16 ก.ย. 2022 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
การฆ่าด้วยความจำเป็น จากคดี R v. Dudley and Stephens
Trigger Warning: เนื้อหามีการใช้ความรุนแรงและการฆาตกรรม
ชีวิตเป็นสิ่งสวยงามและมีค่ายิ่ง แต่ชีวิตหนึ่งมีค่ากว่าอีกชีวิตหนึ่งได้หรือไม่ และหากมีสักคนมาบอกกับคุณว่าคุณนั้นสมควรตายเพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป คุณจะทำอย่างไร
ขอเชิญทุกท่านพบกับเรื่องราวของลูกเรือ Mignonette ผ่านคำบรรยายและรูปภาพต่างๆ ด้านล่างนี้
เมื่อปี 1883 Jack Want ชาวออสเตรเลีย ได้ทำการซื้อเรือ Mignonette จากเจ้าของเดิม โดยในการซื้อขายครั้งนี้ผู้ขายจะต้องนำเรือที่จอดอยู่ที่ Southampton ไปส่งมอบให้กับผู้ซื้อที่ Sydney ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 15,000 ไมล์
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1884 เรือจึงได้ออกเดินทางจาก Southampton โดยมีลูกเรือ 4 คน ได้แก่ (1) Tom Dudley (กัปตัน) (2) Edwin Stephens (3) Edmund Brooks และ (4) Richard Parker เด็กชายกำพร้าอายุ 17 ปี
รูปภาพ : เรือ Mignonette
จนวันที่ 5 กรกฎาคม 1884 ขณะที่เรือแล่นไปถึงบริเวณแหลม Good Hope คลื่นลูกหนึ่งได้ซัดเข้าใส่เรือ และด้วยประสบการณ์ของกัปตัน Dudley ทำให้เขารู้ตัวได้ในทันทีว่าเรือกำลังจะล่มในไม่ช้า กัปตัน Dudley จึงสั่งให้ลูกเรือปล่อยเรือชูชีพลงน้ำและอพยพทุกคนลงเรือชูชีพ ก่อนที่เรือ Mignonette เริ่มจมลงสู่ทะเลในที่สุด
 
รูปภาพ : เรือชูชีพที่ทั้งสี่อพยพลงไป
แต่วิบากกรรมของทั้งสี่คนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เนื่องจากตอนนี้ชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากพวกเขาไปประมาณ 1000 ไมล์ และในเรือชูชีพมีเพียงเครื่องมือนำทาง หัวผักกาด และไม่มีน้ำจืด
หลังจากผ่านไปหลายวันโดยความช่วยเหลืออาหารก็หมดลง พวกเขาเริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับการจับฉลากเพื่อหาผู้เคราะห์ร้ายจะต้องกลายเป็นอาหารของคนที่เหลือ
จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 1884 Parker เริ่มมีอาการป่วยเนื่องจากการดื่มน้ำทะเล ส่วน Stephens ก็ไม่ได้มีอาการดีกว่า Parker มากนัก
รูปภาพ : ภาพจำลองเหตุการณ์ขณะอยู่บนเรือชูชีพ
วันที่ 24 กรกฎาคม 1884 อาการของ Parker ก็หนักขึ้นถึงขั้นโคม่า กัปตัน Dudley จึงบอกกับคนที่เหลือว่าคงจะเป็นการดีกว่าหากการตายพวกเราคนหนึ่งจะทำให้คนที่เหลือรอดชีวิตและเราควรเริ่มจับฉลากกันได้แล้ว แต่ Brooks ปฏิเสธ การจับฉลากจึงไม่เกิดขึ้น
ในคืนนั้นเองกัปตัน Dudley จึงได้คุยกับ Stephens ว่า ยังไง Parker ก็ต้องตายแน่ๆ ส่วนเขากับ Stephens ก็มีครอบครัวต้องดูแล โดยทั้งสองคนตกลงกันว่าหากมีความช่วยเหลือยังไม่มาถึงภายในเช้าวันรุ่งขึ้น Parker จะต้องตาย
รูปภาพ : กัปตัน Dudley
เช้าวันต่อมายังคงไร้วี่แววของความช่วยเหลือ กัปตัน Dudley กับ Stephens ได้ให้สัญญาณกันอย่างเงียบๆ หลังจากนั้นกัปตัน Dudley เริ่มสวดมนต์ และด้วยความช่วยเหลือของ Stephens กัปตัน Dudley หยิบมีดมาแทงเข้าที่คอของ Parker จนเขาถึงแก่ความตายในที่สุด หลังจากนั้นผู้ที่เหลือรอดทั้งสามก็ร่วมกันกินร่างอันไร้วิญญาณและดื่มเลือดของ Parker
หลังจากผ่านไป 4 วัน ทั้งสามก็ได้รับความช่วยเหลือและได้กลับไปขึ้นฝั่งที่อังกฤษอีกครั้ง โดยทั้งสามคนต้องเข้ารับการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุของเรือ Mignonette ซึ่งรวมถึงเรื่องสาเหตุการตายของ Parker ด้วย
รูปภาพ : ภาพจำลองเหตุการณ์การฆาตกรรม Parker
ต่อมา กัปตัน Tom Dudley และ Edwin Stephens ถูกนำตัวมาฟ้องต่อศาลในข้อหาฆาตกรรม Richard Parker ส่วน Brooks ไม่ได้ถูกฟ้องเนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการลงมือฆ่า Parker โดยกัปตัน Dudley และ Stephens ได้ต่อสู้คดีว่า การสังหาร Parker เป็นการกระทำไปด้วยความจำเป็น เพราะหากพวกเขาไม่ทำเช่นนั้นพวกเขาก็จะต้องตายจากการอดอาหารและการขาดน้ำอย่างแน่นอน และแม้พวกเขาจะมิได้ลงมือสังหาร Parker ก็ต้องตายก่อนพวกเขาอยู่แล้ว
รูปภาพ : ภาพจำลองเหตุการณ์การพิจารณาคดี
ศาลได้พิจารณาคดีแล้วมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองไม่สามารถอ้างเรื่องการกระทำความผิดโดยจำเป็นได้ในกรณีนี้ เนื่องจากแม้ Parker จะอายุน้อยที่สุด อ่อนแอที่สุด และมีโอกาสรอดน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของ Parker จะมีค่าน้อยกว่าคนอื่น และการฆ่าคนอื่นเพื่อให้ตนเองมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่อาจนำมาเป็นข้อแก้ตัวได้ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยการประหารชีวิต
รูปภาพ : ผู้พิพากษา Coleridge
Opinion : สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการยกเว้นโทษของผู้ที่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ซึ่งการที่กัปตัน Dudley และ Stephens สังหาร Parker นั้น แม้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฆ่าผู้อื่น แต่ก็เป็นการกระทำไปเพื่อให้ทั้งสองรอดพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีอื่นตามมาตรา 67 (2)
อย่างไรก็ดีมาตรา 67 ได้กำหนดเงื่อนไขไว้อีกประการหนึ่ง คือ การกระทำผิดด้วยความจำเป็นดังกล่าวจะต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ภยันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกัปตัน Dudley และ Stephens เป็นภยันตรายที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
ขณะเดียวกันการกระทำความผิดของทั้งสองก็เป็นการก่อภยันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตให้แก่ Parker เช่นกัน ภยันตรายที่จะเกิดแก่กัปตัน Dudley และ Stephens จึงร้ายแรงเท่ากับภยันตรายที่กัปตัน Dudley และ Stephens ได้ก่อให้เกิดกับ Parker
โดยในเรื่องภยันตรายที่มีความร้ายแรงเท่ากันนี้ ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2542 ว่า เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น
ดังนั้น หากคดีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย กัปตัน Dudley และ Stephens ก็อาจต้องรับโทษจากการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเช่นกัน ทั้งนี้ศาลมีอำนาจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตามมาตรา 69
โฆษณา