19 ก.ย. 2022 เวลา 03:54 • ปรัชญา
การฝึกการอบรมจิตอบรมใจนี้ เป็นความสำคัญของบุคคลทั่วไป ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่เลือกเพศหญิงเพศชาย ไม่เลือกนักบวชหรือฆราวาส ทุกคนที่ปรารถนาในธรรมแล้วก็ล้วนแต่ต้องให้ความสำคัญในการประพฤติปฏิบัติอบรมจิตอบรมใจของตนเองทั้งสิ้น ถ้าหากตนเองให้ความสำคัญในการอบรมจิตอบรมใจแล้ว การอบรมจิตอบรมใจอันนี้แล ที่จะสร้างความสมบูรณ์ในธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นภายในจิตในใจของเรา
เองได้อย่างแท้จริง การที่ธรรมทั้งหลายจะมีความสมบูรณ์ในจิตในใจของเราได้นั้นก็ต้องอาศัยศีลเป็นพื้นฐาน อาศัยสมาธิเป็นเครื่องปกปักรักษาคุ้มครอง อาศัยปัญญาเป็นเครื่องกรุยทาง เป็นเครื่องชำระปัดกวาดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่าง ๆ ทั้งหลายให้หลุดออกไป
พวกเราท่านทั้งหลายจะเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงอยู่ในพรหมวิหาร 4 คือ มีความเมตตา ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความกรุณา คือสงสารในความทุกข์ยากลำบากของสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีความสามารถที่จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ เราก็
ยินดีพอใจช่วยเหลือและรีบช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากลำบากนั้นเสีย เมื่อเขาพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย มีความสุขมีความเจริญก้าวหน้า เราก็มีมุทิตา คือ พลอยยินดีต่อสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น แต่ถ้าเราทุ่มเทลงไปในธรรมทั้ง 3 ประการเบื้องต้นแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถพ้นจากกองทุกข์ได้ ยังจมอยู่ในกองทุกข์ทั้งหลาย เราก็ต้องวางอุเบกขาขึ้นมาเป็นเกราะคุ้มครองปกปักรักษาจิตใจของเรา เพื่อไม่ให้เราตกลงไปในกองทุกข์ตามสัตว์โลกที่ตกอยู่ในกองทุกข์ต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
คำว่าศีลที่เรากล่าวสมาทานนั้น เป็นเพียงแค่ศาสนพิธี เป็นพิธีกรรมที่บูรพาจารย์แต่เก่าก่อนท่านมีความฉลาดที่จะยกขึ้นมาเป็นกุศโลบาย ชักจูงผู้คนให้เข้ามาสู่การรักษาศีลนั่นเอง
แต่ศีลที่แท้จริงนั้นล้วนแต่อยู่ที่พวกเรา ซึ่งเกิดขึ้นมาในสภาพของปุถุชนคนมีกิเลส ความมีกิเลสของพวกเรานั่นแล ที่จะเป็นตัวผลักดันการกระทำในการพูดจาไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อเราปล่อยปละละเลยให้กายวาจาของพวกเราเป็นเครื่องมือของกิเลสแล้ว กิเลสนั้นย่อมนำเอากายวาจาไปเป็นเครื่องมือในการสร้างทุกข์ขึ้น
มาต่อตนเองและต่อสังคมโลกอย่างไม่มีประมาณ
เพราะความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงกิเลสให้มีกำลังวังชามากขึ้นนั่นเอง แล้วกิเลสที่มีกำลังวังชามากขึ้น มันจะมาทำลายผู้ใดเล่า มันก็ทำลายตัวของเรานั่นเองแหละเป็นเบื้องต้นเสียก่อน จากการทำลายตัวของตัวเองแล้วมันก็ล้นขอบล้นเขต สาดกระจายไปทำลายผู้อื่นอีกอย่างไม่มีประมาณ
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
การปฏิบัติที่จะได้ผลเจริญก้าวหน้าในเส้นทางแห่งธรรมในเส้นทางแห่งการประพฤติปฏิบัติได้นั้น เราต้องหนักแน่นมั่นคงในวิธีปฏิบัติของพวกเรา สร้างความเชื่อมั่นลงไปในวิธีที่เราปฏิบัติ เช่นว่า เราใช้บทบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ มาเป็นข้อ
บริกรรมจิตอบรมจิตอบรมใจของเรา เมื่อเราบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ เราจะมีความรู้สึกชัดเจนในความรู้สึกของเรา แล้วก็สะดวกคล่องแคล่วในการบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ แสดงว่าการใช้คำว่า พุทโธ นี้ ถูกจริตนิสัยของเราแล้ว ให้เราตั้งความเชื่อมั่นลงไปในคำบริกรรมว่า พุทโธ และก็ทุ่มเทลงไปด้วยความมีสติระมัดระวัง รักษา
จิตให้อยู่กับคำบริกรรมว่า พุทโธ เราจะนั่งภาวนาอยู่ก็ตาม เราจะเดินจงกรมอยู่ก็ตาม สำคัญต้องมีสติกำกับจิตให้แนบสนิทอยู่กับงานนั้น คือการบริกรรมว่า พุทโธ
ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ถ้าเรามีสติกำกับจิตให้อยู่กับบทบริกรรมนั้นแล้ว เราเรียกว่า
ความเพียรทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบทนั่ง ที่เราเรียกว่านั่งภาวนา หรือเราจะอยู่ในอิริยาบทเดิน ที่เราเรียกกันว่าเดินจงกรม หรือเราจะยืนอยู่ก็ตาม เราก็กำหนดจิตของเราให้อยู่กับบทบริกรรมได้ เช่น เรายืนอยู่หรือนอนอยู่ เราก็กำหนดจิตของเราและบริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ แทนที่เราจะปล่อยจิตให้เร่ร่อนออกไปกับความ
นึกคิดปรุงแต่งอดีตอนาคตต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งมันเสียเวลาและไม่เป็นประโยชน์แก่นสารสาระอะไรต่อเราเลย เราก็พยายามระมัดระวังรักษาจิตของเราเองให้อยู่กับบทธรรมนั้นด้วยความมีสติด้วยความระมัดระวัง นับวันจิตใจของเราก็จะค่อย ๆ ละเอียดเข้าไป มีความหนักแน่นมั่นคงเกิดขึ้นมาอยู่ภายในจิตในใจ จนต่อไปเมื่อเราหมั่นทำบ่อย ๆ เข้า จิตจะมีความละเอียดเข้าไป จนถึงที่สุดแล้ว สักวันหนึ่งไม่เนิ่นช้า จิตของเราก็จะรวมเข้าสู่ความสงบได้อย่างแท้จริง
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
โฆษณา