Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
16 ก.ย. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
สุกี้ตี๋น้อย ขยายสาขาอย่างไร ให้คนต่อคิว รอกินตลอด
คนต่อคิวรอกินเต็มหน้าร้าน คือซิกเนอเชอร์อย่างหนึ่งของ สุกี้ตี๋น้อย
ที่ไม่ว่าเปิดใหม่กี่สาขา ก็ยังมีคนแห่มากินเยอะอยู่ตลอด
1
BrandCase มีโอกาสได้คุยกับ คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร สุกี้ตี๋น้อย
เกี่ยวกับแนวคิดการขยายสาขา และอนาคตของสุกี้แบรนด์ดังเจ้านี้
แล้วสุกี้ตี๋น้อย ขยายสาขาใหม่อย่างไร ให้คนเต็มร้านตลอด ?
BrandCase จะสรุปแนวคิดของ คุณเฟิร์น-นัทธมน เจ้าของสุกี้ตี๋น้อย ให้อ่านกัน
ย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน สุกี้ตี๋น้อย ได้เปิดสาขาแรกที่ “บ้านบางเขน”
โดยเป็นสาขาที่คุณเฟิร์น ทดลองเรื่องระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการเรื่องวัตถุดิบ การทำอาหารในครัว และการบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกค้า
ซึ่งในช่วงแรก คุณเฟิร์นก็จะลงไปดูหน้างานด้วยตัวเองเป็นประจำ
ทั้งในเรื่องของอาหารและการบริการภายในร้าน รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงให้ร้านมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- การเพิ่มเมนูต่าง ๆ ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ชื่นชอบ
- การบริการภายในร้านที่ทำอย่างไรให้รวดเร็วขึ้นได้อีก
1
โดยคุณเฟิร์นมีเป้าหมายคือ ลูกค้าที่เข้ามาทานในร้านอาหารนั้น จะต้องรู้สึกประทับใจกับอาหารและบริการที่ได้รับ ด้วยราคาที่คุ้มค่า จนลูกค้าอยากบอกต่อ และอยากกลับมาทานซ้ำอีก
2
พอสาขาแรกเป็นที่น่าพึงพอใจแล้ว จึงขยายสาขาร้านสุกี้ตี๋น้อยเพิ่มอีก 4 สาขา ภายในโซนพหลโยธิน-ลาดพร้าว ซึ่งเป็นโซนที่ตัวเองคุ้นเคย
เมื่อขยายสาขาออกไปได้ครบ 5 สาขาแล้ว คุณเฟิร์นจึงคิดว่า สุกี้ตี๋น้อย น่าจะขยายสาขาด้วยการออกไปในโซนใหม่ ๆ นอกจากโซนพหลโยธิน และลาดพร้าวบ้าง
แต่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน
จึงเกิดเป็นสาขาที่ 6 ของสุกี้ตี๋น้อย ที่ “เดอะพาซิโอ กาญจนาภิเษก” ซึ่งก็เป็นอีกฝั่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
2
พอเปิดร้านได้สักพัก คุณเฟิร์นจึงพบว่า ในแต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร ก็มีกลุ่มลูกค้า และพฤติกรรมของลูกค้าที่แตกต่างกันไป
และในเวลาต่อมา คุณเฟิร์นจึงได้ขยายสาขาร้านสุกี้ตี๋น้อย ให้ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยเลือกทำเลที่ตั้งร้าน โดยใช้หลักเกณฑ์เบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- พื้นที่ต้องใหญ่พอ มีที่จอดรถเยอะ ๆ มีพื้นที่ที่ติดถนนใหญ่หรือติดหัวมุมถนน และที่สำคัญทำเลที่ตั้ง ต้องไม่อยู่ในซอยคับแคบ
ที่เลือกแบบนี้ เพราะร้านต้องโดดเด่น มองเห็นง่าย และเดินทางมาสะดวก
- ถ้าเช่าที่ในห้างสรรพสินค้า หรือคอมมิวนิตีมอลล์ ร้านค้าจะต้องใหญ่ โดดเด่น และอยู่ด้านหน้าสุด หรือมีโซนให้มองเห็นได้จากนอกห้าง
- ทำเลที่เป็นหมู่บ้าน หรือใกล้กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย และออฟฟิศต่าง ๆ และที่สำคัญ ทำเลดังกล่าวไม่ควรมีรถติดเยอะ เพราะจะทำให้ลำบากในการเดินทางไปร้านอาหาร
1
ยกตัวอย่างเช่น บริเวณห้าแยกวัชรพล แม้จะมีคนเยอะ แต่ก็รถติดมาก
การเปิดร้านก็จะทำให้ลูกค้าที่อยู่ในย่านใกล้เคียงอย่าง สายไหม ไม่อยากแวะไปร้านสุกี้ตี๋น้อย
สุกี้ตี๋น้อย จึงไม่ได้เลือกเปิดในจุดพีกจุดนั้น แต่ไปเลือกทำเลที่กว้าง ๆ เดินทางสะดวก แต่ไม่ไกลจากจุดนั้นแทน
