Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Office Hours Productivity
•
ติดตาม
15 ก.ย. 2022 เวลา 12:49 • ความคิดเห็น
วันนี้หัวข้อคุยกับ Project Manager หรือจะเรียกว่าโดนผู้จัดการโครงการสอนงานดีนะ?
ถ้ามีโอกาส การได้คุยกับคนที่ทำงานในตำแหน่งอื่น ๆ จะช่วยให้เราเห็นภาพใหญ่และตัดสินใจในการทำงานดีขึ้นมาก ถ้าคุณคุยกับเจ้าของบริษัทบ่อยคุณก็จะเห็นอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าคุณคุยกับคนที่ทำหน้างานคุณก็จะเห็นอีกมุมมองหนึ่ง ส่วนทีมที่เก่งคือกลุ่มที่เจรจาหาจุดสมดุลระหว่างความต้องการของทุกฝ่ายได้ลงตัว
แต่วันนี้จะมาพูดถึงบทสนทนาที่คุยกับแฟนตัวเองซึ่งทางเทคนิคแล้วเราเป็นพนักงานคนละแผนกกัน งานหยกส่วนใหญ่เป็นเลขาฯกรรมการ ส่วนแฟนเริ่มจากเป็น Developer วันหนึ่งเขากลายเป็น Project Manager และนี่คือบทสนทนาเวลาที่เราไม่ได้คุยกะหนุงกะหนิงกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หยกมักจะรับงานหนึ่งมา คำนวณในหัวว่าเรา “น่าจะทำเสร็จ” ภายในกี่วันแล้วบอกลูกค้าไป เช่น 4 วันเสร็จ ซึ่งเคสนี้แฟนจะเดินมาถามว่าคิดว่าทำเสร็จภายในกี่วัน? พอเราบอกว่า 4 วัน แฟนก็ถามว่ามั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์ เผื่อความเสี่ยงหรืองานแทรกอื่น ๆ หรือยัง? “ถ้า 4 วันไม่ 100% ไม่ควรไป Commit (ให้คำมั่นสัญญา) ว่าส่งให้ภายใน 4 วัน”
ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ขัดใจหยกมาก:
หนึ่ง คือ ไม่ชินเพราะเราเป็นคนประเภทบอก Deadline ตลอด
สอง คือ ในเซลล์สมองของเรามันกรีดร้องมาก งานแค่นี้ใช้เวลาทำอะไรเกิน 4 วัน
สาม คือ คิดในมุมลูกค้าหรือเจ้านายก็ไม่น่าจะมีคนอยากรอไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ Timeline ว่าเขาสามารถคาดหวังว่าจะได้ของเมื่อไร "เสร็จแล้วส่ง" จึงดูเป็นคำที่ลอยมากสำหรับหยก
พอบทสนทนานี้มันเกิดขึ้นสัก 2-3 ครั้ง เช่น "ทำไมไปกำหนดกรอบเวลาแบบนั้นล่ะ" หรือ "วันหลังได้งานมาเธอมาปรึกษาพี่ก่อนได้นะ" เหมือนเดิมการแก้ปัญหาทุกเรื่องแก้ได้ด้วยการคุยกัน(ดีๆ) 5555 หยกก็ถามเขาว่า "หยกอยากรู้ Logic (เหตุผล) ข้างหลังที่พี่ไม่ Commit เรื่องวันส่งงาน"
Photo by Lukas Blazek on Unsplash
พี่เลยอธิบายให้ฟังว่านอกจากเรื่องที่หยกเชื่อเลยปฏิบัติมาตลอด มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก
1. หลายงานเป็นงานใหม่ หยกไม่เคยจับเวลาความเร็วในการทำงานตัวเองใน "งานใหม่" นั้นมาก่อน ดังนั้นจะประเมินได้ดีสุดจากงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่มันจะไม่ใช่เวลาทำงานจริงจนกว่าจะได้ลองทำจริงจริง
2. หยกอาจจะคิดว่า 4 วันจากประมาณการของเก่า แต่จากประสบการณ์พี่ อะไรที่คิดว่าเป็นชั่วโมงทำงานหรือจำนวนวันที่เราจะใช้ คูณ 2 ไปเลย เช่น "หยกคิดว่าใช้ 4 วัน ตีไปเลย 8 วัน" เพราะมันจะมีเหตุการณ์ที่มองไม่เห็นมาก่อนเกิดขึ้นระหว่าง 4 วันนั้นและทำให้เราอาจจะทำงานไม่เสร็จ
ซึ่งเหตุผลนี้หยกซื้อ เพราะชีวิตหยกจะมีงานแทรก งานด่วน งานนัดประชุม งานขอภายในวันพรุ่งนี้ งานคนที่บ้านฝากทำจะเบียดเข้ามาระหว่าง 4 วันจริง และจบลงด้วยการที่หยกต้องไป OT ในห้องนอนตัวเองไม่รู้กี่ครั้งแล้ว
3. Creditability (ความน่าเชื่อถือ) ความน่าเชื่อถือเป็นของเล่นราคาแพงไม่ว่าจะกับคนที่เราทำงานด้วยหรือคนในครอบครัว กว่าจะได้มาก็ลำบาก พอพลาดปุ๊ปก็กู้คืนยากมากและใช้เวลานาน และที่ยากคือความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องที่เสียคะแนนได้ง่าย ๆ โง่ ๆ มาก เช่น หยกบอกเขาว่าอีก 4 วันส่งปรากฏว่าหยกไปทำเสร็จวันที่ 5 หยกจะเสียคะแนนความน่าเชื่อถือไปทันที มากน้อยแล้วแต่คู่กรณี
ในทางกลับกันหยกบอกลูกค้าว่า 8 วัน ถ้าหยกทำเสร็จก่อนพร้อมตรวจทานอะไรเรียบร้อยแบบไม่ต้องทำ OT เที่ยงคืน หยกส่งงานเร็วลูกค้าก็มีความสุข หยกมีเวลาตรวจทานงาน ก็ลดข้อผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดเช่นสะกดผิด มีเวลาเกลาสำนวนภาษาที่ใช้ พอมีเวลามากขึ้น ความเครียดในการทำงานลดลง ผลงานดีขึ้น มันก็ดีกับทุกฝ่ายไม่ใช่หรอ?
หลังจากคุยกันจบ สุดท้ายหยกบอกลูกค้าไปว่าขอ 8 วันค่ะ และเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นคือลูกค้าบอกว่า "โอเคได้เลย"
เหตุการณ์นี้ทำให้หยกค้นพบสัจธรรมว่าที่ผ่านมาเราเอาความน่าเชื่อถือและเวลานอนของเราไปใช้ทิ้งขว้างมากแค่ไหน Timeline x2 เป็นเวลาที่ลูกค้ารับได้นินา เขาดีลงานประเภทเดียวกันกับคนอื่นที่ไม่ใช่เรามาเหมือนกัน ดังนั้นเขารู้เวลากลางอยู่แล้ว (เหมือนราคากลางในตลาดเลย) หรือถ้าไม่ได้ เขารีบ เขาจะเจรจาต่อรองแน่นอน เช่น ส่งวันภายใน...แทนได้ไหม?
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าใช้ประโยชน์จากการทำงานเร็วของเราให้มันเป็นจุดบวกเสริม ไม่ใช่เอามาใช้เป็นสายรัดคอ แต่ทั้งที่ทั้งนั้นก็ไม่ได้บอกว่าคุยแล้วต้องเปลี่ยนทุกเรื่องนะ แต่ลองก่อนแล้วก็ได้รู้ว่าเหมาะกับตัวเองไหม บางทีมันอาจจะเป็นทางที่ดีกว่าเดิมก็ได้
หยกมองว่านี่คือตัวอย่างประโยชน์จากการคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในทีมค่ะ Enjoy Working ค่ะทุกคน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย