20 ก.ย. 2022 เวลา 06:52 • สุขภาพ
โลหิตจาง (Anemia)
ภาวะโลหิตจาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง
เมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดงหรือกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติขึ้น
อาการของภาวะโลหิตจาง
อาการที่พบส่วนมาก ได้แก่ รู้สึกเหนื่อยง่าย แม้จะเป็นการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน มีอาการตัวซีด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หายใจลำบากขณะออกแรง มึนงง วิงเวียนศีรษะ ปวดท้องน้อย ปวดหัว
นอกจากนี้อาจมีอาการมือเท้าเย็น ผิวซีดหรือผิวเหลือง เล็บเปราะ ไม่อยากอาหาร เจ็บหน้าอก ใจสั่น ในขั้นรุนแรงอาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนหัวใจล้มเหลว
สาเหตุหลักของโลหิตจาง
1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง จากการขาดสารอาหาร หรือขาดฮอร์โมนและปัจจัยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ภาวะไตวายเรื้อรัง ความผิดปกติที่ไขกระดูก หรือโรคเรื้อรังที่ขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น โรคข้ออักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
2. การเสียเลือด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดออกจากร่างกายทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดแบบฉับพลัน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร การแท้งบุตร การตกเลือด ฯลฯ หรือเป็นการ เสียเลือดแบบเรื้อรัง เช่น การเสียเลือดจากการมีประจำเดือน การเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดการเสียเลือดอย่างโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งการสูญเสียเลือดแบบเรื้อรังนี้ยังก่อให้เกิดอาการขาดธาตุเหล็กได้
3. การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จําเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยทั่วไปในภาวะโลหิตจาง
หรืออาจเกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนในเลือดที่ผลิตได้จากไต ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางได้
อีกทั้งโรคเรื้อรังหรือการรักษาโรคเรื้อรังบางโรค อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงโดยการทำลายไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก หรือการติดเชื้อในไขกระดูก
นอกจากนี้ ภาวะโลหิตจางสามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรก เนื่องจากการขาดสารอาหารประเภทธาตุเหล็กและกรดโฟลิก รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเลือด
โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการซักประวัติเบื้องต้น ประวัติครอบครัวและการรักษาทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุและการตรวจทางห้องปฏิบัติที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจระดับธาตุเหล็กในเลือดและร่างกาย การตรวจหาเลือดปนในอุจจาระ การตรวจไขกระดูก เป็นต้น
การรักษาภาวะโลหิตจาง
การรักษาภาวะโลหิตจางขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของโลหิตจาง สาเหตุการเกิด ระดับความรุนแรง ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ การเพิ่มความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนในร่างกายได้มากขึ้น
โดยการรักษาจะประกอบไปด้วย การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก รวมถึงวิตามินซี ที่มีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เครื่องใน อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ไข่ นม เป็นต้น
การรับประทานยาหรือฮอร์โมน เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้น การเปลี่ยนถ่ายเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางรุนแรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับของฮีโมโกลบินให้สูงขึ้น และยังช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูก โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ปกติไปแทนเซลล์ที่มีความผิดปกติ จะช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากขึ้น ส่วนการผ่าตัดจะ สามารถช่วยรักษาการเสียเลือดมากในอวัยวะนั้น ๆ จากโรคเรื้อรังบางชนิดได้
หากไม่มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก นิยมให้ธาตุเหล็กทดแทนโดยการรับประทาน ธาตุเหล็กเม็ด จนความเข้มข้นเลือดหรือระดับฮีโมโกลบินกลับมาเป็นปกติ เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณธาตุเหล็กสะสมเพียงพอ
การป้องกันภาวะโลหิตจาง
• หลีกเลี่ยงการดื่มนม น้ำเต้าหู้ หรือยาลดกรด เนื่องจากจะลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหาก รับประทานร่วมกับน้ำส้ม จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น
• เลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามิน และสารอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู นม ไข่ เลือดหมู ธัญพืช โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทารกและวัยรุ่น
• รับประทานวิตามินเสริมโดยขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร
• ผู้สูงอายุหรือผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรพบแแพทย์เป็นระยะ เพื่อตรวจสอบภาวะโลหิตจางเนื่องจากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนและวิตามินที่ไม่เพียงพอ
• ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นภาวะโลหิตจางควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการส่งผ่านภาวะโลหิตจางทางพันธุกรรม
• ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และอุมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น ปลา เนื้อแดงไร้ไขมัน ไข่ ถั่ว และผักใบเขียว เป็นต้น
• การรับประทานวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ โฟลิค และธาตุเหล็ก เพื่อช่วยรักษาระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การบำบัดภาวะโลหิตจางทำได้โดยการรับประทานอาหารทดแทนธาตุเหล็กเพื่อเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งยังจะช่วยเสริมภูมิต้านทานและบำบัดอาการเหนื่อยอ่อนได้ในคราวเดียวกัน
ผู้ป่วยอาจรับประทานธาตุเหล็กทั้งที่อยู่ในรูปของแคปซูลที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือผักสดใบเขียวต่างๆ ก็ได้ ในที่นี้ได้แก่ ตำลึง ผักโขม มะเขือเทศ ลูกเกด ข้าวกล้อง
แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอีกอย่างหนึ่งคือตับ ซึ่งมีทั้งโปรตีน ฟอสฟอรัส ทองแดง และวิตามินสูง แต่ข้อเสียคือมีคอเลสเตอรอลสูงด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานตับมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
ธาตุทองแดงจะช่วยในเรื่องการเสริมสร้างกระดูก และยังช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ทางอ้อม เพราะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ง่ายขึ้น โดยอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุทองแดงคือตับ ข้าวกล้อง ถั่วอัลมอนด์ อาหารทะเล และผักใบเขียว
ถ้าคุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดกดถูกใจ กดดาว หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา
ขอบคุณค่ะ
โฆษณา