20 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจโลก” ปีหน้าเสี่ยงถดถอยมากขึ้น…เมื่อธนาคารกลางต่างพากันขึ้นดอกเบี้ย
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อมาควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นไปมากกว่านี้
แต่มันอาจกลับกลายเป็นเหมือนดาบสองคมที่กลับมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภคในรูปของ “เศรษฐกิจถดถอย” หรือ Recession คำสั้นๆ ที่ทำให้หลายคนหวาดกลัว
📌 ทำไม World Bank มองว่ามีโอกาสเกิด Recession เพิ่มขึ้น ในปี 2023
เมื่อดูจากข้อมูลทุกครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีต มักจะมีปัจจัย หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนก่อนล่วงหน้าที่คล้ายกัน
เศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 1970 มักจะเกิดขึ้นตามหลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอในช่วงปีก่อนหน้า
เศรษฐกิจถดถอยในอดีต มักเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่แต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว หรือถดถอย เกิดการบรรจบกันของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดวิกฤติการเงิน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างรุนแรง, และการเปลี่ยนแปลงอุปทานอย่างฉับพลัน
ทีนี้หลังจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกก็ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทางด้านอุปทาน อีกทั้งยังเกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนกลายเป็นแรงกดดันให้ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
📌 แม้ขึ้นดอกเบี้ย ก็ไม่อาจเพียงพอให้เงินเฟ้อกลับไปยังจุดเดิม
แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางในหลายประเทศจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันทั่วโลกที่สอดคล้องกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 5 ทศวรรษ จากรายงานล่าสุดของทาง World Bank ก็ชี้ว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเช่นนี้ จะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปีหน้า
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะผลักดอกเบี้ยขึ้นไปถึงเกือบ 4% ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2% จากค่าเฉลี่ยปี 2021
เว้นแต่ว่าปัญหาทางด้านซัพพลายและแรงกดดันในตลาดแรงงานจะเบาบางลงไป อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก (ไม่รวมราคาพลังงาน) จะอยู่ที่ราวๆ 5%
ในปี 2023 ซึ่งก็ยังถือว่าสูงเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับตัวเลขเฉลี่ย 5 ปี ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งทาง World Bank คาดว่าหากต้องการให้เงินเฟ้อกลับไปสู่ที่ระดับเป้าหมาย
ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2% แต่นั่นอาจแลกมาด้วยแรงกดดันในตลาดการเงิน, GDP ทั่วโลกในปี 2023 อาจเติบโตเพียงแค่ 0.5% หรือ GDP ต่อประชากรหดตัว 0.4% ซึ่งทางเทคนิคเรียกได้ว่าเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (global recession)
📌 แล้วควรทำอย่างไรให้ควบคุมเงินเฟ้อได้ โดยที่เศรษฐกิจโลกไม่ถดถอย?
จากการวิเคราะห์ของ World Bank ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดนั้นเหนือไปกว่าความคาดหมายของตลาด และอาจต้องหยิบใช้อาวุธที่มีอยู่ให้ครบและเกิดประโยชน์สูงสุด
1) ธนาคารกลาง ต้องสื่อสารเรื่องการตัดสินใจเลือกใช้นโยบายต่างๆ อย่างชัดเจนในขณะที่ยังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในการตัดสินใจ จะช่วยให้สามารถควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์และลดระดับความเข้มงวดของนโยบายลงได้
และเนื่องจาก นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ โดยรอบด้วย ดังนั้นประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา จึงควรจะต้องมีการเสริมสร้างกฎระเบียบด้านมหภาคและสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับการปรับนโยบายทางการเงิน
2) ผู้มีอำนาจทางการคลัง จะต้องถอนมาตรการช่วยเหลืออย่างระมัดระวัง และต้องแน่ใจว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายทางการเงิน คาดว่าในปีหน้า ประเทศส่วนมากจะดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวดสูงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ซึ่งอาจทำให้ผลกระทบของนโยบายการเงินต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงขึ้น
ดังนั้นผู้วางนโยบายควรเตรียมแผนงบประมาณในระยะกลาง และออกมาตรการบรรเทาความยากลำบากเพื่อช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางโดยเฉพาะ
3) ผู้วางนโยบายในด้านอื่นๆ ควรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุปทานในด้านต่างๆ ที่ยังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น
  • ตลาดแรงงาน : ควรมีมาตรการที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมกำลังแรงงาน และอำนวยความสะดวกในการจัดสรรหางานใหม่ สำหรับคนที่ต้องการ
  • ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค : เสริมสร้างความร่วมมือกันทั่วโลกในการเพิ่มอุปทานอาหารและพลังงาน หรือผู้วางนโยบายอาจจะเริ่มส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการใช้พลังงานในอนาคตอันใกล้
  • การค้าระดับนานาชาติ : ผู้วางนโยบายควรร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดอุปทาน โดยสนับสนุนระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ป้องกันไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้า และการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของภูมิเศรษฐศาสตร์โลก อันจะส่งผลเสียต่อเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศได้
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา