16 ก.ย. 2022 เวลา 14:00 • ดนตรี เพลง
ทำความรู้จักเพลง “Pumped Up Kicks” ของ “Foster the People” เพลงที่ตั้งใจสะท้อนปัญหาเหตุกราดยิงและต่อต้านการใช้อาวุธปืนในสหรัฐ แต่กลับกลายเป็นเพลงในเพลย์ลิสต์ที่ผู้ก่อเหตุฟังก่อนก่อเหตุ
(บทความนี้มีเนื้อการใช้ความรุนแรงเกี่ยวกับการกราดยิงและการใช้อาวุธปืน)
Pumped Up Kicks
เหตุกราดยิงและความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน เกิดบ่อยขึ้นแทบทุกปีในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐ ที่สิทธิการครอบครองปืนได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุกราดยิงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายฝ่ายจะพยายามเรียกร้องให้มี “กฎหมายควบคุมอาวุธปืน” ผ่านการรณรงค์และสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของอาวุธปืนผ่านสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือบทเพลง “Pumped Up Kicks”
“Pumped Up Kicks” เพลงเปิดตัวของ Foster the People (ฟอสเตอร์ เดอะ พีเพิล) วงอินดี้ป๊อปจากสหรัฐ ถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในวันที่ 14 ก.ย. 2553 และกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ฮิตที่สุดในปี 2554 แม้ว่าเพลงจะมีท่วงทำนองที่ดูฟังสนุก ผสานด้วยเสียงผิวปาก แต่เนื้อหาเพลงกลับพูดถึงเรื่องราวที่ซีเรียสอย่างการกราดยิงในที่สาธารณะ
เนื้อหาโดยรวมของเพลงนี้ เล่าถึง “โรเบิร์ต” เด็กคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหา ทำให้เขาขาดความอบอุ่น กลายเป็นคนเก็บกด ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไร้ตัวตน ถูกกีดกันออกจากสังคม ในที่สุด ความอดทนของเขาก็สิ้นสุดลง เมื่อเขาได้เจอปืนของพ่อ และนำมาไล่ยิงพวกเด็กรวย ๆ มีหน้ามีตาในสังคม ที่มักใส่รองเท้า รีบอค ปั๊ม หรือ Pumped Up Kicks
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของเพลงนี้ไม่ได้ต้องการสนับสนุนความรุนแรง หากแต่ต้องการให้เห็นถึงความรุนแรงของเหตุกราดยิง ปัญหาการครอบครองปืน และปัญหาครอบครัว จะเห็นได้ว่าเพลงพยายามพาผู้ฟังเข้าใจในมุมมองของผู้ที่ก่อเหตุ ที่ถูกผู้คนในสังคมเพิกเฉยและกีดกัน สุดท้ายก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป และลงมือก่อเหตุในที่สุด
มาร์ค ฟอสเตอร์ นักร้องนำของวง Foster the People แต่งเพลงนี้ในช่วงเดือน ม.ค. 2553 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขาเผยว่า ตอนที่แต่งเพลงนี้ ไม่ได้เอาเหตุการณ์กราดยิงใด ๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ และตัวละคร โรเบิร์ต ก็ไม่ได้เป็นชื่อคนร้ายที่ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าในรัฐเนแบรสกาเมื่อ ปี 2550 อย่างที่หลายคนคาดเดา แต่มาจากที่เขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับแนวโน้มอาการป่วยทางจิตของเยาวชนที่เพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าหลายคนอาจจะเข้าใจว่าเนื้อเพลงนี้เล่าถึงเหตุกราดยิงในโรงเรียน แต่ฟอสเตอร์ไม่เคยยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ถูกเอ่ยถึงในเนื้อเพลงนั้น เกิดขึ้นในโรงเรียน
หลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี ฮุก (Sandy Hook Elementary School) ในปี 2555 เพลง Pumped Up Kicks รวมถึง “Die Young” ของ เคช่า (Kesha) ได้ถูกแบนไปจากคลื่นวิทยุ ส่วน MTV เซ็นเซอร์คำว่า ปืน (Gun) และ กระสุน (Bullet) เนื่องจากเนื้อเพลงอาจจะสร้างความไม่สบายใจและกระทบจิตใจแก่ผู้ฟัง ขณะเดียวกัน ด้วยจังหวะของเพลงที่สนุก อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งฟอสเตอร์รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เท่าไรนัก
1
ที่ผ่านมา ฟอสเตอร์ และวง Foster the People ยังคงสนับสนุนการออกกฎหมายการควบคุมอาวุธปืนมาโดยตลอด แต่ยังคงมีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐอยู่เรื่อย ๆ และเพลงนี้กลายเป็น “เพลงชาติ” ที่ผู้ก่อเหตุหลายคนเลือกฟังก่อนจะลงมือกราดยิง
ด้วยเนื้อเพลงที่ฟังดูแล้วมีเนื้อหารุนแรง จึงไม่แปลกใจที่เพลงนี้จะทำให้ผู้ก่อเหตุเลือกฟังก่อนที่ลงมือกราดยิงเพื่อสร้างความฮึกเหิมดังเช่น ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส เมื่อปี 2561 ที่ฟังเพลง Pumped Up Kicks ซ้ำไปซ้ำมาตลอดวัน
นั่นจึงทำให้วง Foster the People คิดว่า “คงถึงเวลาที่ต้องเลิกเล่นเพลงนี้แล้ว”
ในปี 2561 วง Foster the People ขึ้นเล่นที่งาน Life Is Beautiful เทศกาลดนตรีในเมืองเดียวกับที่ตั้งของโรงเรียนมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ทันทีที่การแสดงจบลง ผู้ชมต่างเรียกร้องให้พวกเขาเล่นเพลง Pumped Up Kicks แต่ฟอสเตอร์เลือกที่จะไม่เล่นเพลงนี้
หลังจากนั้น Pumped Up Kicks ก็ไม่เคยถูกใช้แสดงสดที่ไหนอีกเลย แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้สถิติการกราดยิงในสหรัฐลดลงแม้แต่น้อย ข้อมูลจาก Mother Jones เว็บไซต์ข่าวของสหรัฐ ระบุว่า เฉพาะในปีนี้ เกิดเหตุกราดยิงไปแล้ว 8 ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 14 ก.ย. 2565)
ไม่ว่าผู้ฟังจะตีความหมายเพลง Pumped Up Kicks ไปตามจุดประสงค์ที่ฟอสเตอร์ต้องการจะสื่อสารหรือจะมองเป็นเพลงที่สร้างความรุนแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการกราดยิงในสหรัฐ ดังที่ฟอสเตอร์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารบิลบอร์ดว่า “ผ่านมา 10 ปี เพลงนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงช่วงเวลาที่เจ็บปวดในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา”
อ่านต่อ:
โฆษณา