18 ก.ย. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินปอนด์ อ่อนค่ามากสุด ในรอบ 37 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราอาจจำกันได้ว่า 1 ปอนด์สเตอร์ลิง มีค่าราว 60 บาท
แต่วันนี้ กลับเหลือเพียง 42 บาท หรือเท่ากับ 1.15 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
เรียกได้ว่าเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 37 ปี
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเงินปอนด์ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
British Pound Sterling หรือ ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นสกุลเงินหลักของสหราชอาณาจักรและอาณานิคม
โดยปอนด์สเตอร์ลิง เคยเป็นสกุลเงินที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
1
ในช่วงปี 1991 ถึงปี 2007 เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเคยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ติดต่อกันถึง 63 ไตรมาส
1
ในช่วงเวลานั้น ถูกเรียกว่า “Great Moderation” หรือก็คือเป็นช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
เศรษฐกิจจึงสามารถเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
โดยในขณะนั้น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง มีค่าเท่ากับ 2.10 ดอลลาร์สหรัฐ
1
แต่หลังจากช่วง Great Moderation ในปี 2007 สิ้นสุดลง
เงินปอนด์สเตอร์ลิง กลับอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง
หลัก ๆ เกิดขึ้นมาจาก 3 เหตุการณ์สำคัญ
เหตุการณ์แรกคือ “วิกฤติการเงินซับไพรม์” ในช่วงปี 2008
1
จากวิกฤติการเงินในครั้งนั้น สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เช่น หุ้น ต่างถูกเทขาย
โดยหุ้นธนาคาร Lloyds Banking Group ของอังกฤษ ร่วงลง 50%
ในขณะที่ Barclays ก็ร่วงลง 12%
1
เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ทำให้ Dollar Index หรือดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น 23% ในช่วงระยะเวลาประมาณ 8 เดือน
1
ในทางตรงกันข้าม ประเทศในแถบยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร ก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มตัว
จนถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือลง จากระดับสูงสุด คือ AAA ลงมาอยู่ที่ระดับ AA+
เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารกลางอังกฤษจึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
มากถึง 50,000 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท
บวกกับการที่ประชาชนกลัวว่า เหตุการณ์เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ในสมัยปี 1931 หรือเมื่อตอนถูกถอดออกจากระบบ Gold Standard จะกลับมาอีกครั้ง
เหตุการณ์ทั้งหมด ทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง ร่วงลงจาก 2.10 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2007
มาอยู่ที่ 1.40 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2009
วิกฤติทางการเงินในครั้งนี้ ยังทำให้สหราชอาณาจักร “ขาดดุลงบประมาณ” หนักขึ้น
จากเดิมที่ขาดดุลราว 3% ของ GDP ก็ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของ GDP ในปี 2010
ส่งผลให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น 2 เท่า จาก 34% ต่อ GDP ในปี 2007
เป็น 68% ต่อ GDP ในปี 2010 และจากนั้นสัดส่วนก็สูงขึ้นทุกปี
นอกเหนือจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลง
ก็คือ “Brexit” หรือการออกจากสหภาพยุโรป
ซึ่งเริ่มมีมติตั้งแต่ปี 2016 เพราะสหราชอาณาจักร ไม่อยากรับผู้อพยพจากประเทศสมาชิก และจากประเทศอื่น ๆ โดยมองว่าทำให้เกิดปัญหาการแย่งงาน หรือแม้แต่ปัญหาอาชญากรรม
4
ซึ่งก็รวมไปถึง การไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิก ที่กำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น กรณีการเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะกรีซ ในปี 2010 ที่สหภาพยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวนมาก ทำให้ชาวอังกฤษไม่พอใจ เนื่องจากนำเงินจากภาษีของพวกเขาไปใช้
1
รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่ปี 2000 สหราชอาณาจักรได้จ่ายค่าสมาชิกแก่สหภาพยุโรป เป็นจำนวนกว่า 4.2 ล้านล้านบาท
2
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการ Brexit ก็มีเช่นกัน
เพราะการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ต้องเจอกับกำแพงภาษี
ทำให้ต้นทุนในประเทศสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น
สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้น ความต้องการสินค้าจากสหราชอาณาจักรจึงลดลง
2
อีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันลดลง
ก็คือ ผลิตภาพแรงงานที่แทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย หลังจากโดนผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์
ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ขาดดุลติดต่อกันมามากกว่า 20 ปี ขาดดุลหนักกว่าเดิม
1
ปี 1986 ขาดดุล 1.0% ของ GDP
ปี 2008 ขาดดุล 3.8% ของ GDP
ปี 2016 ขาดดุล 5.2% ของ GDP
3
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักร ก็ยังมี FDI หรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ เข้ามาราว 30-50 ล้านล้านบาทในแต่ละปี สำหรับการจัดตั้งบริษัท หรือโรงงานในระยะยาว ซึ่งก็เพียงพอที่จะเข้ามาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้บ้าง
2
แต่เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น จากมติ Brexit ก็ทำให้เงินลงทุนส่วนนี้ลดลงไปเรื่อย ๆ
ปี 2017 มีเงินลงทุน 2,265 โครงการ
ปี 2021 มีเงินลงทุน 1,538 โครงการ
1
ซึ่งลดลงในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่ซอฟต์แวร์, คอมพิวเตอร์, วิศวกรรมขั้นสูง, ซัปพลายเชน, โครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงคมนาคม
1
และเมื่อข้อตกลง Brexit มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม ปี 2021
ตัวเลขการค้าระหว่างสหราชอาณาจักร ไปยังสหภาพยุโรป เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2020 ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการส่งออกลดลง 45% และการนำเข้าลดลง 32%
หากนับช่วงเวลา จากที่เริ่มมีมติ Brexit คือปี 2016 ไปจนถึงปี 2021
GDP ของสหราชอาณาจักร เติบโตได้แค่ 14.3% เท่านั้น
ซึ่งช้ากว่าประเทศผู้นำอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างเช่น
1
- เยอรมนี เติบโต 32.2%
- สเปน เติบโต 25.6%
- ฝรั่งเศส เติบโต 23.0%
- อิตาลี เติบโต 16.3%
ส่วนเหตุการณ์ล่าสุดก็คือ ปัญหาโรคระบาด ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปี 2020
ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก การที่ธนาคารกลางทั่วโลก อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาในระบบ เพื่อพยุงเศรษฐกิจตอนช่วงวิกฤติโควิด 19 ผสมเข้ากับราคาพลังงานที่สูงขึ้น จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
1
แม้ว่าสหราชอาณาจักร จะไม่ได้พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยตรง แต่ยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่น ๆ ประมาณ 35%
2
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เท่ากับ 9.9% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 9.1% ด้วย
1
ขณะที่ฝั่ง FED หรือธนาคารกลางสหรัฐ ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างร้อนแรง เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน
ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีไปแล้ว
2
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
จนวันนี้ เหลือเพียง 1.15 ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการอ่อนค่าที่สุด ตั้งแต่ปี 1985 หรือในรอบ 37 ปี
ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร กำลังขาดดุลแฝด หรือก็คือมีการขาดดุลทั้งบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลบัญชีงบประมาณไปพร้อม ๆ กัน เช่นเดียวกันกับหลายประเทศ เช่น ลาว ศรีลังกา บังกลาเทศ
2
นอกจากนั้น สหราชอาณาจักรก็ยังมีหนี้ต่างประเทศ สูงถึง 317% ของ GDP
1
หากเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ที่เปรียบเสมือนตัวช่วยของสหราชอาณาจักร ก็จะยิ่งลดน้อยลงมากไปกว่าเดิม
ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้น
เงินปอนด์สเตอร์ลิงก็น่าจะยิ่งอ่อนค่าลงอีก
1
ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า เราอาจจะได้เห็น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง
มีค่าน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตามรอยเงินสกุลยูโรก็เป็นไปได้..
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา