Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
16 ก.ย. 2022 เวลา 00:44 • หนังสือ
รวย โลภ เหนียว
นำชัย ชีววิวรรธน์
Photo by Mathieu Stern on Unsplash
ในสหรัฐอเมริกา เราอาจเห็นอภิมหาเศรษฐีบริจาคเงินก้อนโตอย่างเหลือเชื่อ เช่น มอร์ท ซักเคอร์แมน (Mort Zuckerman) บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ก่อตั้งสถาบันวิจัยสมองและพฤติกรรม (ซึ่งก็ใช้ชื่อสถาบันตามชื่อของเขา)
ยังมีรายชื่อคนรวยๆ อีกยาวเหยียดที่บริจาคเงินก้อนโตในแบบนี้
แต่ยังมีคนแคลงใจว่าอันที่จริงแล้ว อเมริกันชนรวยๆ นี่ใจดีใจป้ำจริงหรือ พวกเขารวยแล้วก็เลยใจดีเกินกว่าคนจนจริงหรือ
และเมื่อทำวิจัยออกมาก็พบว่า ผลลัพธ์มันตรงกันข้ามเลยทีเดียว นั่นคือคนอเมริกันที่ติดอันดับ 20% แรกของคนรวยสุดๆ นั้นบริจาคเงินรวมแล้วเพียง 1.3% ของรายได้ของพวกเขาเท่านั้น
ในขณะที่คนจนติดดิน 20% ล่างสุดในสังคมยังบริจาคถึง 3.2% ของรายได้ ทั้งๆ ที่พวกเขามักไม่ได้เอาเรื่องการบริจาคนี้ไปช่วยเรื่องหักภาษีแบบเดียวกับคนรวยๆ ด้วยซ้ำไป
ความแตกต่างดังกล่าวมีนัยสำคัญมาก เมื่อคำนึงว่าประเทศสหรัฐฯ เองก็อยู่ในกลุ่มที่มี "ช่องว่างทางฐานะ" สูงสุดประเทศหนึ่ง
ดังเห็นได้จากรายงานใน The Wall Street Journal ที่ว่า 0.01% (ราว 14,000 ครอบครัว) สะสมความมั่งคั่งไว้มากถึง 22.2% ของทั้งประเทศ
ในขณะที่ 90% ล่างสุดของประชากร (ราว 133 ล้านครัวเรือน) มีสินทรัพย์รวมกันได้เพียง 4% ของทั้งหมดเท่านั้นเอง
https://unsplash.com/photos/8lnbXtxFGZw
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Chronicle of Philanthropy ระบุว่า ผลการทดลองเมื่อเร็วๆ นี้สอดคล้องดีกับผลก่อนหน้านี้ที่แสดงว่า คนที่อาศัยอยู่ในแถบที่รายได้น้อยกว่า (ระบุจากรหัสไปรษณีย์) บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล เมื่อคิดเทียบสัดส่วนเทียบกับรายได้แล้ว เป็นจำนวนมากกว่าคนในบริเวณที่มีรายได้สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ในแถบที่มีคนหลายฐานะอยู่ปะปนกันอยู่ คนที่รายได้ดีหน่อยคือได้ราวมากกว่า 2 แสนดอลลาร์ต่อครอบครัวต่อปี กลับดูจะใจบุญบริจาคมากกว่าคนที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่อยู่ในบริเวณที่มีแต่พวกรายได้เท่าๆ กันเท่านั้น
กล่าวคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่จนกว่าจึงมีผลด้วย
คนจนกับคนรวยก็มีวิธีการบริจาคเงินที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจอีกด้วย
ชาวสหรัฐฯ ที่ฐานะไม่ดีมีแนวโน้มจะบริจาคให้กับองค์กรทางศาสนาหรือหน่วยงานบริการสังคมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่พวกมีฐานะหน่อยก็มักจะบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาอย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรศิลปะ หรือไม่ก็พิพิธภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า
จากเงินบริจาค 50 อันดับแรกที่มากที่สุดนั้น มีอยู่ 34 ก้อนที่มอบให้แก่สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกอย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาด โคลัมเบีย หรือเบิร์กเลย์ ฯลฯ
ขณะที่อีก 9 ก้อนใหญ่ไปยังพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านศิลปะ ที่เหลือจึงเป็นเงินบริจาคให้หน่วยงานด้านการแพทย์และอื่นๆ
แต่ไม่มีแม้แต่รายเดียวใน 50 อันดับแรกที่บริจาคให้กับองค์กรด้านบริการสังคมหรือการกุศลที่ดูแลผู้ยากไร้และด้อยโอกาส เช่น Feeding America หรืออื่นๆ
จึงดูราวกับคนที่ฐานะดีกว่าชอบที่จะบริจาคเพื่อปูทางหรือส่งเสริมฐานะของตนและคนในครอบครัว หรือสร้างเครือข่ายกับคนในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นอกจากเรื่องของความใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแล้ว งานวิจัยในปี 2012 (Paul Piff, PNAS, 109 (11), 4086-4091) ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า คนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะเลือกตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างผิดทำนองคลองธรรมบ่อยครั้งมากกว่าด้วย
พวกเขาออกแบบการทดลองและเก็บข้อมูลต่างรูปแบบกันถึง 7 แบบ แต่ต่างก็ให้ผลลัพธ์ไปทำนองเดียวกันว่า คนที่ฐานะดีกว่ามีแนวโน้มจะทำผิดจริยธรรมมากกว่าไปด้วย
โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากทัศนคติที่พวกเขามีต่อเรื่องความร่ำรวยและความละโมบนั่นเอง
นักจิตวิทยาที่เป็นผู้วิจัยหลักคือ พอล พิฟฟ์ ให้ความเห็นไว้ว่า คนรวยชาวอเมริกันเหล่านี้มีแนวโน้มจะสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าเรื่องของคนอื่นๆ ในสังคม
แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในการทดลองนั้น หากคนเหล่านี้ได้ชมวิดีโอเรื่องราวที่น่าสงสารของเด็กๆ ที่ยากจน กลุ่มที่รวยกว่าเหล่านี้ก็อาจจะมีความปรารถนาจะแบ่งปันมากขึ้นได้
ตัวอย่างการทดลองที่น่าสนใจก็เช่น ในการทดลองชุดหนึ่งที่ตั้งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ "ตาย" แบบสุ่ม ในระหว่างการแข่งขันที่ผู้เข้าทดลองอาจจะชนะได้เงินสด
ผลที่ได้คือผู้เข้าร่วมการทดลองที่ฐานะดีกว่า มักจะรายงานคะแนนที่ได้สูงเกินกว่าจริง บางครั้งถึงกับระบุค่าที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไป
การทดลองหนึ่งที่ใช้การจับภาพนิสัยการใช้ถนน ก็พบว่าคนรวยแสดงความก้าวร้าวผ่านการขับรถหรูของพวกเขามากกว่า
นอกจากนี้ยังใส่ใจคนขับรายอื่นและคนเดินเท้าน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อันที่จริงคนอเมริกันราวครึ่งหนึ่งที่ขับรถเมอร์ซีเดส เบนซ์นั้น ไม่สนใจระมัดระวังคนเดินเท้าขณะกำลังข้ามทางม้าลายด้วยซ้ำไป
ในอีกการทดลองหนึ่งพบว่า คนรวยกว่ามีความถี่ในการโกหกมากกว่าอีกด้วย
การมีเงินมากกว่าจึงไม่ได้ทำให้รู้สึกเพียงพอ กลับทำให้ละโมบโลภมากยิ่งขึ้นไปอีก ในคำให้สัมภาษณ์พวกคนรวยเหล่านี้ระบุชัดเจนว่า พวกเขาเห็นว่าเรื่องความโลภไม่ได้ผิดศีลธรรม
ในหนังสือชื่อ The Steal ของราเชล ชเตอร์ (Rachel Shteir) ที่อ้างถึงปรากฏการณ์ ขโมยจริยธรรม (ethical stealing) ชี้ว่า
ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้นคนรู้สึกผิดน้อยลงที่จะขโมยของจากห้างหรือร้านค้า เพราะเห็นตัวอย่างคนดังหรือคนรวยที่ถูกจับได้ว่าขโมยของเช่นกัน
อันที่จริงแล้วมีการศึกษาครั้งหนึ่งที่ระบุว่า คนอเมริกันที่รายได้ 70,000 เหรียญต่อปี ขโมยของในห้างมากกว่าพวกที่มีรายได้ 20,000 เหรียญต่อปีถึงราว 30%
ประมวลจากทั้งหมดข้างต้น จึงพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมว่า คำพูดที่ว่า "ฉันรวยอยู่แล้ว จะโกงไปอีกทำไม" นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริง...แต่อย่างใด!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก, สนพ.มติชน
ปกหนังสือ อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก, สนพ.มติชน
จิตวิทยา
วิทยาศาสตร์
คนรวย
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย