15 ก.ย. 2022 เวลา 13:16 • สุขภาพ
ยาที่ควรรู้ในห้องฉุกเฉิน (รูปที่2)
Noradrenaline หรือ Norepinephrine
ชื่อการค้าLevophed
เป็นยาเพิ่มความดันโลหิตที่นิยมใช้ในห้องฉุกเฉินมากขึ้น
สมัยก่อนหรือโรงพยาบาลชุมชนนิยมใช้เฉพาะ
Dopamine, Dobutamine เพื่อเพิ่มความดันโลหิต
ปัจจุบันคนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis)
งานวิจัยแนะนำให้ใช้ยาLevophed หรือ Noradrenaline
เป็นยาตัวแรกในการเพิ่มความดันโลหิต
1
นอกจากนี้ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยง Dopamine ด้วยซ้ำไป
เพราะกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
(ที่มา: Surviving Sepsis Campaign Guidelines,2020)
ดังนั้นไม่รู้จักคงไม่ได้แล้ว…
เวลาคนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือด
เม็ดเลือดขาวต่อสู้กับเชื้อโรคโดยปล่อยสารเคมี(cytokines)
แต่ดันไปมีผลกระทบทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายตัวมาก
สารน้ำในหลอดเลือดจึงรั่วออกไปนอกเส้นเลือด
ความดันโลหิตถึงได้ต่ำ (BP drop)
ยา Noradrenaline ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงและดำหดตัว
ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มได้
โดยจับกับตัวรับอัลฟ่า1และอัลฟ่า2 ในหลอดเลือดได้ดีมาก
(Alpha-1, Alpha-2 receptors)
แก้ปัญหาหลอดเลือดแดงขยายตัวเพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ดี
ตัวยาไม่ค่อยจับกับตัวรับเบต้า1ที่หัวใจ
(Beta-1 receptor)
ไม่ค่อยรบกวนการบีบตัวของหัวใจ
จึงเกิดผลข้างเคียงหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยกว่า
นับว่าเป็นข้อดีเหนือกว่า Dopamine ครับ
คนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี
เช่น เคยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมาก่อน หรือภาวะหัวใจวาย
ถ้าให้ยา Noradrenaline ไปแล้ว แต่ยังความดันยังไม่ดีขึ้น
ถ้าตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echo) พบว่ากล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี (EFต่ำ)
อาจให้ยาDobutamine เพิ่ม เพื่อเพิ่มความดันโลหิต
เพราะยาDobutamine จับตัวรับเบต้า1ที่หัวใจได้ดี
(Beta-1 receptor) ช่วยเพิ่มการบีบตัวของหัวใจให้แรงขึ้น
ความดันโลหิตจะได้เพิ่มขึ้นครับ
ขนาดยาที่นิยมใช้
0.02-1 mcg/kg/min โดยคำนวณตามน้ำหนักตัวคนไข้
นิยมเริ่มต้นที่ 0.2 mcg/kg/min
บางตำราแนะนำเริ่มต้น 2-4 mcg/min โดยไม่คำนวณน้ำหนักตัวก็มีครับ
แต่เพื่อความปลอดภัยควรเอาน้ำหนักตัวมาคิดด้วย
โดยเฉพาะคนไข้โรคไต (GFRต่ำ) ก็ควรลดขนาดยาลงด้วยครับ
พูดตรงๆการคำนวณยาค่อนข้างยาก
และการผสมLevophed มีความเข้มข้นหลากหลายมาก
ไม่เหมือนยาDopamineหรือ Dobutamine ที่มักผสมกับแบบเดิมๆจนท่องจำได้
ถ้าไม่เคยทำงานห้องไอซียูอาจจะสับสนการให้ยาได้ครับ
ผมเคยวาดตารางคำนวณยาตามน้ำหนักตัวในหลายๆความเข้มข้น
วิธีการผสมยาก็อยู่ในรูปวาดด้วย
หวังว่าคงช่วยให้มั่นใจในการสั่งยาLevophedมากขึ้นนะครับ
เซฟเก็บไว้ในมือถือก็ได้ครับ เมื่อถึงเวลาก็เอามาเปิดใช้ได้เลย
คลิ้กที่ลิ้งค์นี้ได้ครับ
ในรูปวาดผมใช้หน่วยเป็น ml/hr
เพื่อให้ใช้ง่ายในทางปฏิบัติ เป็นหน่วยที่เราคุ้นเคยในห้องฉุกเฉิน
เครื่อง Infusion Pump รุ่นธรรมดาตามโรงพยาบาลชุมชนก็ใช้ได้ครับ
สาเหตุที่ต้องผสมยาในความเข้มข้นหลากหลาย
ก็ขึ้นกับภาวะน้ำในร่างกายคนไข้ขณะนั้น ที่เราเรียกว่า
“คนไข้น้ำเกิน น้ำขาด แห้ง บวม”
โดยเฉพาะคนไข้น้ำเกิน หัวใจวาย หัวใจบีบตัวไม่ดี
หรือได้น้ำเกลือไปหลายๆขวดแล้ว แต่ปัสสาวะออกไม่ดี
ก็ควรจำกัดสารน้ำที่เข้าสู่ร่างกาย
จึงต้องผสมยาNoradrenaline ให้เข้มข้นสูงขึ้น
***ข้อควรระวัง***
ยาLevophed อาจทำให้เส้นเลือดดำอักเสบ
ถ้ายารั่วออกนอกเส้นเลือดจะเกิดเนื้อเยื่อเน่าตายได้
(Extravasation necrosis)
ดังนั้นถ้าผสมยาความเข้มข้นสูงๆไม่ควรให้ทางแขนหรือขา
ควรให้ทางเส้นเลือดดำใหญ่ เช่น ที่คอ หรือที่ไหปลาร้า
(Jugular vein, Subclavian vein)
ที่เรียกว่าให้ทาง Central line นั่นเอง
ไม่แนะนำให้ผสมในน้ำเกลือNSS เดี่ยวๆ
เนื่องจากน้ำตาลdextrose จะช่วยลดความเสื่อมของยา
(ลดปฏิกิริยาOxidation)
ควรผสมในD5W หรือD5S
ห้ามให้ยาสายเดียวกับเลือด,พลาสม่า
โดยเฉพาะห้ามพ่วงยาสายเดียวกับ Sodium Bicarbonate
ฉีดยาในเส้นเลือดเดียวกันก็ไม่ควร
เพราะทำให้ยาLevophed ออกฤทธิ์ลดลง
ควรเปิดเส้นเลือดแยกกันครับ
***ต้องใช้เครื่องInfusion Pump***
จะนับหยดนำ้เกลือแบบนับเวลานาฬิกาข้อมือไม่ได้ครับ
เพื่อความปลอดภัยและความแม่นยำในการให้ยาครับ
ผมจะค่อยๆเขียนสรุปยาที่ใช้บ่อยในห้องฉุกเฉินจนครบ20ชนิดครับ
โปรดกดติดตามเพจ #ห้องฉุกเฉินต้องรู้
เพื่อไม่พลาดเนื้อหาอัพเดทหรือรูปวาดศิลปะการแพทย์นะครับ
ยาที่ควรรู้ คลิ้กได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างครับ
1. Adrenaline
(\_/)
( •_•)
/ >ผู้วาด© #ห้องฉุกเฉินต้องรู้
โฆษณา