15 ก.ย. 2022 เวลา 11:30 • สุขภาพ
📌Hyperacute T wave
***ระวังพลาดในห้องฉุกเฉิน***
เชื่อไหมครับว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบนี้ มีการขาดเลือดของเส้นเลือดหัวใจอย่างมาก และต้องรักษาแบบเร่งด่วน เช่นเดียวกับ STEMI !!!
งานวิจัยพบว่าเรามักเห็นว่าคลื่นหัวใจปกติและให้คนไข้กลับบ้านครับ คงพอจะคาดเดาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ใช่ไหมครับ?
ลองมาอ่านทำความเข้าใจดูสักหน่อยครับ ก่อนจะสายเกินไป
~ เมื่อเส้นเลือดหัวใจโคโรนารีเกิดการอุดตัน ( coronary artery occlusion) คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการยกตัวสูงขึ้นของคลื่นส่วน ST (STEMI) ซึ่งจริงๆแล้วกว่าจะเห็นSTEMI ได้นั้น กล้ามเนื้อหัวใจก็ขาดเลือดไปมากแล้วครับ
~ ความผิดปกติของคลื่น T (T waves change) พบได้ก่อนที่จะมีคลื่นST ยกตัวเสียอีกครับ (ST elevation) เรียกว่าเป็นปฐมบทของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลยครับ
~ ภายใน30นาทีแรกหลังจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คลื่นT จะเปลี่ยนรูปร่างฐานกว้างและใหญ่โตมากขึ้น (amplitude increases) คล้ายๆแมวที่กำลังกลัวถูกทำร้าย โก่งตัวสูง เตรียมพร้อมหากต้องต่อสู้ จึงเกิดลักษณะที่เรียกว่า คลื่น T ถูกกระตุ้นอย่างเฉียบพลัน (Hyperacute T-waves)
~ ในเวลาต่อมาหากกล้ามเนื้อหัวใจยังคงขาดเลือดอยู่ คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็จะเปลี่ยนเป็น คลื่น ST ที่ยกตัวขึ้น และความชัดของคลื่น R ก็จะค่อยๆลดลง ( ST-segment elevation and loss of R-wave amplitude)
~ หากขาดเลือดไปนาน จนกล้ามเนื้อหัวใจตายไปบางส่วน แต่คนไข้ยังรอดชีวิตอยู่ ก็จะเห็นคลื่น Q ที่ชัดมากขึ้น (Q-waves develop) คลื่น T ค่อยๆหัวกลับลง (T-waves inversions) และคลื่นส่วน ST ก็จะค่อยๆลดลงมาจนเป็นระดับปกติ
~ เคยได้ยินไหมครับ เห็นเขาทำ serial EKG กัน ก็คือ ตรวจคลื่นหัวใจที่ห้องฉุกเฉินซ้ำ ทุก5นาทีบ้าง ทุก15นาทีบ้าง เขาทำเพื่ออะไร? เหตุผลก็คือเรื่องนี้แหละครับ
~ เพราะถ้าผู้ป่วยมาด้วยแน่นหน้าอก มาถึงห้องฉุกเฉินเร็วมาก หรือทีมกู้ชีพไปช่วยคนไข้ได้เร็ว เส้นเลือดหัวใจเพิ่งเริ่มจะอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจยังขาดเลือดไม่มาก สิ่งแรกที่จะเห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็คือ คลื่น T ที่ฐานกว้าง ตัวใหญ่ขึ้น
(hyperacute T-waves) ถ้าไม่สังเกตให้ดีอาจจะมองไม่เห็นพลาดไปได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนานขึ้น ก็จะมีการเปลี่ยนรูปร่างของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยคลื่นT จะใหญ่มากขึ้น และอาจเปลี่ยนไปจนเป็นคลื่น ST ยกได้ (STEMI) ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นการติดตามทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำๆในคนไข้แน่นหน้าอก จึงมีความสำคัญอย่างนี้ครับ
#ห้องฉุกเฉินต้องรู้
(ภาพEKGและเนื้อหาจาก Dr. Jamie Santistevan, emdocs.net, ดัดแปลงเนื้อหาและภาพแมววาดโดยห้องฉุกเฉินต้องรู้)
โฆษณา