19 ก.ย. 2022 เวลา 06:00 • ธุรกิจ
ทำไมเราควรกล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในที่ทำงาน
เราทุกคนรู้ดีว่าความขัดแย้งกับการทำงานเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงจะรู้ดี เราทุกคนก็ไม่อยากมีความขัดแย้งกับใคร และมักจะเลี่ยงที่จะขัดแย้งอยู่บ่อยๆ โดยอาจจะลืมคิดไปว่าผลเสียที่ตามมาจากการเลี่ยงนั้นอาจจะร้ายแรงกว่าการเผชิญความขัดแย้งตั้งแต่ตอนแรกก็ได้
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากแนะนำให้เราทุกคนเดินหน้าเข้าหาความขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่ซ่อนอยู่ในนั้น ดีกว่าเลี่ยงแล้วปล่อยให้ปัญหายังคงอยู่ต่อไป เพราะ
1.ถ้าไม่ยอมพูดคุยกับอีกฝ่าย เราจะเข้าใจบางอย่างผิดเพราะคิดไปเอง
มนุษย์เรานี่คิดไปเองเก่งมากนะครับ บางทีต้นตอของปัญหามีอยู่นิดเดียว แต่เราดันคิดปรุงแต่งจนรู้สึกไม่ดี โดยที่อีกฝ่ายยังไม่มีโอกาสอธิบายอะไรเลย ซึ่งการคิดเองเออเองแบบนี้ส่งผลให้คนทำงานทะเลาะกันมานักต่อนักแล้วครับ
ถ้าไม่อยากเข้าใจกันผิดจนเลยเถิดเป็นเรื่องใหญ่ ลองเปลี่ยนมาเปิดอกคุยกัน เพราะต่อให้เราเดาใจอีกฝ่ายยังไงก็คงเดาไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมว่าเสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาเดาใจไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ดีกว่าครับ
2.ถ้าเอาแต่เก็บความไม่พอใจไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมจะแย่ลง
แน่นอนว่าคนเราคงปกปิดความรู้สึกใดๆ ได้ไม่ตลอด ดังนั้น พอถึงคราวต้องทำงานร่วมกัน อีกฝ่ายคงสัมผัสได้ว่าเราซ่อนบางอย่างอยู่ใจเลยมีทีท่าเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย อยู่ที่ว่าเขาจะเอ่ยปากถามเราว่าเป็นอะไรหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ประเด็นคือถ้าอีกฝ่ายไม่ได้สงสัยถึงขนาดที่อยากถามเราก่อน เราคงต้องเก็บความไม่พอใจไว้เป็นเวลานาน ดังนั้น แทนที่จะยอมให้ความสัมพันธ์ค่อยๆ ถูกทำลาย ลองหาเวลามาเรียบเรียงสิ่งที่อีกฝ่ายทำให้ไม่พอใจ แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผลดีกว่า
3.ถ้าไม่กล้ายกปัญหาขึ้นมาพูด ปัญหาเล็กๆ จะสะสมเป็นปัญหาใหญ่
สมมติว่าเรามีเพื่อนร่วมงานคนนึงซึ่งมักพูดแทรกในที่ประชุมตลอด ช่วงแรกเราอาจจะรู้สึกไม่พอใจแล้วเก็บไว้ แต่ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องประชุมกับเขาหลายวันต่อสัปดาห์ หรือเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นปี จากเดิมที่เราแค่หงุดหงิดอาจพัฒนาไปเป็นความรำคาญ ความโมโห หรือถึงขั้นไม่อยากร่วมงานกันเลยทีเดียว
เพื่อป้องกันไม่ให้ถึงขั้นนั้น ลองหาโอกาสฟีดแบ็กเขาอย่างใจเย็น ด้วยคำพูดที่ถูกกลั่นกรองมาแล้วว่าคงไม่ทำร้ายจิตใจใคร และอย่าเอาอารมณ์ไม่พอใจของเราไปพ่นใส่ เพราะการทำแบบนี้มีแต่จะทำให้อะไรๆ แย่ลง
4. เราควรฝึกแยกแยะให้เป็นว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้ากับปัญหา และเมื่อไหร่ที่ปล่อยวางบ้างก็ได้
บางอย่างที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาอาจจะเป็นเรื่องเล็กมากในสายตาคนอื่น เพราะฉะนั้น หากไม่พอใจอะไรขึ้นมา ลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นว่ามองเรื่องนั้นยังไงบ้าง เราจะได้มีมุมมองอย่างเป็นกลางและปล่อยวางมากขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วพบว่าเรื่องไหนเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ ให้ลิสต์ออกมาว่าในปัญหาใหญ่มีปัญหาย่อยอะไรอยู่บ้าง เพื่อจะได้หาทางแก้ไปทีละส่วน
5. ถ้าแก้ Conflict ใดๆ ได้ เราจะมีประสบการณ์และความมั่นใจในการแก้ปัญหาที่ใหญ่และยากขึ้น
เราควรฝึกทักษะการแก้ปัญหาและการรับมือกับ Conflict ไว้ ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำงานทั่วไปหรืออยู่ในฐานะหัวหน้าก็ตาม เพราะปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ อยู่ที่เราจัดการมันยังไงเท่านั้นเอง
สมมติเรามองปัญหาเป็นเกม เราสามารถฝึกสกิลการแก้ปัญหาจากด่านง่ายๆ ก่อน พอเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น เราจะแก้ปัญหาในด่านยากๆ ได้เก่งขึ้นด้วย การรับมือกับ Conflict ก็เช่นเดียวกัน อย่าเพิ่งมองมันในแง่ร้าย เพราะผมเชื่อว่าทุกความขัดแย้งจะล้วนสอนอะไรเราได้บางอย่างทุกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก Hired, Higheredjobs, Huffpost

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา