15 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
ส่องพื้นฐานธุรกิจ เจ้าแห่งสินเชื่อทะเบียนรถ SAWAD TIDLOR MTC ครึ่งปีแรก
หากเราพูดถึงธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ในตลาดหุ้นประเทศไทย
คงหนีไม่พ้นบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC
และบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นรายล่าสุด
ที่ได้ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยวิธีการจัดสรรแบบ “Small Lot First”
หรือก็คือ การให้ผู้จองซื้อหุ้นจำนวนน้อยก่อน ในปีที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ เรามาดูกันว่าแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร ?
หากเรามาดูผลประกอบการของแต่ละบริษัทในครึ่งปีแรก ของปีนี้ จะพบว่า
SAWAD
รายได้ 5,266 ล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลง
กำไร 2,256 ล้านบาท ลดลง 14%
MTC
รายได้ 9,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%
กำไร 2,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%
TIDLOR
รายได้ 6,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20%
กำไร 1,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าทั้ง MTC และ TIDLOR มีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งหมด เมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยบริษัทที่เติบโตโดดเด่นที่สุด ก็เหมือนจะเป็น TIDLOR ที่สามารถทำผลประกอบการได้ดีที่สุดทั้งในฝั่งของการเติบโตด้านรายได้และผลกำไร
ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ ที่ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยหลักน่าจะมาจากความสำเร็จของ “บัตรติดล้อ” ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ปัจจุบันมียอดออกบัตรสะสมแล้วกว่า 4 แสนใบ
ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อ และโครงสร้างรายได้ จะแตกต่างกันออกไป
โดย SAWAD จะมีทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และที่ดิน
MTC จะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล
และ TIDLOR จะเน้นไปที่รถยนต์และรถบรรทุกเป็นหลัก
นอกจากนั้นแล้ว ทั้ง 3 บริษัทก็ยังมีรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย และจากข้อมูลครึ่งปี 2565 ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็น TIDLOR ที่มีรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยอยู่ที่ 733 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 38% ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจ TIDLOR เองอีกด้วย
อย่างในกรณีของ TIDLOR บริษัทก็มีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ราว 70,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทยังคงสามารถขยายฐานลูกค้า และขยายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีจำนวนสาขาน้อยกว่าคู่แข่งขันถึง 4 เท่า รวมทั้งยังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด และสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ในขณะที่การประเมินสุขภาพของธุรกิจผู้ให้สินเชื่อ ที่เราจะรู้จักกันในชื่อของ “อัตราส่วนหนี้เสีย”
เป็นกลุ่มก้อนของหนี้สินที่มีความเสี่ยง และไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อบริษัท ยิ่งมีมากยิ่งไม่ดี
หากเรามาดูอัตราส่วนหนี้เสียของทั้ง 3 บริษัท จะพบว่า
- SAWAD 2.33%
- MTC 1.96%
- TIDLOR 1.39%
จะเห็นได้ว่า TIDLOR มีอัตราหนี้เสียต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 2 ราย
ซึ่งก็อาจจะตีความได้ว่า TIDLOR สามารถคัดลูกหนี้ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
และถ้าพูดถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อ หรือธุรกิจให้บริการทางการเงินนั้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักจะดูข้อมูลจาก P/BV (Price/Book Value) และขนาดสินทรัพย์ (Asset Size)
ซึ่ง P/BV นั้นเป็นการนำเอา ราคาตลาดของหุ้น มาคำนวณกับสินทรัพย์รวม หักด้วยหนี้สินรวม แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
ซึ่งการใช้ข้อมูลจาก P/BV มาประกอบการตัดสินใจ ลงทุนในหุ้นหมวดธุรกิจการเงินนั้น มีข้อดี เพราะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ อีกทั้งยังมีความผันผวนน้อยกว่า ในขณะที่ตัวเลข P/E มีตัวหารเป็นกำไรต่อหุ้น ซึ่งมีความผันผวนมากกว่า
ซึ่งหลักการทั่วไปสำหรับการดู P/BV ก็คือ
- ถ้า P/BV ยิ่งสูง หมายถึง หุ้นนั้นยิ่งแพง
- ถ้า P/BV ยิ่งต่ำ หมายถึง หุ้นนั้นยิ่งถูก
โดยจากข้อมูลของทั้ง 3 บริษัทข้างต้น พบว่า
- SAWAD มี P/BV 2.8 เท่า มีขนาดสินทรัพย์ 57,196 ล้านบาท
- MTC มี P/BV 3.4 เท่า มีขนาดสินทรัพย์ 115,822 ล้านบาท
- TIDLOR มี P/BV 3.0 เท่า มีขนาดสินทรัพย์ 74,434 ล้านบาท
จากข้อมูลจะเห็นว่า SAWAD มี P/BV ต่ำที่สุด รองลงมาเป็น TIDLOR และ MTC เป็นลำดับสุดท้าย
ทีนี้ เรามาดูกันว่าแผนธุรกิจของทั้ง 3 บริษัทในปีนี้ เป็นอย่างไร ?
สำหรับ SAWAD ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ เติบโต 20-30% รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเปิดตัวธุรกิจใหม่อย่าง
“สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า” และเดินหน้าอย่างเต็มตัว ในสินเชื่อรถจักรยานยนต์เช่าซื้อมือหนึ่ง
MTC ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ 25-30% และจะมีการปรับดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เพื่อจูงใจลูกค้ามากขึ้น
ในขณะที่ TIDLOR ได้ปรับประมาณการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากเดิม 20-25% ที่ตั้งไว้ตอนต้นปี ไปเป็น 23-28% เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของปี 2565
และยังมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะมีการเติบโตมากถึง 30-35% ด้วย
ซึ่งก็จะมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และส่งผลดีต่อ Cost to Income หรือค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับกำไรที่ลดลง ทำให้กำไรที่บริษัททำได้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ซึ่งก็เรียกได้ว่าน่าสนใจ เพราะในช่วงที่ตลาดสินเชื่อได้รับความกดดัน จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
รายได้จากธุรกิจค่าธรรมเนียม และรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ก็ถือว่าจะมาช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคง จากการกระจายความเสี่ยงมากขึ้นได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นสรุปทั้งหมดของเจ้าแห่งสินเชื่อทะเบียนรถในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
ซึ่งก็น่าสนใจเหมือนกันว่า ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่นิ่ง
และเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงแห่งความผันผวน ใครจะมีความแข็งแกร่ง มากกว่ากัน..
โฆษณา