15 ก.ย. 2022 เวลา 09:37 • ข่าวรอบโลก
มีอยู่หรือไปต่อ? สำรวจกระแสสาธารณรัฐนิยมในเครือจักรภพยุคเปลี่ยนผ่าน
2
การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการเมืองสหราชอาณาจักรและประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพ ที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข แม้จะเป็นเพียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ภายใต้การถกเถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลความเป็นอาณานิคม การเหยียดสีผิว และประชาธิปไตยในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นความเป็นสาธารณรัฐและการล้มล้างระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ ดูจะเป็นสิ่งที่ผู้คนในเครือจักรภพให้ความสำคัญมากขึ้น
5
‘วอยซ์’ ชวนไปสำรวจถึงความคิดเห็นสาธารณะ ข้อโต้เถียง และความคืบหน้า ที่มีต่อกระแสดังกล่าวในประเทศเครือจักรภพ
🇬🇧“อดีตที่เป็นอาณานิคม” และกระแสสาธารณรัฐนิยมในเครือจักรภพ
ในปี 2564 ประเทศบาร์เบโดส ซึ่งตั้งทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียนได้ยุติบทบาทประมุขของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐ โดยมี แซนดรา มาสัน เป็นประธานาธิบดีคนแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เธอเคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินี
2
การเปลี่ยนบาร์เบโดสเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ มีอา มอตต์ลีย์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ประกาศแผนการดังกล่าวในวันเข้ารับตำแหน่ง เธอระบุว่าบาร์เบโดสจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐในโอกาสครบรอบ 55 ปี การประกาศเอกราชของประเทศ ซึ่งตรงกับวันที่ 30 พ.ย. 2564 ทั้งนี้ พรรคแรงงานของเธอครองเสียงกว่า 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ส่งผลให้มอตต์ลีย์มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะละทิ้งอดีตที่เป็นอาณานิคมของเราไว้ข้างหลัง” มอตต์ลีย์กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 2564 ซึ่งเป็นวาระการครบรอบการครองราชย์ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีการเสด็จเยือนประชาชนในภูมิภาคแคริบเบียนโดยเจ้าชายวิลเลียม อดีตดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าหญิงแคเธอรีน อดีตดัสเชสแห่งเคมบริดจ์ (ปัจจุบันคือเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ตามลำดับ) นั้น
ทั้งสองพระองค์ได้รับกระแสตอบรับในเชิงลบจากประชาชนในพื้นที่อย่างมาก มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากการค้าทาสและการปกครองอาณานิคมในอดีต ยังมีภาพที่สมาชิกราชวงศ์ทั้งสองจับมือกับเด็กผ่านรั้วเหล็กในจาไมกา ถูกตีความว่าสะท้อนความทรงจำในยุคอาณานิคม
ส่วนในเบลีซยังมีการชุมนุมประท้วง โดยประชาชนจากกรณีข้อพิพาทด้านการถือครองดินแดนของมูลนิธิที่ซึ่งดยุกแห่งเคมบริดจ์เป็นผู้อุปถัมป์อีกด้วย ภายใต้ความสำเร็จของบาร์เบโดสในการเปลี่ยนผ่านสถานะของประเทศเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐ
1
ผลลัพธ์ที่ล้มเหลวของการเสด็จเยือนแคริบเบียนของดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ รวมไปถึงความตื่นรู้ในประเด็นเรื่องการค้าทางและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวดำ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหว Black Lives Matter ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีหลายประเทศอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร แสดงความต้องการเปลี่ยนผ่านตนเองเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เข้าสู่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 นี้เอง ยังถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีของอดีตอาณานิคมอังกฤษ ที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐอย่างยิ่ง
ในแอนทีกาและบาร์บิวดา ที่ซึ่ง แกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ประกาศว่า ประเทศมีแผนการในการจัดประชามติ ในการยุติบทบาทของราชวงศ์อังกฤษในประเทศลงภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ เขากล่าวว่านี่จะเป็น “ขั้นตอนสุดท้ายในการประกาศเอกราช และประกาศว่าแอนทีกาและบาร์บิวดามีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองโดยแท้จริง”
1
ในรัฐธรรมนูญของจาไมกา การยุติบทบาทของราชวงศ์อังกฤษนั้นอาศัยเพียงเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่ากรณีของบาร์เบโดส ที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 จากรัฐสภา และในขณะเดียวกัน กระแสการเรียกร้องจากประชาชนและสถาบันทางการเมืองในประเทศก็ดูไปในทิศทางสาธารณรัฐนิยมเช่นกัน
1
ผลการสำรวจพบว่าประชาชนกว่า 50% ในจาไมกาสนับสนุนการยุติบทบาทประมุขแห่งรัฐของราชวงศ์อังกฤษ นอกจากนี้ แอนดรูว์ โฮลเนส นายกรัฐมนตรีของจาไมกายังเคยกล่าวไว้ในปี 2564 ว่า “จาไมกาจำเป็นจะต้องเป็นสาธารณรัฐโดยไม่ต้องตั้งคำถาม” เขายังได้แสดงเจตจำนงนี้ซ้ำอีกครั้งเมื่อดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เสด็จเยือนประเทศจาไมกา “พวกเราพร้อมก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่เป็นเอกราชและพัฒนาอย่างรุ่งเรืองแล้ว” เขากล่าว
ในปี 2564 ราล์ฟ กอนซาลเวส นายกรัฐมนตรีของประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ได้เสนอให้มีการจัดประชามติเพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง หลังเคยมีประชามติในลักษณะนี้เมื่อปี 2552 ซึ่งในครั้งนั้นประชาชนของประเทศได้โหวตคัดค้าน 29,019 คน และเห็นด้วย 22,493 ทำให้มตินี้ไม่ประสบความสำเร็จ กอนซาลเวสเชื่อว่าอาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการลงประชามติอีกครั้งใน 12 ปีให้หลัง อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์จำเป็นต้องลงมติเห็นด้วย 2 ใน 3 ในประชามติจึงจะมีผลบังคับใช้
ประเทศอื่นๆ ที่น่าจับตามองในภูมิภาคแคริบเบียน ได้แก่ บาฮามาส เกรนาดา เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย และเบลีซ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีกระแสการสนับสนุนความเป็นสาธารณรัฐ ต่างได้รับการสนับสนุนโดยนักการเมืองในประเทศทั้งสิ้น โดยประเทศที่น่าจับตามองที่สุดคือเบลีซ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญเบลีซนั้นระบุว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การถอดพระมหากษัตริย์ออกจากการเป็นประมุข ใช้เพียงแค่เสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งถือว่าง่ายที่สุดในจำนวนประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเทศที่มีสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ยังทรงเป็นประมุขที่ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงประมุข เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และปาปัวนิวกินี เป็นต้น
ในออสเตรเลีย แอนโทนี อัลเบนีส นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการเป็นสาธารณรัฐขึ้นในปี 2565 แต่เขากล่าวว่า “นี่ยังไม่ใช่เวลา” สำหรับการลงประชามติ ในขณะที่ จาซิดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า เธอคาดหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างนิวซีแลนด์และราชวงศ์อังกฤษจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทั้งนี้ เธอเคยมีการพูดถึงความเป็นสาธารณรัฐของนิวซีแลนด์ไว้ว่า เธอคาดหวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในช่วงชีวิตของเธอเช่นกัน
🇬🇧กระแสในรั้วบ้าน: การสนับสนุนสาธารณรัฐนิยมในสหราชอาณาจักร
1
ในปี 2021 ผลการสำรวจของ YouGov บริษัทสำรวจแนวโน้มการตลาดของสหราชอาณาจักรได้จัดทำแบบสำรวจในสหราชอาณาจักร บนประเด็นการสนับสนุนการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ โดยผลสำรวจพบว่า 61% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงสนับสนุนราชวงศ์อังกฤษ ในขณะที่ 24% โหวตไม่สนับสนุน แม้จำนวนผู้สนับสนุนสถาบันจะมีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจะพบได้ว่า กลุ่มประชากรอายุ 18-24 ของสหราชอาณาจักรมีความต้องการที่จะให้ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น
ส่วนในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร กระแสความเป็นสาธารณรัฐไม่ได้เป็นสิ่งที่เปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งมากนัก โดย 4 พรรคการเมืองใหญ่ของประเทศ ทั้งพรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงาน พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย และพรรคชาติสกอต ยังไม่มีนโยบายที่เป็นสาธารณรัฐนิยมอย่างเป็นทางการ แม้จะมีนักการเมืองบางคนที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนสาธารณรัฐบ้าง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์ที่น่าจับตามองที่สุดในประเด็นดังกล่าวคือ กลุ่มรีพับลิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อสนับสนุนการล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนสหราชอาณาจักรไปสู่การเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตย” ในเชิงพฤตินัย รีพับลิกมักแสดงจุดยืนของตนผ่านการโพสข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ลงบนสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำ
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้าการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทางกลุ่มได้ออกมาโพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊ค ว่า “ไม่ว่าความคิดเห็นของเราต่อสถาบันกษัตริย์จะเป็นเช่นไร แต่เวลาเช่นนี้ก็เป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง สำหรับส่วนที่เหลือของวันนี้ เราจะไม่แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม”
ทว่า ในวันที่ 10 ก.ย. กลุ่มรีพลับลิกได้กลับมารณรงค์ในประเด็นความเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง เกรแฮม สมิทธ์ ตัวแทนของกลุ่มกล่าวว่า การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่เป็นการดูหมิ่นประชาธิปไตย และสหราชอาณาจักรควรมีการถกเถียงกันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง
“แม้เราจะทราบดีว่าผู้คนจำนวนมากยังคงใคร่ครวญเกี่ยวกับการสูญเสียสมเด็จพระราชินี แต่สหราชอาณาจักรยังคงต้องมีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับอนาคตของสถาบันกษัตริย์ในโอกาสการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3” สมิทธ์กล่าว
🇬🇧รัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อกลุ่มสาธารณรัฐนิยม
หลังจากที่กลุ่มรีพับลิกกลับมาเคลื่นไหวอีกครั้ง ทางกลุ่มก็ได้ร่วมการรณรงค์ภายใต้สโลแกน #NotMyKing (#ไม่ใช่กษัตริย์ของเรา) พร้อมกับชาวสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนสาธารณรัฐ ซึ่งได้ตั้งแคมเปญดังกล่าวตั้งแต่การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ ทั้งนี้ การประท้วงไม่ได้มีอยู่แค่ในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังมีการลงถนนและชูป้ายต่อต้านระบอบกษัตริย์ตามเมืองต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร เช่น เอดินบะระ คาร์ดิฟ อ็อกซ์ฟอร์ด และลอนดอน
ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ไซมอน ฮิลล์ ผู้ชุมนุมประท้วงถูกตำรวจเขาประชิดและสวมกุญแจมือหลังชูป้ายที่มีข้อความ #NotMyKing เขาได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์หลังจากนั้นว่านี่เป็น “การโจมตีระบอบประชาธิปไตยที่น่าเคืองแค้น” เหตุการณ์การตอบโต้โดยตำรวจในเมืองต่างๆ แม้จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ก็ได้สร้างความไม่พอใจอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักร
“เราขอประณามการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างถึงที่สุด เสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ในช่วงเวลาที่มีการครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่โดยปราศจากความยินยอมและการถกเถียง เสรีภาพในการแสดงออกยิ่งสำคัญอย่างมาก” สมิทธ์จากกลุ่มรีพับลิกแถลง
อย่างไรก็ตาม โฆษกของนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวต่อกรณีการจับกุมผู้ชุมนุมในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโฆษกยังคงยืนยันว่า “แม้นี่เป็นช่วงเวลาของการไว้อาลัยของคนหมู่มาก แต่เสรีภาพในการประท้วงยังคงเป็นรากฐานที่สำคัญของประชาธิปไตย” ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายในการลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และผู้ที่สนับสนุนการล้มล้างสถาบัน
3
การชุมนุมของผู้สนับสนุนสาธารณรัฐในอังกฤษ ภายใต้เสรีภาพในการแสดงออกที่รับรองโดยกฎหมาย เกิดขึ้นในขณะเดียวกันกับกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษา จตุพร แซ่อึง จากความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานแต่งกายชุดไทยร่วมกิจกรรมแคตวอล์กราษฎร และข้อหาอื่นๆ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ตัดสินให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา
1
เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ
อ่านบนเว็บไซต์: https://www.voicetv.co.th/read/fJ194Bk88
#Republicanism
#สหราชอาณาจักร
#เครือจักรภพ
#VoiceOnline
โฆษณา