคราม การรู้ว่ามันทำงานอย่างไรเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นอังกฤษมีเครื่องจักรที่คล้ายคลึงกันชื่อไทเพ็กซ์ (Typex) อยู่ในครอบครองเรียบร้อยแล้ว กลเม็ดในเรื่องนี้ก็คือ จะต้องรู้การตั้งค่าประจำวันของโรเตอร์ อังกฤษซึ่งตระหนักว่าอีนิกมาสามารถถอดรหัสได้ จึงจัดตั้งกลุ่มนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขึ้นที่โรงเรียนถอดรหัสและเข้ารหัสของรัฐบาลที่เบล็ตช์ลีย์พาร์กทางเหนือของลอนดอน
ตอนเริ่มต้นการถอดรหัสข้อความประสบความสำเร็จบางส่วน โดยการใช้สูตรคณิตศาสตร์ซึ่งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ก) มีพยัญชนะแค่ 26 ตัว ข) ไม่มีพยัญชนะตัวใดเลยที่มีความหมายตรงกับตัวมันเอง ค) บนแป้นพิมพ์ไม่มีตัวเลขอยู่เลย จึงต้องสะกดจำนวนตัวเลขออกมาเป็นคำ และเพื่อช่วยเหลือกระบวนการถอดรหัส นักถอดรหัสชาวโปแลนด์ได้คิดค้นเครื่องจักรขึ้นมาใหม่ซึ่งได้รับการปรับปรุงมากมายโดยนักคณิตศาสตร์ชาญฉลาดชื่อ อลัน ทัวริง ซึ่งถูกแต่งตั้งให้มาประจำการที่เบล็ตช์ลีย์
เครื่องจักรที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่นี้มีชื่อเล่นว่า บอมบ์ (Bombe) ซึ่งได้รับการอัพเกรดตลอดช่วงสงคราม และสุดท้ายมีถึง 5 ประเภท แต่ไม่ได้ใช้ที่เบล็ตช์ลีย์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ที่เบล็ตชลีย์นี่เองที่รหัสแรกของอีนิกมาถูกถอดได้ด้วยระบบจักรกลของบอมบ์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1940
โคลอสซัส คอมพิวเตอร์ของแท้เครื่องแรกของโลก ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อถอดรหัสจากเครื่องเข้ารหัสลัวร์แอนซ์ (Lorenz) ของเยอรมนี มันถูกนำมาติดตั้งที่เบล็ตช์ลีย์ในเดือนธันวาคม ปี 1943 ลัวร์แอนซ์มีโรเตอร์ 12 ตัว
แทนที่จะมีเพียง 4 ตัวเหมือนเครื่องอีนิกมารุ่นที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว ในที่สุดแล้วโคลอสซัส 5 เครื่องถูกนำมาติดตั้งที่เบล็ตช์ลีย์ ซึ่งในจำนวนนี้บางเครื่องถูกนำไปใช้ถอดรหัสของฝ่ายญี่ปุ่นด้วย การถอดรหัสเหล่านี้ได้ถือเป็นการรับรางวัลพิเศษที่ไม่คาดหมายในรูปของข่าวกรองให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังวางแผนจะยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดีในเดือนมิถุนายน ปี 1944
ช่วงต้นปี 1944 ผู้ช่วยทูตทหารญี่ปุ่นประจำเบอร์ลินถูกนำไปเยี่ยมชมกำแพงแอตแลนติก ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันสถานที่ต่างๆ และชายหาดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเลือกที่จะโจมตี ระหว่างที่เขาเดินทางกลับมายังสถานทูต เขาส่งชุดข้อความยาวกลับไปยังกองบัญชาการกองทัพบกในโตเกียว
โดยบรรยายรายละเอียดยิบในสิ่งที่เขาเห็นในเวลาที่น้อยที่สุด ข้อความที่เขาส่งออกไปถูกสถานีดักฟังในอังกฤษดักได้ และถอดรหัสออกมา ข้อมูลที่ถอดรหัสออกมาได้มีค่าอย่างมิอาจประมาณทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบจำนวนปืน ขนาดของลำกล้องปืน ไปจนถึงบังเกอร์สำหรับตั้งปืนกลที่ทำหน้าที่ปกป้องชายหาด
หมายเหตุ
• คัดเนื้อหาบางส่วนจาก พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน, ดร.แอลแลน อาร์.มิลเลตต์- เขียน นงนุช สิงหเดชะ-แปล, 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556
ภาพหายากของเครื่องโคลอสซัสพร้อมกับผู้ควบคุมเครื่องโดยรุ่น Mark I ขับเคลื่อนด้วยวาล์ว 1,500 ชิ้น และรุ่น Mark II ขับเคลื่อนด้วยวาล์ว 2,500 ชิ้น (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)
หนังสือ
ปรัชญา
ข่าวรอบโลก
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย