16 ก.ย. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Foreign Direct Investment คืออะไร ? ทำไมถึงสำคัญกับ การเติบโตทางเศรษฐกิจ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปข้างหน้า แน่นอนว่าต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง
ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถจัดกลุ่มออกมาได้ 4 กลุ่ม คือ ทุน แรงงาน ที่ดิน และผู้ประกอบการ
พอเราพูดถึงทุน หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรามักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “FDI”
เราเคยสงสัยไหมว่า FDI คืออะไร และทำไมถึงมีความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
วันนี้ BillionMoney จะสรุปให้แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่นต้องบอกว่า การลงทุนในต่างประเทศนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- การลงทุนโดยตรง ซึ่งเป็นการลงทุนที่สามารถ ควบคุมสินทรัพย์ที่มีอยู่ของธุรกิจ ที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment (FDI)
- การลงทุนโดยอ้อม ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบของกลุ่มของสินทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ และตราสารหนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อผลประโยชน์ ที่อยู่ในรูปของผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น หรือ Foreign Portfolio Investment (FPI)
1
ซึ่งต้องบอกว่า การลงทุนแบบ FPI นั้น จะไม่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ FDI นั้นจะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ
เมื่อ FDI ได้เข้ามาในประเทศนั้น ๆ ก็จะก่อให้เกิดการลงทุน เช่น การก่อสร้างโรงงาน การจ้างงาน การซื้อวัตถุดิบ มีการผลิตสินค้าและบริการ
จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโตขึ้น
รายได้ต่อหัวของประชากรก็เพิ่มสูงขึ้น
รวมทั้งประเทศที่เปิดรับ FDI ก็มีโอกาสที่จะมีรายได้จากภาษี ที่เกิดจากเงินลงทุน FDI ที่มากขึ้นด้วย
ดังนั้น ประเทศไหนที่มี FDI ไหลเข้าไปมาก ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโต
จากการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ มากมาย
 
ซึ่งในมุมมองของประเทศผู้ลงทุน หรือเจ้าของ FDI ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วนั้น
การเลือกออกมาลงทุนในต่างประเทศ แทนการลงทุนในประเทศตนเอง อาจเกิดมาจากหลายปัจจัย เช่น
- ค่าแรงถูกกว่า
เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ มักมีค่าแรงงานสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา
ทำให้การไปตั้งโรงงานผลิตสินค้าและบริการ ด้วยการจ้างแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา มักจะมีอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต
- กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เข้มงวด และสิทธิพิเศษบางอย่างที่น่าจูงใจ
บางครั้งนักลงทุนในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่สามารถที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานในประเทศตนเองได้
เนื่องจากกฎระเบียบบางอย่าง
นอกจากนี้ นักลงทุนอาจได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง จากการออกไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนา
โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้การออกไปลงทุนในต่างประเทศมีความน่าสนใจ
สำหรับมุมมองของประเทศผู้รับ FDI ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา
โดยการเข้ามาของ FDI นั้น นอกเหนือจากจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ก็มักมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังประเทศผู้รับ FDI ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น
แรงงานมีผลิตภาพในการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากแรงงานจะได้รับการฝึกอบรม และพัฒนาทักษะการทำงานมากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ หลายประเทศทั่วโลก จึงพยายามดึงดูดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามา เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนา และเติบโตต่อไปได้
ในปี 2564 FDI ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 60 ล้านล้านบาท
โดยประมาณ 11% หรือ 6.6 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวเลข 6.6 ล้านล้านบาทนี้ เป็นการเติบโตจากปี 2563 ที่ FDI ไหลเข้ามา 4.9 ล้านล้านบาท
เนื่องจากหลายฝ่ายเชื่อกันว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีหลังหมดยุคโควิด 19
เพราะภูมิภาคนี้มีประชากร ที่มีจำนวนรวมกันกว่า 682 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่
ทำให้มีอำนาจซื้อสูง และจะช่วยเพิ่มความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ อีกมากในอนาคต
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่า FDI ไหลเข้ามาอยู่ที่ 455,331 ล้านบาท
หรือนับเป็น 7% ของมูลค่า FDI ทั้งหมด ที่ไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวเลขนี้แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 213,162 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่โรคโควิด 19 ระบาดอย่างหนัก
แต่ก็ยังต่ำกว่าปี 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 506,230 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีก่อนการเกิดโรคระบาด
 
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยต้องการที่จะให้ FDI ไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น
ก็ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาบางอย่าง ที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลเข้ามาของ FDI เช่น
- การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน
- กระบวนการขอ Visa และ Work Permit ให้แก่แรงงานต่างชาติ ควรมีความสะดวกมากขึ้น
- ภาครัฐควรสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)
- การสนับสนุนให้การเมืองมีเสถียรภาพ
ซึ่งถ้าทำได้ ในอนาคตก็น่าจะมี FDI ไหลเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก
และจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญ ที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาเติบโตอีกครั้งได้ไม่มากก็น้อย..
โฆษณา