17 ก.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
งานโหลด ไม่ท้าทาย หรือถูกลืม? ตอนนี้เรากำลัง Burnout แบบไหน แล้วทำอย่างไร ถึงจะเอาชนะมันได้
ภาวะหมดไฟ หรือ อาการ Burnout ได้กลายเป็นเรื่องที่เหมือนจะเป็นความปกติที่เหล่าคนทำงานมักจะได้ยินหรือเจอกับตัวเองอยู่บ่อยๆ มันคือภาวะที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังหรือความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ที่ส่งผลให้เราไม่มีความสุข เศร้า หดหู่ ไม่มีแรงลุกขึ้นมาทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานเองก็ลดลงตามไปด้วย ถึงแม้ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นจะแทบไม่แตกต่างไปจากเดิมเลยก็ตาม
โดยปกติแล้ว คนเรามักผูกติดอาการ Burnout นี้เข้ากับ “ความเหนื่อยล้า” และ “ยุ่ง” อยู่บ่อยครั้ง หากเรานึกภาพคนที่กำลังมีอาการ Burnout อยู่ล่ะก็ คนส่วนใหญ่ก็อาจจะนึกภาพถึงคนที่กำลังง่วนทำงานหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย จมอยู่แต่ในกองงานกองประชุม เป็นคนประเภท “Work ไร้ Balance” ที่ไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวแยกออกจากชีวิตการทำงานได้
แต่ในความจริงนั้น อาการ Burnout นั้นอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องกำเนิดจากความเหนื่อยล้า หรือ ความยุ่ง เสมอไป
เนื่องจากในการวิจัยของ Jesus Montero-Marin นักวิจัยอาวุโสที่ University of Oxford และ ​​Javier Garcia Campayo ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์แห่ง University of Zaragoza ที่ตีพิมพ์ลงใน BMC Public Health นั้นพบว่า อาการ Burnout ของคนแต่ละคนนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป
โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานของแต่ละคน ตลอดจนทรัพยากรส่วนตัว ระดับการอุทิศตัวให้กับงาน ตลอดไปจนถึงทัศนคติต่อการเผชิญปัญหา ซึ่งภายในการวิจัยนี้ก็ได้จำแนกประเภทของการ หมดไฟนี้ออกมาได้ 3 ประเภทด้วยกัน วิธีที่พวกเราแต่ละคน จะสามารถเอาชนะมันได้อย่างไร
1. หมดไฟเพราะ “งานโหลด” (Overload Burnout)
ภาวะแบบ Overload Burnout จะเกิดขึ้นด้วยความที่ว่าเราทำงานหนักและรู้สึกเร่งรีบขึ้นเป็นอย่างมากเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งมักจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัวของเรา โดยภาวะหมดไฟประเภทนี้คือประเภทของการ Burnout ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินมากที่สุด
อาการ Overload Burnout นั้น มักส่งผลกระทบต่อพนักงานที่มีความทุ่มเทต่องานและความรับผิดชอบของตัวเองอย่างมาก มากเสียจนถึงแม้ว่าพวกเขาจะบ่นว่าเหนื่อยล้ากับงานเพียงใด สุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจก้มหน้าทำงาน ทำงาน และทำงานต่อไปจนกว่าจะงานนั้นจะสำเร็จลุล่วง ส่งผลให้พวกเขาขับรถไปถึงจุดอ่อนล้าทางร่างกายและจิตใจ จนเกิดภาวะหมดไฟในที่สุด
2
สำหรับทางออกและวิธีการเอาชนะอาการ Overload Burnout นั้น Jesús Montero-Marín และ Javier García-Campayo ได้บอกเอาไว้ว่า คนที่มีอาการหมดไฟประเภทนี้ควรที่จะปรับทัศนคติและชุดความคิดของตัวเอง ว่าการทำงานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต โลกนี้ยังมีความสุขอย่างอื่นอีกมากนอกจากการทำงาน ซึ่งถ้าหากเกิดอาการรู้สึกผิดเวลาที่ตัวเองไม่ได้ทำงานแล้วล่ะก็ ให้คิดเสียว่าการพักผ่อนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟู เพื่อที่เราจะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งนั่นเอง
สัญญาณว่าคุณกำลังมีอาการ Overload Burnout
เรามองข้ามความต้องการของตัวเองหรือชีวิตส่วนตัวเพื่อเติมเต็มความต้องการในการทำงาน
ทุกการตัดสินใจของเรานั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่เสมอ
เรายอมทำร้ายตัวเองเพื่อบรรลุเป้าหมายในหน้าที่การงาน
1
2. หมดไฟเพราะ “หมดความท้าทาย” (Under-Challenged Burnout)
ภาวะหมดไฟประเภทนี้อาจจะสร้างความประหลาดใจสำหรับใครหลายคน เนื่องจากว่าภาวะหมดไฟส่วนใหญ่มันเกิดจากการทำงานมากเกินไป แต่สำหรับ Under-Challenged Burnout นั้น มีต้นกำเนิดมาจากการทำงานที่ “น้อยเกินไป” เปรียบเสมือนกับขั้วตรงข้ามของ Overload Burnout เลยก็ว่าได้
Under-Challenged Burnout นั้นเกิดขึ้นจากการที่เรารู้สึกเบื่อและไม่รู้สึกตื่นเต้นกับงานของตัวเอง ซึ่งทำให้ขาดแรงจูงใจ รู้สึกว่าตัวเองถูกประเมินค่าต่ำ รู้สึกว่างานของตัวเองนั้น “ง่ายเกินไป” มีความซ้ำซาก จำเจ ไร้ความท้าทาย จนสูญเสียความหลงใหล สูญเสีย Passion ในตัวจนกลายเป็นคนที่ขมขื่นและเป็นทุกข์
สำหรับทางออกและวิธีการเอาชนะภาวะ Under-Challenged Burnout นั้นอาจจะดูเป็นเรื่องยากเมื่อเราหมดกำลังใจในการทำงาน ลองพยายามตั้งเป้าหมายในการทำงานใหม่ๆ ดู พยายามมองหาทักษะใหม่ที่สามารถเรียนรู้ได้เป็นสิ่งกระตุ้นแรงจูงใจของตัวเอง ถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานของเราโดยตรง แต่ความสนุกนั้นมันอาจจะมามีส่วนทำให้เรารู้สึกสนุกกับงานของเราอีกครั้งก็เป็นได้ สิ่งสำคัญคือการมองหาสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกสนุกอีกครั้ง
สัญญาณว่าคุณกำลังมีอาการ Under-Challenged Burnout
เราต้องการทำงานและรับมอบหมายงานที่มีความท้าทายมากขึ้น
เรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่เปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาและแสดงความสามารถของเราอย่างเต็มที่
เรารู้สึกว่างานที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันกำลังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในหน้าที่การงานของเรา
3. หมดไฟเพราะ “ถูกละเลย” (Neglect Burnout)
ภาวะหมดไฟประเภทสุดท้ายนั้นมีชื่อว่า Neglect Burnout ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการ “ถูกละเลย” ในที่ทำงาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรือความท้าทายต่างๆ กลับไม่มีใครอยู่ตรงนั้นเพื่อมอบความช่วยเหลือหรือคำแนะนำใดๆ ให้กับเราเลย ทำให้เรารู้สึกยากลำบากในการจะทำงานใดๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งพอสิ่งนี้เกิดขึ้นไปนานๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด ขี้กังวล รวมถึงคิดว่าตัวเองนั้นไร้ความสามารถ
ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิด “ความสิ้นหวัง” ในการทำงาน และไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่มีอิทธิพลใดๆ ในที่ทำงาน สิ่งต่างๆ ไม่เคยเป็นไปดั่งใจหวัง จนผู้ที่มีภาวะ Neglect Burnout นี้ ก็จะเกิดอาการชินชากับการทำงานและเลิกพยายามไปในที่สุด
สิ่งสำคัญในการแก้ไขและเอาชนะอาการ Neglect Burnout นี้การสร้างความมั่นใจและสร้างคุณค่าในตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง ลองกำหนดขอบเขตการทำงานของตัวเองให้แน่ชัดและลงมือทำมันให้สำเร็จ ฝึกพูดคำว่า “ไม่” ให้บ่อยขึ้น หัดปฏิเสธผู้อื่นให้เป็น รวมถึงลองไปพูดคุยกับหัวหน้าของเราดูว่างานที่ทำตอนนี้มันล้นอย่างไรบ้าง เพื่อจัดสรรปริมาณงานใหม่ให้เราได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้คือการลองพยายามหากิจวัตรนอกเวลางานที่เราควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเป็นประจำ การเขียนบันทึกประจำวัน หรือออกไปเดินเล่น กิจวัตรเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เราได้บ้าง ในเวลาที่เรารู้สึกถึงความไม่แน่นอนในที่ทำงาน
สัญญาณว่าคุณกำลังมีอาการ Neglect Burnout
เราเลิกพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์เวลาที่การทำงานไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
เรายอมแพ้ง่ายๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรือความท้าทายในที่ทำงาน
เรารู้สึกท้อแท้เมื่อต้องตื่นเช้าไปทำงานหรือแค่คิดว่าวันพรุ่งนี้ต้องตื่นเช้าไปทำงานก็ท้อแล้ว
ท้ายที่สุดนี้ เนื่องจากผู้คนไม่ได้มีอาการหมดไฟในลักษณะเดียวกันหรือด้วยเหตุผลเดียวกันทั้งหมด การระบุประเภทของการ Burnout ที่เราทุกคนกำลังเผชิญจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจกับต้นตอของสาเหตุในการหมดไฟนี้อย่างแท้จริง และเพื่อที่เราจะได้แก้ไขปัญหา กลับมารักตัวเองให้ได้ ก่อนที่จะกลับมาลุยทำงานที่เรารักอีกครั้ง
ที่มา:
3 Types of Burnout, and How to Overcome Them : Melody Wilding, HBR - https://bit.ly/3U4QZGc
The 3 Types of Burnout Explained : Vanessa Roddenberry, Breyta - https://bit.ly/3xk3Tq6
A newer and broader definition of burnout: Validation of the "Burnout Clinical Subtype Questionnaire : Jesús Montero-Marín, Javier García-Campayo, BMC Public Health - https://bit.ly/3BdBrr6
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worklife
#psychology
#burnout
โฆษณา