ถ้าหากถามว่า ร้านสุกี้ตี๋น้อยที่ไปตั้งสาขาใหม่นั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าคุ้มค่าหรือไม่ มีจำนวนลูกค้าเยอะไหม และพฤติกรรมของลูกค้าเป็นอย่างไร
1
คำตอบของคุณเฟิร์นก็น่าสนใจ คือคุณเฟิร์นบอกว่า
ไม่ได้ศึกษาตลาดลูกค้า หรือลงพื้นที่เพื่อไปนับจำนวนลูกค้าด้วยตัวเอง แต่จะใช้วิธีการสังเกต จากเชนร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่อยู่ตามศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิตีมอลล์ในบริเวณนั้น
เช่น ถ้าบริเวณนั้น มีร้าน McDonald’s, KFC
ก็สามารถบอกและวิเคราะห์ได้คร่าว ๆ ว่า จะมีคนเข้ามากินสุกี้ตี๋น้อยเยอะไหม
3
ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เวลาร้านสุกี้ตี๋น้อย ไปเปิดสาขาที่ไหน จะต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่า ที่นั่นจะต้องมีคนต่อคิว และเข้าไปนั่งในร้าน เต็มอยู่ตลอดเวลา
1
โดยปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีสาขามากถึง 41 สาขา รอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งในการกระจายวัตถุดิบต่าง ๆ คุณเฟิร์นบอกว่า แต่เดิมสุกี้ตี๋น้อย จะทำระบบโลจิสติกส์เองทั้งหมด
แต่มาพักหลัง ๆ ด้วยจำนวนสาขา และลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการจัดส่งอาหาร และวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นในปัจจุบัน จึงมีการจ้างบริษัท Outsource ในการช่วยส่งวัตถุดิบอีกแรงหนึ่งด้วย
1
อีกคำถามสำคัญคือ แผนออกไปรุกต่างจังหวัดของสุกี้ตี๋น้อย เป็นอย่างไร ?
2
ในส่วนของแผนการขยายสาขาออกไปต่างจังหวัด คุณเฟิร์นบอกว่า จะเน้นขยายสาขาไปตามจังหวัดที่อยู่รอบ ๆ กรุงเทพมหานครก่อน
เช่นล่าสุด ก็มีแผนจะเปิดสาขา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ภายในปลายปีนี้ และต้นปี 2566
ซึ่งในขณะนี้ ร้านอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และตกแต่งภายใน
6
ในช่วงแรก สุกี้ตี๋น้อย อาจจะยังไม่กระโดดไปตั้งสาขาตามหัวเมืองหลัก ที่อยู่ไกล ๆ อย่างเช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ ในทันที
3
คุณเฟิร์นบอกว่า ไม่ใช่ไม่อยากไปตามหัวเมืองหลักที่ว่านี้
เพราะจริง ๆ แล้วอยากไปมาก แต่ต้องใช้เวลาวางแผนที่มากกว่า และรัดกุมกว่าการเปิดสาขาใกล้ ๆ กรุงเทพมหานคร
1
เนื่องจากการเปิดร้านบุฟเฟต์ ในสาขาที่อยู่ต่างจังหวัดไกล ๆ เพียงแค่ไม่กี่สาขานั้น
ก็จะมีเรื่องต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่สูง
ยกตัวอย่างเช่น
- ต้นทุนทางโลจิสติกส์ ที่เป็นค่าขนส่ง ซึ่งวัตถุดิบบางอย่างจะต้องทำจากครัวกลาง เช่น น้ำซุป และน้ำจิ้ม
- ต้นทุนค่าอาหารที่แพงขึ้น ด้วยการสั่งอาหารจาก ร้านค้าส่งท้องถิ่น ในปริมาณที่น้อยลง
นอกจากนี้ ก็ยังต้องศึกษากลุ่มลูกค้า และพฤติกรรมของลูกค้าใหม่ ในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย
ซึ่งคุณเฟิร์นมองว่า การขยายสาขาในต่างจังหวัดไกล ๆ เพียงแค่ไม่กี่สาขานั้นก็จะไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนต่าง ๆ อย่างที่ได้กล่าวมา
1
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีจังหวัดที่อยู่ใกล้ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคุณเฟิร์นได้มองว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง
พอที่จะขยายสาขาได้เป็นจำนวนมาก นั่นคือ จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่พัทยา บางแสน และศรีราชา
5
นอกจากนี้ จังหวัดชลบุรี ก็ยังมีศักยภาพมากพอในการเปิดร้าน ควบทั้งกลางวันและกลางคืน ตามความตั้งใจของร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่เปิดให้บริการ ตั้งแต่เที่ยงวันยันตีห้า
1
เนื่องจาก จังหวัดชลบุรี เป็นทั้งเมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยว
ที่มีผู้คนใช้ชีวิตตอนกลางคืนเป็นจำนวนมาก
โดยคุณเฟิร์นบอกว่าจะพยายามเปิดสาขา ร้านสุกี้ตี๋น้อย ภายในจังหวัดชลบุรี ให้ได้ประมาณ 3-5 สาขา
เพื่อให้สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบ จากร้านค้าส่งท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งมันจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบต่อหน่วยถูกลง หรือที่เราเรียกกันว่า ประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
นอกจากนี้ ก็ยังสามารถขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่า ด้วยการทำโลจิสติกส์
ให้ไปส่งในพื้นที่เดียว หรือพื้นที่ใกล้ ๆ ในรอบเดียว
2
และหากจังหวัดไหนมีศักยภาพมากพอ คุณเฟิร์นเองก็ตั้งใจว่า อยากจะจ้างบริษัทที่ทำโลจิสติกส์อยู่แล้ว ในพื้นที่นั้น
1
รวมถึงมีแผนอยากจะสร้างศูนย์กระจายวัตถุดิบจากครัวกลาง อย่างน้ำจิ้ม น้ำซุป ในพื้นที่นั้น และยังต้องจ้างผู้จัดการสาขาให้ดูแลร้านค้าในพื้นที่นั้น โดยเฉพาะอีกด้วย
อีกคำถามที่น่าสนใจคือ คุณเฟิร์นมีมุมมองต่อการเอา สุกี้ตี๋น้อย IPO เข้าตลาดหุ้นอย่างไร ?
คุณเฟิร์นบอกว่า สำหรับแผนคร่าว ๆ ตอนนี้คาดว่า จะยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ในปีหน้า
และคาดว่าจะสามารถนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ภายใน 2 ปีข้างหน้า
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ในการระดมทุนด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมตามมาด้วยความคาดหวังและแรงกดดันของนักลงทุน ในเรื่องของการเติบโต
อย่างไรก็ตาม คุณเฟิร์นก็บอกว่า ทุกวันนี้ก็ Active ในเรื่องการเติบโตไปอย่างมั่นคง และมีคุณภาพอยู่แล้ว
อย่างเช่น ในการขยายสาขา ร้านสุกี้ตี๋น้อย ก็จะไม่มีการขยายสาขา ด้วยวิธีขายแฟรนไชส์ โดยจะทำการขยายสาขาเองทั้งหมด
ระบบการทำงานภายในร้าน และการควบคุมคุณภาพอาหาร ก็พยายามควบคุมให้มีมาตรฐานเดียวกัน
และที่สำคัญ คุณเฟิร์นยังบอกว่า ที่ผ่านมา 3 ปี ก็ได้ปลุกปั้นแบรนด์สุกี้ตี๋น้อยให้เติบโตอย่างเต็มที่
ซึ่งตอนนี้ ก็สามารถตีตลาดภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้แล้ว
และการที่ได้นำบริษัท เข้าตลาดหลักทรัพย์ คุณเฟิร์นมองว่าจะทำให้ธุรกิจมีศักยภาพมากขึ้นไปอีก
1
เพราะจะมีนักลงทุน หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เข้ามาช่วยในเรื่องการบริหาร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ส่วนตัวแบรนด์และบริษัท ก็จะดูดีมีมาตรฐานมากขึ้น
ถ้าลองดูการเติบโตของ สุกี้ตี๋น้อย ช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 มีรายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ร้านสุกี้ตี๋น้อย มีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นทุกปี
แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด 19 ก็ยังโตได้ไม่หยุด
และนี่ก็คือเคล็ดลับการขยายสาขา ขยายธุรกิจ ของสุกี้ตี๋น้อย
ที่เปิดกี่สาขา ก็มีคนมาต่อคิวรอกินตลอด
และเรื่องน่าสนใจต่อจากนี้ คือสุกี้ตี๋น้อย น่าจะเริ่มออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น
คุณเฟิร์นบอกว่า ตลาดนี้ของสุกี้ตี๋น้อยในกรุงเทพมหานคร มันเริ่มอิ่มตัวแล้ว
เพราะฉะนั้น การออกไปเปิดสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้น ก็คือก้าวต่อไปของ สุกี้ตี๋น้อย แน่นอน..
References
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ธุรกิจ
สุกี้ตี๋น้อย
32 บันทึก
57
48
32
57
48
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย