17 ก.ย. 2022 เวลา 16:42 • สิ่งแวดล้อม
ปัดฝุ่นกับบทความเก่าในจุลสารเมื่อ 10 กว่าปีก่อน (2554) เมื่อเห็นผลงานเดิม
"แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว"
R.I.P กับพี่พยาบาลที่รู้จักกันกับพยาบาล อีก 5 ท่าน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมืองไครซ์เชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้อาคาร CTV ถล่ม
ผลงานเดิม 10 กว่าปีก่อน พิมพ์สี ถูกน้ำทำให้ตัวหนังสือและภาพเลอะเลือน
เนื้อหาทั้งหมดยาวเฟื้อย 4 หน้ากระดาษ A4 รูป:ตัวหนังสือ 1:1 เสนอเรื่องรอยเลื่อนพิพิธภัณฑ์เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น รอยเลื่อนเถินในประเทศไทย การถล่มแบบ pancake collapse และคำแนะนำของ American Red Cross, Earthquake Country Alliance หลักการ DCH: Drop Cover and Hold on ขณะที่ติดอยู่ในอาคารเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
Doug Copp
คำแนะนำที่ขัดแย้งกัน ถึงข้อดีข้อเสีย (Pro& Con)ระหว่าง DCH กับทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งชีวิต (Triangle of life) ของ Doug Cop
หัวหน้าหน่วยกู้ภัยและจัดการด้านพิบัติภัยของทีมกู้ภัยนานาชาติแห่งสหรัฐอเมริกา
ซึ่งทฤษฎีของ Copp แนะนำให้หลบข้างๆ โต๊ะแทนที่จะหมอบใต้โต๊ะตามคำแนะนำของ DCH ซึ่ง Copp กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองเม็กซิโกปี 1985 ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนที่อยู่ใต้โต๊ะเรียน ถูกอัดแบนจนกระดูกแหลก ว่าพวกเขาอาจรอดชีวิตถ้านอนราบกับพื้นตรงบริเวณทางเดินข้างๆ โต๊ะเรียนของตัวเอง ซึ่งที่ว่างข้างๆ เหล่านี้เรียกว่าสามเหลี่ยมแห่งชีวิต สิ่งของยิ่งใหญ่ ยิ่งแข็งแรง โอกาสถูกทับอัดยิ่งน้อย
ข้อโต้แย้งคำแนะนำของ Copp จากบริบทของประเทศที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ออกกฎหมายควบคุมอาคารต้องมีคุณสมบัติต้านแผ่นดินไหว ซึ่งจะยอมให้มีการไหวโยกจากแรงทางข้างได้ (Lateral load) แต่ต้องไม่พังทลายราบตามแนวดิ่ง (pancake collapse) ซึ่งการพังของอาคารลักษณะนี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก คำแนะนำของ Copp จะทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บจากสิ่งของที่ตกลงมามากกว่า และอาจถูกสิ่งของอัดทับทางด้านข้างได้เช่นกัน จากสามเหลี่ยมแห่งชีวิตจะกลายเป็นสามเหลี่ยมคร่าชีวิตมากกว่า
อาคารต้านแผ่นดินไหว มีเทคนิคก่อสร้างให้อาคารมีความเหนียวได้หลายอย่าง เช่น ใช้ปลอกเหล็กจำนวนมาก ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ (แข็งแรงกว่าเหล็ก 10 เท่า)
ทากาวอีพ็อกซีพันรอบโคนเสา หากเกิดแผ่นดินไหวจะทำให้ปูนไม่กะเทาะหลุดออก นอกจากนี้ยังมีเทคนิคเสริมให้อาคารรับแรงกระทำทางข้าง เช่น กำแพงรับแรงเฉือน โครงแกงแนง (braced frame) โครงสร้าง rigid frame เป็นต้น
ทั้ง 2 ข้อแนะนำ ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 6.6 ริกเตอร์ ที่เมืองบาม (Bam) ประเทศอิหร่าน (Mahdavifar,Izadkhan & Heshmati, JSEE, 2009) ที่ทั้งเมืองถูกทำลายเกือบหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่เป็นอิฐดิบ บางส่วนเป็นไม้ เหล็กเส้นและคอนกรีต พบว่าหลัก DCH จะมีประโยชน์มากถ้าส่วนที่เสียหายไม่เป็นโครงสร้างหลัก มีประโยชน์น้อยถ้าเพดานถล่ม ส่วนหลักสามเหลี่ยมแห่งชีวิตจะมีประโยชน์ปานกลางถ้าเพดานถล่ม มีประโยชน์น้อยมาก ถ้าส่วนที่เสียหายไม่เป็นโครงสร้างหลัก
3 ปี หลังบทความ เกิดแผ่นดินไหว 6.3
ริกเตอร์ ที่อ.พาน จ.เชียงราย
อาคาร 4 ชั้น โรงเรียนพานพิทยาคม
ได้รับความเสียหายมาก แม้จะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 25 กม. ก็ยังได้รับความเสียหายมากต้องรื้อสร้างใหม่เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา